ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปลานิล เป็นปลาน้ำจืด ที่มีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยในพื้นที่เลี้ยงต้องมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ก็สามารถเลี้ยงได้อย่างไม่มีปัญหา นอกจากน้ำที่สำคัญแล้ว การเลือกหาซื้อลูกพันธุ์ก็ต้องคำนึงด้วยเช่นกัน ถ้าได้ลูกพันธุ์ปลาดีมีคุณภาพมาเลี้ยงควบคู่ไปกับน้ำที่ดี อาหารดี การจัดการดี จะช่วยส่งเสริมให้ปลาเจริญเติบโต เป็นปลาที่มีมาตรฐานสามารถจำหน่ายได้ราคาตามไปด้วย
คุณจรูญ ทนุรัตน์ อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ที่ 1 ตำบลไสหมาก อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ยึดการเลี้ยงปลานิลเป็นอาชีพเสริม โดยนำความรู้มาปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง จนสามารถพัฒนาการเลี้ยงปลานิลให้มีคุณภาพ และที่สำคัญรวมกลุ่มเกษตรกรภายในพื้นที่สร้างกลุ่มเข้มแข็ง สามารถต่อรองในเรื่องของการทำตลาดได้เป็นอย่างดี
คุณจรูญ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะเริ่มมาเลี้ยงปลานิลอย่างเช่นทุกวันนี้ สมัยก่อนในพื้นที่นี้มีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำกันอย่างแพร่หลาย ต่อมามีน้ำเค็มที่ใช้เลี้ยงกุ้งไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ได้ ประมาณปี 2553 จึงได้นำบ่อที่ปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างหลังจากเลิกเลี้ยงกุ้งกุลาดำ มาปรับปรุงเสียใหม่เพื่อทดลองเลี้ยงปลานิลในเวลาต่อมา
“ช่วงนั้นเรามองดูสภาพบ่อแล้ว ก็คิดว่าไม่น่าจะปล่อยทิ้งอย่างไม่มีประโยชน์ จึงได้หาพันธุ์ปลานิลจิตรลดามาทดลองเลี้ยง ผลปรากฏว่าได้ผลดี และที่สำคัญใช้วิธีการเลี้ยงแบบใช้อาหารเม็ด เมื่อถึงเวลาขายก็ยังมีผลกำไร ไม่ขาดทุนอย่างที่คนอื่นๆ มอง พอเพื่อนๆ เกษตรกรในพื้นที่เห็นเราเลี้ยงประสบผลสำเร็จ ทุกคนก็เริ่มมาเลี้ยงปลานิลและรวมกลุ่มกัน ทำให้การเลี้ยงปลานิลประสบผลสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้” คุณจรูญ เล่าถึงที่มา
บ่อที่ใช้เลี้ยงปลานิลเป็นบ่อขนาด 3 ไร่ โดยในช่วงแรกก่อนที่จะนำลูกปลาเข้ามาปล่อยเลี้ยง จะเตรียมบ่อด้วยการไถพรวนก้นบ่อ ใช้จุลินทรีย์เป็นตัวย่อยสลายของเสียภายในก้นบ่อโดยที่ไม่ต้องตักขี้เลนออก
จากนั้นปล่อยน้ำใส่ภายในบ่อให้มีสภาพที่พร้อมสำหรับเลี้ยงปลานิล ในช่วงนี้จะเกิดเป็นสัตว์น้ำเล็กๆ ที่ลูกปลาสามารถกินได้ในช่วง 1 เดือนแรกที่ปล่อยเลี้ยงโดยไม่ต้องให้อาหารเม็ดเลย
นำลูกปลานิลไซซ์ใบมะขามมาปล่อยเลี้ยงในบ่อขนาด 3 ไร่ อยู่ที่ 5,000-7,000 ตัว เมื่อเลี้ยงปลานิลไปได้อายุ 1 เดือน จึงนำกุ้งขาวเข้ามาปล่อยเสริมอีก 100,000 ตัว เพื่อให้การเลี้ยงมีความหลากหลาย สามารถทำรายได้ทั้งจากปลาและกุ้งขาวไปพร้อมๆ กัน
“ช่วง 1 เดือนแรกที่ปล่อยปลาลงไป ก็ยังไม่ต้องให้อาหารอะไร ปล่อยให้กินสัตว์น้ำและพืชเล็กๆ อยู่ในบ่อก่อน จากนั้นก็ค่อยเริ่มเลี้ยงด้วยอาหารเม็ด ช่วงแรกให้กินอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 30 หลังจากเลี้ยงไปได้ 2 เดือน ก็จะเปลี่ยนอาหารเม็ดที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 25 ไปอย่างนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งจับปลาขาย ซึ่งการปล่อยปลาเลี้ยงแต่ละครั้ง เราก็จะคำนวณให้สามารถจับขายได้ตรงช่วงเทศกาลต่างๆ ช่วงนั้นคนค่อนข้างต้องการปลากันมาก ก็จะส่งผลให้ปลาขายได้ราคาดีตามไปด้วย” คุณจรูญ บอก
ในเรื่องของโรคที่จะเกิดขึ้นกับปลาภายในบ่อที่เลี้ยงนั้น หากมีการจัดการที่ดีปล่อยปลาเลี้ยงภายในบ่อให้มีปริมาณที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้ไม่เกิดโรคขึ้นกับปลานิล ซึ่งภายในบ่อเลี้ยงของเขาเองมีการตีน้ำเพื่อเพิ่มอากาศเข้าไปภายในบ่อ ก็จะยิ่งช่วยให้ภายในบ่อมีระบบนิเวศที่ดีส่งผลให้การเกิดโรคในบ่อมีน้อยลง
สำหรับในเรื่องของการทำตลาด คุณจรูญ บอกว่า เมื่อครบกำหนดการเลี้ยงแล้วก่อนที่จะจับปลานิลส่งจำหน่าย ในช่วงแรกจะจับกุ้งขาวภายในบ่อทยอยจำหน่ายให้หมดเสียก่อน ซึ่งกุ้งขาวสามารถจำหน่ายได้ถึงกิโลกรัมละ 140 บาท ส่วนปลานิลที่เลี้ยงระยะเวลาอยู่ที่ 4 เดือน น้ำหนักปลาต่อตัวอยู่ที่ 900 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงสุดอยู่ที่ 63 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาบางช่วงอาจมีขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด
“การเลี้ยงกุ้งขาวและปลานิลรวมกัน ผมว่าระบบนิเวศภายในบ่อค่อนข้างที่จะสมดุลกัน เพราะกุ้งก็จะเก็บของเสียก้นบ่อ ส่วนกุ้งที่ตายปลาก็พอได้กินบ้าง จึงทำให้ระบบนิเวศในบ่อค่อนข้างดี จากที่ผมเลี้ยงทั้งปลานิลและกุ้งพร้อมๆ กัน มันช่วยให้เรามีรายได้ทั้งขายกุ้งและปลานิล อย่างปลานิลแต่ละรอบที่ส่งขายจะจับได้อยู่ที่ 4-5 ตัน รอบการเลี้ยงใน 1 ปี เลี้ยงอยู่ประมาณ 2 รอบ ผมเลี้ยงไว้เป็นอาชีพเสริม ดังนั้น ตั้งแต่ทำมาก็ถือว่าไม่มีความยุ่งยาก เช้ามาเราก็ให้อาหาร ทำตรงนี้เสร็จถึงเวลาก็ไปทำงานประจำ เย็นกลับมาจากทำงานก็มาให้อาหารอีกครั้งหนึ่ง จึงเรียกได้ว่าการเลี้ยงปลาทำเป็นอาชีพเสริมก็ได้ ช่วยให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย” คุณจรูญ บอก
สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงปลานิลเพื่อสร้างรายได้ คุณจรูญ แนะนำว่า ผู้ที่เริ่มเลี้ยงใหม่สิ่งที่ต้องคำนึงก่อนคือการศึกษาข้อมูล โดยเข้าฝึกอบรมและเรียนรู้การเลี้ยงให้มากๆ จากผู้ที่ประสบผลสำเร็จ จากนั้นนำความรู้จากที่ได้มาทดลองเลี้ยงครั้งละน้อยๆ ด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความชำนาญและมีประสบการณ์มากขึ้น ว่าสิ่งที่เรียนรู้มานั้นเมื่อมาลงมือทำแล้วมันสอดคล้องกันมากน้อยเพียงใด เมื่อเกิดผลสำเร็จก็ขยายการเลี้ยงและสร้างกลุ่มผู้เลี้ยงให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้กลุ่มมีความเข้มแข็งช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ปลานิลเป็นอาชีพที่สามารถทำได้อย่างยั่งยืน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณจรูญ ทนุรัตน์ หมายเลขโทรศัพท์ (081) 979-0761
ขอบพระคุณ คุณชอุ่ม สุขช่วย นักวิชาการประมงชำนาญการ สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร