เกษตรกรสุราษฎร์ธานี เลี้ยงปลาหมอในบ่อผ้าใบ ปลาโตดี ได้คุณภาพ ตลาดมีความต้องการ

คุณสัญชัย เพชรคง อยู่บ้านเลขที่ 220 หมู่ที่ 5 ตำบลควนศรี อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำปลาหมอมาเลี้ยงภายในสวนยางพารา โดยใช้วิธีการเลี้ยงให้อยู่ภายในบ่อผ้าใบ ทำให้ไม่ต้องขุดบ่อ สามารถจัดการในเรื่องของน้ำและระบบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ปลาหมอโตดี มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด มีพ่อค้าแม่ค้าจากหลายๆ จังหวัดเข้ามาติดต่อซื้ออยู่เป็นระยะเลยทีเดียว

คุณสัญชัย เพชรคง

จากพ่อค้าอุปกรณ์มือถือ

ผันชีวิตมาทำเกษตร

คุณสัญชัย เล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อนได้มีร้านจำหน่ายอุปกรณ์มือถือ ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาดูแลสวนยางในที่ดินของตนเอง เมื่อราคายางพาราตกต่ำลงเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ต้องมองหาอาชีพเสริมอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ จึงมองว่าในที่ดินของเขาเองมีแหล่งน้ำที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้มีความคิดที่อยากจะเลี้ยงปลาภายในสวนยางพารา โดยใช้วิธีการเลี้ยงภายในบ่อผ้าใบหรือบ่อพลาสติกแทน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและทำงานเพียงคนเดียวได้

อาหารที่ใช้เลี้ยง

“ผมเป็นคนที่ชอบทานปลาหมอ พอเราคิดว่าจะหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ จึงได้นำปลาหมอพันธุ์ชุมพรเข้ามาทดลองเลี้ยง โดยเราจะไม่เน้นเลี้ยงในบ่อดินเหมือนทั่วไป เพราะการทำแต่ละครั้งต้องจับให้หมดทีเดียวยกบ่อ ซึ่งทำให้ตลาดที่มารับซื้อรองรับได้ไม่หมด เราก็เลยมีแนวความคิดที่จะนำมาเลี้ยงภายในบ่อผ้าใบหรือบ่อพลาสติกแทน มาปรับใช้เข้ากับการเลี้ยงให้เหมาะสมกับการเลี้ยงภายในสวนยางพาราของผมเอง”

ซึ่งกว่าการเลี้ยงจะประสบผลสำเร็จเหมือนเช่นทุกวันนี้ คุณสัญชัย บอกว่า มีทั้งหาข้อมูลต่างๆ จากผู้ที่เลี้ยงประสบผลสำเร็จ และผู้เลี้ยงที่เจอปัญหาอุปสรรคต่างๆ มาทดลองเลี้ยงด้วยตนเอง ลองผิดลองถูกอยู่ 2 ปี ปลาหมอทุกตัวที่เลี้ยงก็เริ่มให้ผลผลิตที่ดี เป็นที่ต้องการของตลาดมาจนถึงทุกวันนี้

พื้นที่เลี้ยงปลาหมอที่อยู่ในสวนยางพารา

แม้เลี้ยงในบ่อผ้าใบหรือบ่อพลาสติก

ปลาหมอก็โตได้ดี

เนื่องจากต้องการเลี้ยงโดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่ในเกิดประโยชน์สูงสุด คุณสัญชัย บอกว่า จึงได้นำปลาหมอมาเลี้ยงอยู่ภายในสวนยางพารา โดยใช้พื้นที่ตรงกลางระหว่างแถวต้นยางพาราที่มีความกว้างถึง 8 เมตร มาสร้างบ่อสำหรับเลี้ยงปลาหมอ โดยบ่อจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 6 เมตร จึงทำให้มีพื้นที่ข้างละ 1 เมตร เดินทำงานได้สะดวก ทั้งกรีดยางและดูแลปลาหมอภายในบ่อ

“ช่วงแรกผมก็จะทำเป็นบ่อสี่เหลี่ยม ขนาด 4×6 เมตร แต่มีข้อเสียคือ รับแรงดันน้ำไม่ไหว ต่อมาจึงได้พัฒนาเป็นบ่อทรงกลม ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ขนาด 6 เมตร แทน โดยขนาดความสูงบ่อ อยู่ที่ 1 เมตร ใส่น้ำเลี้ยงปลาอยู่ประมาณ 70-80 เซนติเมตร ก่อนที่จะนำปลาหมอมาปล่อยเลี้ยง ก็จะล้างทำความสะอาดบ่อให้เรียบร้อย เพราะบ่อเป็นผ้าใบขึ้นรูปมาจึงไม่มีปัญหาในเรื่องของการทำความสะอาด เราสามารถจัดการได้ดี พอใส่น้ำเตรียมพร้อมก็นำปลาหมอมาใส่เลี้ยงได้ทันที” คุณสัญชัย บอก

จำนวนปลาหมอที่ใส่เลี้ยงภายในบ่อ จะปล่อยอยู่ที่ 3,000 ตัว ต่อบ่อ โดยในช่วงแรกจะเลี้ยงด้วยอาหารลูกอ๊อดที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 40 เป็นระยะเวลา 7 วัน จากนั้นจึงเปลี่ยนเลี้ยงด้วยอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามความเหมาะสมกับปากของปลาหมอ แต่ยึดโปรตีนให้อยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึงปลาจับจำหน่ายได้

ปลาหมอพันธุ์ชุมพร

ซึ่งระยะเวลาการเลี้ยงปลาหมอจนจับจำหน่ายได้ ใช้เวลาอยู่ที่ 4-5 เดือน จะได้ปลาหมอขนาดไซซ์อยู่ที่ 5-6 ตัว ต่อกิโลกรัม เป็นไซซ์ที่ตลาดมีความต้องการเป็นหลัก

ในเรื่องของโรคที่เกิดขึ้นกับปลาหมอที่เลี้ยงภายในบ่อนั้น คุณสัญชัย บอกว่า ยังไม่พบปัญหาที่ทำให้ปลาเสียหาย เพราะบ่อที่เลี้ยงมีการทำความสะอาดและระบบจัดการที่ดี จึงทำให้ไม่เกิดการสะสมของโรค เมื่อเห็นว่าน้ำภายในบ่อมีสภาพที่ไม่ดี ก็จะถ่ายน้ำเก่าออก และใส่น้ำใหม่เข้าไปทันที จึงทำให้ปลาได้น้ำที่สะอาดอยู่เป็นประจำตลอดการเลี้ยง

จับส่งลูกค้า

เน้นสร้างตลาดเป็นเครือข่าย

ให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม

ในเรื่องของการทำตลาดจำหน่ายปลาหมอ คุณสัญชัย บอกว่า จะมีในเรื่องของการทำตลาดที่เป็นเครือข่าย โดยให้ทุกคนที่อยู่ในชุมชนต้องการมีรายได้ ก็จะมารับปลาหมอจากฟาร์มของคุณสัญชัยไปจำหน่าย โดยมีผลกำไรที่ให้เป็นผลตอบแทนได้อย่างไม่มีใครเสียเปรียบ จึงทำให้ในแต่ละเดือนปลาหมอในฟาร์มของคุณสัญชัยสามารถส่งออกขายได้ 6-7 ตัน ซึ่งมีทั้งพ่อค้าแม่ค้าจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามาติดต่อขอซื้อถึงที่ฟาร์มอีกด้วย

ขนาดไซซ์ใหญ่ 3 ตัว ต่อกิโลกรัม

“การเลี้ยงด้วยระบบนี้ พอเราจับปลาขายหมดแล้ว ล้างบ่อและใส่ปลาใหม่ลงไปเลี้ยงได้เลยทันที โดยที่ไม่ต้องมีการเสียเวลาเตรียมบ่อใหม่ จึงทำให้ปลาหมอที่เลี้ยงมีให้จับขายหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี โดยขายปลีกอยู่หน้าบ่อ กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนราคาขายส่ง จับแบบยกบ่อขาย อยู่ที่กิโลกรัมละ 85 บาท ซึ่งปลาหมอพันธุ์ชุมพรของเราทุกตัวจะเป็นปลาแปลงเพศเป็นตัวเมีย เมื่อจับขายแต่ละครั้งก็จะมีไข่ติดอยู่ที่ท้องด้วย” คุณสัญชัย บอก

น้ำที่ถ่ายออกจากการเลี้ยงปลา รดให้กับต้นยางพาราได้

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงปลาหมอ เป็นงานสร้างเงิน คุณสัญชัย แนะว่า สิ่งแรกที่ต้องมีเสียก่อนที่จะลงมือทำในการเลี้ยงปลาหมอคือ เรื่องของใจรัก โดยในการเลี้ยงต้องให้เวลาและเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ควรเลี้ยงแบบทิ้งขว้าง ผลผลิตที่ได้ก็จะออกมาไม่ดี แต่ถ้าเลี้ยงด้วยใจใส่มีระบบการจัดการที่ดี หาแหล่งอาหารดี ลูกพันธุ์ปลาดี การเลี้ยงก็จะประสบผลสำเร็จ เกิดเป็นรายได้ที่ดีอย่างแน่นอน

ปลาหมอต้มเต้าเจี้ยว มีไข่เต็มท้องน่ารับประทาน

ติดต่อสอบถาม หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการเลี้ยงปลาหมอในบ่อผ้าใบได้ที่ คุณสัญชัย เพชรคง หมายเลขโทรศัพท์ (083) 016-5247