ปลากดเหลือง ปลาเฉพาะถิ่น เนื้อนิ่ม เกษตรกรเลี้ยงกระชังขาย ราคาดี

เส้นทางที่ลำน้ำในคลองอู่ตะเภาไหลผ่านจากอำเภอสะเดา เป็นเส้นทางที่พุ่งตรงเข้าไปยังตัวอำเภอหาดใหญ่ออกสู่ทะเล ระยะทางยาวมากพอจะเป็นลำน้ำที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ จนผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแนวคลองอู่ตะเภา มีวิถีที่เรียกได้ว่าอาศัยลำน้ำสายนี้เพื่อดำรงชีพ

คุณจารีต ขุนทอง จับปลานิลที่ถูกนากกัดปลาใกล้ตาย

ปลาชนิดหนึ่งในคลองอู่ตะเภา เรียกได้ว่า เป็นปลาพื้นถิ่นที่พบในคลองอู่ตะเภา ในอดีตพบมาก แต่ปัจจุบันลดจำนวนลงตามสภาพภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ปลากดเหลือง ชาวบ้านนิยมนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะการทอด และนำไปใส่ในแกงเหลือง หรือแกงส้มของภาคใต้ ด้วยคุณสมบัติของเนื้อปลาที่มีไขมันมาก เนื้อนิ่ม หนังปลามีสีเหลือง เป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มปลาหนัง เรียกว่า ปลากด ซึ่งปลากดมีหลายชนิด ผิวหนังที่เป็นสีเหลือง จึงเรียกปลาชนิดนี้ว่า ปลากดเหลือง

เมื่อปลากดเหลืองลดจำนวนลงจากแหล่งน้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยลงไปมาก เหลือเพียงน้อยนิด แนวคิดอนุรักษ์ปลากดเหลืองจึงเริ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสงขลา นำพันธุ์ปลากดเหลืองมาเพาะและขยายพันธุ์ เพื่อขายหรือแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจเลี้ยง ส่วนหนึ่งเพื่อการอนุรักษ์ให้ปลากดเหลืองยังคงมีอยู่ และเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพอีกทาง

ปลากดเหลือง ไซซ์กำลังเหมาะสำหรับทำอาหาร

คุณจารีต ขุนทอง เกษตรกรทำสวนยาง ชาวตำบลพังลา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ติดคลองอู่ตะเภา ยามว่างจากการทำสวนยาง ก็นัดแนะกับเพื่อนลงทุนเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในกระชัง เลี้ยงพอเป็นรายได้เสริมมานานเกือบ 30 ปี การเลี้ยงปลาทับทิมและปลานิล จับขายได้ไม่มากนัก รอบละ 2-3 ตัน มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงหน้ากระชัง และขายในพื้นที่จังหวัดสงขลาเพียงแห่งเดียว

ปัจจุบัน ยังคงเห็นปลานิลและปลาทับทิม เลี้ยงกระชังในลำน้ำอู่ตะเภาตามเดิม แต่ที่คุณจารีต เป็นที่รู้จักกว้างขวางออกไปในหลายจังหวัด ก็เพราะคุณจารีต เริ่มเลี้ยงปลากดเหลืองในกระชังมานานกว่า 10 ปี เริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่ยุคที่ปลากดเหลืองเริ่มลดจำนวนลง กระทั่งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสงขลา เพาะขยายพันธุ์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง และเพื่ออนุรักษ์ปลาพื้นถิ่น

กระชังปลาในคลองอู่ตะเภา

ปัญหาในอดีต คือ ปลากดเหลืองหาพันธุ์มาเพาะยาก แต่ปัจจุบัน พันธุ์ปลากดเหลืองสามารถขอซื้อจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสงขลาได้ แต่ปัญหาที่พบคือ การเลี้ยงปลากดเหลืองให้ผ่านช่วงอนุบาลปลาทำได้ยาก

คุณจารีต บอกว่า ราว 10 ปีก่อน พันธุ์ปลากดเหลืองหายาก แต่การเลี้ยงไม่ว่าจะเลี้ยงในบ่อดินหรือกระชัง อัตราการรอดสูงถึง ร้อยละ 70-80 แต่ปัจจุบัน ปัญหาในการเลี้ยงปลากดเหลืองเปลี่ยนไป ปัญหาการหาพันธุ์เพื่อมาเพาะเลี้ยงไม่ได้ยากอย่างที่คิด สามารถซื้อได้ตามแหล่งเพาะพันธุ์ปลาทั่วไป แต่ปัญหาที่ประสบและแก้ไขได้ยากกว่า คือ การเลี้ยงให้ปลาเจริญเติบโตผ่านช่วงวัยอนุบาลไป

“เมื่อก่อน หาพันธุ์มาเลี้ยงยาก แต่เดี๋ยวนี้ พันธุ์ปลากดเหลืองมีทั่วไป แต่เมื่อนำมาอนุบาลได้ประมาณ 1 เดือน จะเกิดปัญหาปลาตายไม่มีสาเหตุ อัตรารอดเหลือเพียงร้อยละ 30-40 เท่านั้น”

การแก้ปัญหาอัตรารอดของปลากดเหลืองที่ลดน้อยลง คุณจารีต พยายามลองแก้ปัญหาครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่สำเร็จ และประเมินไม่ได้ว่าต้นเหตุของปัญหาอัตรารอดที่ลดน้อยลงคืออะไร จนเกิดความท้อ

การจับปลาขึ้นจากกระชัง

เมื่อถามว่า อัตรารอดที่ลดลง เมื่อผ่านขั้นตอนการอนุบาลไปแล้ว จำนวนปลาที่เหลืออยู่เจริญเติบโตจนสามารถจับขายได้ มีความคุ้มทุนไหม คุณจารีต ตอบว่า คุ้มทุน เพราะตลาดต้องการปลากดเหลืองทุกไซซ์ ยิ่งไซซ์ใหญ่ผู้บริโภคยิ่งชอบ เพราะเนื้อนิ่มและมีไขมันแทรกในเนื้อมาก

ธรรมชาติของปลากดเหลือง เป็นปลาหนังที่อาศัยอยู่ใต้น้ำ กินเนื้อเป็นอาหาร เมื่อนำมาเลี้ยงในกระชัง ก็เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมปลา โดยการให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของโปรตีนไม่ต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ วันละมื้อ ปลากดเหลืองต้องขึ้นมาผิวน้ำเพื่อกินอาหาร และลงไปอยู่ใต้น้ำตามเดิม วิธีการเลี้ยงให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ยกเว้นการกินอาหารเท่านั้น

เพราะอัตราการรอดน้อย ทำให้ปลากดเหลืองหายาก ราคาจึงค่อนข้างแพง

คุณจารีต ขายปลากดเหลืองจากหน้ากระชัง ราคากิโลกรัมละ 180 บาท

ขนาดไซซ์ปลากดเหลืองที่ตลาดต้องการมาก คือ ขนาดน้ำหนัก 300 กรัม ปลากดเหลืองไม่เหมือนปลาชนิดอื่น ยิ่งไซซ์ใหญ่มากเท่าไหร่ ก็ขายได้ ไม่มีคำว่าปลาแก่ เพราะเนื้อปลากดเหลืองจะนิ่มมาก ไม่ว่าปลาจะมีอายุเท่าไหร่

หากพ่อค้าแม่ค้าทราบว่า กระชังไหนมีปลากดเหลือง จะติดต่อมาขอซื้อทันที สามารถจับขายได้ทุกวัน ไม่ต้องรอรอบจับเหมือนปลาชนิดอื่น

การแก้ปัญหาอัตรารอดของปลากดเหลือง เกษตรกรจำนวนหนึ่งยอมลงทุนซื้อปลากดเหลืองที่ไม่ต้องอนุบาลมาเลี้ยง เพื่อข้ามช่วงวัยที่มีปัญหาอัตรารอดน้อย แม้ต้นทุนจะอยู่ที่ตัวละ 7 บาท แต่เมื่อเลี้ยงโตแล้ว ราคาขายของปลากดเหลืองก็ช่วยทำให้ไม่ขาดทุนจากต้นทุนที่ลงทุนไป

ปลากดเหลือง

สำหรับขนาดกระชังปลา ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงจะสร้างขนาดกระชังไม่ใหญ่ มี 2 ขนาด ที่นิยม คือ ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 2 เมตร และขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร ลึก 2 เมตร

เมื่อถามถึงโรคในปลากดเหลืองที่พบ คุณจารีต บอกว่า ตั้งแต่เลี้ยงปลาในกระชังมาเกือบ 30 ปี ยังไม่พบโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาให้สูญเสีย แต่ความสูญเสียที่พบคือ มีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เรียกว่า นาก ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าตามแนวคลองอู่ตะเภา กินปลาเป็นอาหาร มักจะมาลักลอบกัดปลาในกระชัง เมื่อปลาตายก็นำไปกินเป็นอาหาร

เพราะปลากดเหลืองเป็นปลาที่สามารถขายได้ทุกไซซ์ ทำให้มีเกษตรกรหันมาเลี้ยงปลากดเหลืองจำนวนมาก เฉพาะในพื้นที่หมู่ 7 มีเกษตรกรเลี้ยงปลากดเหลืองในกระชังมากถึง 23 ราย และประสบปัญหาเดียวกัน คือ อัตรารอดในช่วงอนุบาลน้อย

แต่ก็ถือว่าเป็นรายได้เสริมที่ทำเงินให้ดีทีเดียว

นอกจากนี้ กระชังปลาของคุณจารีต ยังถือเป็นกระชังต้นแบบที่มีวิธีการเลี้ยงใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด หากสนใจเยี่ยมชมกระชังปลากดเหลืองธรรมชาติ ติดต่อสอบถามเข้ามาก่อนได้ที่ คุณจารีต ขุนทอง โทรศัพท์ (089) 728-6147 ฟาร์มปลากดเหลือง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 ตำบลพังลา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา 

การเลี้ยงปลากดเหลือง

คลองอู่ตะเภา เป็นสายน้ำที่ใหญ่ที่สุดจังหวัดสงขลา มีจุดเริ่มต้นจากชายแดนไทย-มาเลเซีย และไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ความยาวทั้งสิ้น 120 กิโลเมตร

ปัจจุบัน คุณภาพน้ำในคลองอู่ตะเภายังมีความเหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชัง จึงมีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชัง เพื่อแก้ปัญหารายได้ไม่เพียงพอของเกษตรกร

ซึ่งจากการติดตามการเลี้ยงปลากดเหลืองในกระชังของเกษตรกร พบว่า ผู้เลี้ยงปลากดเหลืองในกระชังส่วนใหญมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงปลากดเหลือง ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท ต่อรอบการเลี้ยง ต่อกระชัง ต่อครัวเรือน

สำหรับวิธีเลี้ยง ชาวบ้านจะสร้างกระชังโดยใช้ไม้ไผ่และเหล็กเป็นโครงสร้าง ขนาด 4x4x2 และขนาด 5x5x2 ใช้ตาข่ายความถี่ 2-3 เซนติเมตร ใช้ถัง 200 ลิตร ทำเป็นทุ่นเพื่อให้กระชังลอยได้ตามระดับน้ำ

พันธุ์ลูกปลากดเหลือง ซื้อมาจากแหล่งเพาะพันธุ์ทั้งของหน่วยงานราชการและเอกชนที่มีฟาร์มเพาะเลี้ยงโดยตรง ราคาตัวละ 75 สตางค์ จนถึง 2 บาท ปล่อยลูกปลากระชังละ 800-1,000 ตัว

การปล่อยลูกปลาแต่ละกระชังต้องให้อายุห่างกัน จะทำให้สามารถจับปลาขายได้ตลอดทั้งปี

ช่วงลูกปลาเล็กหรืออนุบาล จะให้อาหารเดียวกันกับที่ใช้เลี้ยงลูกกบ เมื่อปลาเริ่มโตขึ้นจะให้อาหารชนิดเม็ดซึ่งมีอยู่ 3 สูตร ตามการเจริญเติบโตและอายุของปลา

ให้ใส้ไก่สดเป็นอาหารเสริม ใช้เวลาเลี้ยงราว 6-9 เดือน ก็สามารถจับขายได้

ขนาดที่ตลาดต้องการมากที่สุด ตัวละ 800 กรัม – 1 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยชาวบ้านแต่ละรายจะมีรายได้กระชังละ 5-6 หมื่นบาท ต่อรุ่น

นอกจากปลากดเหลืองที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงกันมากแล้ว ยังมีการเลี้ยงปลาทับทิม ปลานิล และปลาสวายควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากระยะในเวลาการเลี้ยงสั้น 3-4 เดือน ถือเป็นรายได้เสริมระหว่างที่รอปลากดเหลืองโต

 

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2562