“เลี้ยงกบ” เป็นอาชีพเสริม แปรรูปสร้างรายได้

คุณเกษร ป้องฉิม อยู่บ้านเลขที่ 65/2 หมู่ที่ 1 ตำบลนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ต้องเจอกับปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งเธอมีอาชีพทำนาเป็นรายได้หลักของครอบครัว ในช่วงที่ไม่ได้ทำนาเช่นนี้ เธอยังมุ่งมั่นหาอาชีพเสริม ด้วยการเลี้ยงกบและเลี้ยงปลาดุก และนำกบที่เลี้ยงมาเพิ่มมูลค่า ด้วยการประกอบอาหารขาย เป็นการสร้างรายได้เป็นอย่างดี

คุณเกษร ป้องฉิม

คุณเกษร เล่าว่า ครอบครัวของเธอทำนามากว่า 20 ปี แต่ระยะหลังๆ ราคาข้าวไม่แน่นอน ทำให้ต้องเริ่มมองหาอาชีพเสริม เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น

“ทำนามานานมาก บางทีรายได้มันไม่เพียงพอ เมื่อประมาณปี’54 ก็เลยลองหากบมาเลี้ยงดู ก็เลยเริ่มเลี้ยง ตอนนั้นไปซื้อที่อื่นมาก่อน 200 ตัว พอมันโต ก็จับมายำทำเป็นกับข้าวขาย ก็คิดว่ามันน่าจะไปได้ ก็เลยอยากเลี้ยงจริงจังเลยทีนี้” คุณเกษร เล่าถึงความเป็นมา

ลูกกบ

จากการซื้อลูกกบตัวเล็กๆ มาเลี้ยงในคราวนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการหารายได้เสริม คุณเกษร บอกว่า ตัดสินใจเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะเลี้ยงกบ จึงได้ไปหาคนที่ขายกบให้กับเธอในทันที

“เราก็ไปเลย ไปหาคนที่เขาขายให้ คือไหนๆ จะทำแล้ว ต้องลองผิดลองถูกดู ก็นานเหมือนกันกว่าจะทำได้ เรียกง่ายๆ ไปบ้านเขานี่ ไม่รู้เขาจะเบื่อไหม ต้องทำให้ได้ เพราะเราต้องเพาะพันธุ์เองให้ได้ ต้องถามให้หมด ดีนะเขาไม่หวงความรู้เลย เขาสอนบอกหมด เราก็เลยทำได้” คุณเกษร กล่าวพร้อมหัวเราะ เมื่อนึกถึงตัวเธอเองในสมัยนั้น

กระชังกบภายในบ่อเลี้ยงปลาดุก

ในขั้นตอนแรก คุณเกษร เล่าว่า เตรียมรองซีเมนต์ ขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร มาวางซ้อนกัน จำนวน 2-3 วง เพื่อให้มีความสูงเล็กน้อย จากนั้นนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาเลี้ยง เธอบอกว่า เลี้ยงในช่วงนี้นานพอสมควรประมาณเกือบ 1 ปี

เมื่อเข้าช่วงฤดูฝน จึงนำมาผสมพันธุ์ตามที่เธอได้เรียนรู้มา โดยดูความพร้อมของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เลี้ยงไว้ว่า มีความพร้อมในการผสมพันธุ์มากน้อยเพียงใด

แม่พันธุ์ที่ขังแยกไว้

การให้กบผสมพันธ์ุนั้น ปล่อยกบให้มีตัวผู้และตัวเมียในอัตราส่วนที่เท่ากัน คือ 5 ต่อ 5 ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน กบจะออกไข่ ซึ่งเตรียมสถานที่ไว้เป็นที่สำหรับเพาะพันธุ์โดยเฉพาะ จากนั้นแยกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กลับสู่รองซีเมนต์เดิมที่เลี้ยงแยกไว้ดังเดิม ไข่ที่ออกมาใช้เวลาประมาณ 1 คืน ลูกกบ (ลูกอ๊อด) จะออกจากไข่

หลังจากที่ลูกกบออกจากไข่ คุณเกษร บอกว่า ปล่อยไว้อย่างนั้นประมาณ 3-5 วัน จึงให้อาหารที่เป็นไข่ต้มหรือไข่ตุ๋นให้ลูกกบกินเช้าและเย็น กินแบบนี้ประมาณ 1 เดือน ในระยะนี้ต้องถ่ายน้ำทุก 3 วัน จนกว่าจะได้ระยะที่หางของลูกกบหายไป

กบภายในกระชัง

เมื่อครบกำหนดก็ย้ายลูกกบลงไปเลี้ยงในกระชัง ขนาด 4 x 4 เมตร สูง 150 เซนติเมตร ที่อยู่ในบ่อดิน พื้นของกระชังจะใช้แผ่นโฟมลองข้างใต้ไว้ เนื่องจากกบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ บางครั้งจะไม่ได้อยู่ในน้ำตลอดเวลา การเตรียมแผ่นโฟมก็เพื่อให้กบได้มีที่สำหรับอยู่บนบก

“พอเราใส่ในกระชังนี่ อาหารก็เปลี่ยนเป็นอาหารเม็ด ที่มีโปรตีน 25 หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ให้กินแบบนี้ไปตลอดเลย ก็เลี้ยงไปประมาณ 3 เดือน ตัวใหญ่ได้ขนาด เดี๋ยวก็ขายได้” คุณเกษร กล่าว

กบที่เลี้ยงไว้ประมาณ 4 เดือน ขนาดพร้อมขาย

ด้านการดูแล คุณเกษร บอกว่า บางครั้งเรื่องโรคก็มีเกิดขึ้นบ้าง เช่น กบจะเป็นโรคตาแดง ตาขาว อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา โดยดูตามอาการว่าเป็นมากหรือน้อย อาการที่เกิดโรคจะเป็นช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว ส่วนสัตว์อื่น เช่น นก งู ก็ขึงตาข่ายไว้

บ่อดินที่ใช้เลี้ยงกบนั้น ภายในบ่อยังมีการเลี้ยงปลาดุกไว้ เมื่ออาหารที่เหลือจากการให้กบ หรือบางครั้งมีกบตายก็สามารถให้เป็นอาหารของปลาดุกได้ ถือว่าเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์เลยทีเดียว

รองซีเมนต์สำหรับขังแยกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

ด้านการผสมพันธุ์ คุณเกษร อธิบายให้ฟังว่า หลังจากที่นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาผสมกันแล้ว ต้องย้ายไปขังแยก โดยตัวผู้ก็อยู่ในรองซีเมนต์ตัวผู้ ตัวเมียก็อยู่ในรองซีเมนต์ตัวเมีย ห้ามนำมาขังรวมกัน

การคัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นั้นดูตัวที่สวย ตัวโตใหญ่มีลักษณะที่ดี หากต้องการให้ลูกกบที่ได้จากการผสมพันธุ์ดี มีคุณภาพ คุณเกษร บอกว่า จำเป็นต้องหาพันธุ์ดีจากฟาร์มอื่นมาผสม เช่น ถ้าใช้แม่พันธุ์จากฟาร์มคุณเกษร ก็จะหาพ่อพันธุ์จากฟาร์มอื่นมาช่วยผสมด้วย

การทำยำกบ

“หากเราเอากบจากคอกเดียวกันมาผสม มันก็เหมือนเอาพี่น้องกันมาผสม มันเป็นเลือดชิด อันนี้มันไม่ดี เพราะลูกออกมาไม่ดีด้วย จะคอเอียง พิกลพิการไปหมด อันนี้ก็หลักการง่ายๆ บางคนที่เลี้ยงใหม่อาจไม่ทันคิด” คุณเกษร อธิบาย

ช่วงที่เหมาะจะผสมพันธุ์กบมากที่สุด โดยคุณเกษรทำมาตลอดคือ ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคม

คุณเกษร เล่าว่า กบที่เจริญเติบโตได้ขนาด ก็สามารถขายได้ทันทีไม่ต้องรอส่งขายที่ไหน เนื่องจากก่อนหน้านั้น ตอนที่เธอเริ่มเลี้ยงใหม่ๆ ก็ทำยำขายเป็นกับข้าวอยู่แล้ว ทำให้ไม่กังวลในเรื่องนี้

“กบที่เลี้ยงโตนี่ ไม่ได้เอาไปขายที่อื่นเลย เราก็ยำขายเอง เพิ่มมูลค่าเราเอง เพราะยำกบขายตามตลาดนัด ที่หลักๆ ก็ร้านน้องสาว เพราะช่วงเย็นจะทำกับข้าวขายกันอยู่แล้ว ทำให้เรามีกำไรมากขึ้น เพราะไม่ต้องไปรับจากที่อื่นมา เราก็มาเลี้ยงเองทำเอง ต้นทุนเราก็ต่ำลง เรียกง่ายๆ กำไรเราก็ได้มากขึ้น” คุณเกษร อธิบาย

คุณเกษร กำลังยำกบให้ลูกค้า

ราคากบที่คุณเกษรขายมีราคาที่แตกต่างกัน กบที่ทำเสร็จเรียบร้อย คือ ตัดหัว ตัดขา เอาไส้ออกจากตัวแล้ว พร้อมนำไปประกอบอาหาร ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 120-125 บาท แต่ถ้าเป็นกบที่ยังไม่ได้ทำ ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ส่วนยำกบที่ทำขายอยู่ที่ตัวละ 30 บาท ซึ่งทางคุณเกษรทำยำให้กับลูกค้าเอง พร้อมกินกับข้าวสวยร้อนๆ ได้ทันที

นอกจากจะเป็นที่ถูกใจของหลายๆ คนแล้ว คุณเกษร เล่าว่า มีลูกค้าจากจังหวัดอื่น มารับซื้อกบถึงที่บ้าน เป็นผลจากการที่เธอไปขายตามตลาดนัด ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ยำกบรสเด็ด

สำหรับท่านที่สนใจหรืออยากเลี้ยง คุณเกษร ให้คำแนะนำว่า “สำหรับคนที่สนใจ ก็อยากให้ดูเรื่องตลาดไว้ก่อน เพราะการเลี้ยงนี่มันไม่ยาก เราเองก็ทำได้ ลองผิดลองถูกมา ยังทำได้ ส่วนการขายนี่คุณต้องแปรรูปให้ได้ เพราะว่าถ้าจะรอขายส่งอย่างเดียวมันจะไม่ได้ ควรหาช่องทางอื่นไว้ด้วย” คุณเกษร กล่าวแนะนำ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันพฤหัสบดี ที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354