เกษตรกรชัยนาท ใช้กล้วยน้ำว้า เลี้ยงปลาลดต้นทุน

อาชีพประมง” เป็นอาชีพที่จับสัตว์น้ำหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำประมงนั้นสามารถทำได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกอาชีพของคนไทยที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล อาชีพประมงจะมีมากบริเวณภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการทำประมงน้ำเค็ม ส่วนการทำประมงน้ำจืดนั้นจะมีอยู่ทั่วไปตามพื้นที่ที่มีแม่น้ำไหลผ่าน ซึ่งจะพบมากบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายสำคัญของคนไทยที่ไหลผ่านหลายจังหวัดด้วยกัน การทำประมงน้ำจืดส่วนมากที่พบบริเวณริมฝังแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปลาที่เพาะเลี้ยงก็จะเป็นปลาเศรษฐกิจของไทย อย่างเช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลาดุกบิ๊กอุย ฯลฯ

คุณประมวล-คุณพะเยาว์ รุ่งทอง

คุณพะเยาว์ และ คุณประมวล รุ่งทอง สองสามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าชัย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เป็นเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งสองเป็นเกษตรหัวไวใจสู้พร้อมที่จะเปิดรับความรู้ใหม่ๆ กล้าที่จะทดลองและรับแนวทางการส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตร ปัจจุบันทั้งสองมีอาชีพเพาะเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

คุณประมวล (ภรรยา) เล่าให้ฟังว่า เดิมทีตัวเองมีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าในหมู่บ้าน ส่วนคุณพะเยาว์ (สามี) นั้นมีอาชีพเพาะเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ด้วยอาชีพการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังที่สามีทำอยู่นั้น ทุกวันยิ่งทำก็เริ่มแย่ลงๆ มีกำไรน้อย ขาดทุนบ้าง ได้กำไรบ้าง เพราะการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังต้องใช้คนในการดูแลพอสมควร ลำพังจะให้สามีทำและดูแลคนเดียวก็ไม่ไหว ทำให้ตัวเองต้องตัดสินใจเลิกตัดเย็บเสื้อผ้าและหันมาช่วยสามีเพาะเลี้ยงปลาในกระชังเพียงอย่างเดียว

ลักษณะกล้วยให้ปลากดหลวง

คุณประมวล เล่าให้ฟังอีกว่า ตนเองและสามีเริ่มเพาะเลี้ยงปลาในกระชังมาตั้งแต่ปี 2542 เริ่มแรกมีกระชังทั้งหมด 10 กระชัง ปลาที่เพาะเลี้ยงจะมีหลากหลายชนิดด้วยกัน ทั้ง ปลาดุก ปลาสวาย ปลาทับทิม ฯลฯ ใช้เวลาลองผิดลองถูกในเรื่องของวิธีการเพาะเลี้ยงมาหลายรอบกว่าจะประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาในทุกวันนี้

ปัจจุบัน มีกระชังเพาะเลี้ยงปลาเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 29 กระชัง โดยแบ่งออกเป็นปลากด ปลากดคัง ปลากดหลวง ปลาเบญจพรรณ และปลาทับทิม 

“กล้วยน้ำว้า” เลี้ยงปลา

ตัวโต เนื้อหวาน ขายได้ราคา

กล้วยน้ำว้าสุก

สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงปลานั้นจะเป็นอาหารเม็ดทั่วๆ ไป โดยจะให้วันละ 3 เวลา (เช้า กลางวัน เย็น) บวกกับรำข้าวผสมกับกล้วยน้ำว้าสุกบด (เสริมเฉพาะปลานิล ส่วนปลากดหลวงจะหั่นเป็นชิ้นๆ ลักษณะกล้วยบวชชี) วันละ 1 เวลา ซึ่งเลือกในช่วงกลางวันเพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สะดวกที่สุดของผู้เพาะเลี้ยงที่จะมีเวลาเตรียมบดกล้วย ในช่วงเช้า (เช้า, กลางวัน, เย็น ตามความสะดวกของผู้เลี้ยง)

คุณประมวล เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการนำกล้วยน้ำว้ามาเลี้ยงปลานั้น มาจากการเพาะเลี้ยงปลาในช่วงนั้น มีต้นทุนในการผลิตสูงในเรื่องของอาหาร ทำให้ไม่คุ้มต่อผลตอบแทนที่ได้มาในแต่ละครั้ง ทุกฟาร์มเกิดปัญหาเดียวกันหมด ทำให้ตนเองต้องหาหนทางลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของอาหารลง จึงเกิดแนวคิดนำกล้วยมาเลี้ยงปลาขึ้น

อาหารเม็ด

จากแนวคิดที่คิดแบบชาวบ้านทั่วๆ ไปและจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมาและเคยเห็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ใช้กล้วยน้ำว้าบดผสมกับข้าวเลี้ยงเด็ก ก็ยังสามารถทำให้เด็กโตขึ้นมาได้ จึงได้ทดลองนำกล้วยน้ำว้าสุกมาบดผสมกับรำข้าวให้ปลากิน เริ่มแรกจะทดลองกับปลากด ผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ ปลามีขนาดใหญ่ รสชาติของเนื้อหวาน ได้คุณภาพกว่าปลาที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยกล้วย ที่สำคัญลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของอาหาร

หลังจากที่เลี้ยงปลาด้วยกล้วยน้ำว้ามาได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดเสียงตอบกลับมาจากผู้บริโภคว่าปลาในกระชังมีรสหวานและเนื้อแน่น ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น จากนั้นมาก็เริ่มนำกล้วยน้ำว้าสุกมาบดผสมกับรำข้าวผสมให้ปลาไปพร้อมกับอาหารเม็ด

ในช่วงแรกกล้วยน้ำว้าที่ใช้เลี้ยงจะหาซื้อตามตลาด ซื้อครั้งหนึ่งก็ประมาณ 100-200 หวี ราคาช่วงนั้นตกหวีละ 3 บาท ซึ่งเป็นช่วงที่กล้วยราคาถูก ต่อมาระยะหลังๆ กล้วยเริ่มมีราคาสูงขึ้นในบางช่วง ทำให้ต้นทุนของการผลิตในเรื่องของอาหารก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ให้กล้วยน้ำว้าปลากดหลวง

พื้นที่ 4 ไร่ ปลูกกล้วยน้ำว้า 

เลี้ยงปลา ริมแม่น้ำ

ขณะที่ราคากล้วยน้ำว้าเริ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องงดกล้วยที่ใช้เลี้ยงปลาไปในบางครั้ง ประกอบกับช่วงนั้นเองทางสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท มีโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักสวนครัวและปลูกกล้วยน้ำว้า ตนเองจึงสนใจและเข้าร่วมโครงการ เพราะเห็นว่าไม่น่าจะเสียหายอะไร กลับมองว่าเป็นช่องทางที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตในเรื่องของอาหารอีกทางหนึ่ง เพราะนอกจากจะปลูกขายแล้วก็ยังสามารถนำมาเลี้ยงปลาได้อีกด้วย

ให้อาหารเม็ดปลาทับทิม

“เริ่มปลูกกล้วยน้ำว้าในพื้นที่ 4 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของพ่อและแม่ที่ทำสวนผสมผสานไว้จำนวนหนึ่ง ปัจจุบันนี้ภายในสวนพื้นที่ 4 ไร่ มีต้นกล้วยกว่าร้อยต้น สารเคมีหรือปุ๋ยที่ใช้ก็ได้จากการนำปลาที่ตายจากการขนย้ายหรือว่าตายขณะที่เลี้ยงมาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ และนำไปราดในโคนต้นไม้ เป็นปุ๋ยอย่างดีที่ธรรมชาติต้องการ ส่งผลต่อผลผลิตมีขนาดใหญ่และมีจำนวนมากเพียงพอต่อการนำมาเลี้ยงปลาโดยที่ไม่ต้องหาซื้อกล้วยจากท้องตลาด” คุณประมวล กล่าว

อัตราส่วนการปล่อยปลา

หนึ่งเทคนิค ในการเลี้ยง

อัตราส่วนในการปล่อยลูกปลาต่อหนึ่งกระชังต้องขึ้นอยู่กับขนาดของกระชังปลาที่จะเลี้ยง เพราะแต่ละกระชังที่จะเลี้ยงส่วนใหญ่มีขนาดที่ไม่เท่ากัน สำหรับกระชังปลาของคุณประมวล มีความกว้างเท่ากับ 6  เซนติเมตร ยาวเท่ากับ 6 เซนติเมตร ซึ่งสามารถปล่อยลูกปลาได้มากถึง 2,000 กว่าตัว เป็นอัตราส่วนที่ทดลองมาหลายรอบ ผลที่ได้จากการทดลองคือปลาสามารถเจริญเติบโตได้ดี ไม่หนาแน่นเกินไป

ตรวจสอบความเรียบร้อยของกระชังปลา

คุณประมวล กล่าวว่า หนึ่งปีจะทำการเพาะเลี้ยงเพียง 2 รอบเท่านั้น คือช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคมและเดือนพฤษภาคม-กันยายน เพราะด้วยสภาพภูมิอากาศในช่วงนี้จะเหมาะสมและสามารถเพาะเลี้ยงได้ แต่ถ้าทำการเพาะเลี้ยงในช่วงเดือนอื่นๆ อาจจะมีอุปสรรคหลายด้าน โดยเฉพาะเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนที่สภาพภูมิอากาศมีความร้อนสูง อาจจะส่งผลทำให้น้ำในแม่น้ำร้อน ทำให้ปลาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นการไม่เอื้อต่อการเพาะเลี้ยงอาจทำให้ได้รับผลกระทบในการเพาะเลี้ยง บวกกับในหน้าน้ำหลากมีน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีไหลผ่านไปมาทำให้ปลาตายซึ่งเป็นผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ นอกจากการหยุดเพาะเลี้ยงในช่วงเวลานั้น 

ตลาดรับซื้อ

ตลาดรับซื้อหลักๆ จะส่งขายให้กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CP) ซึ่งจะรับซื้อเฉพาะปลาทับทิมเท่านั้น ส่วนปลากดคัง ปลากดหลวง และปลาอื่นๆ จะส่งขายให้กับต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ และตามร้านอาหารทั่วไปที่เป็นลูกค้าเดิม ราคาที่รับซื้อก็เป็นราคาที่เหมาะสม ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน

คุณประมวล กล่าวทิ้งท้าย ทุกวันนี้ทำอาชีพเพาะเลี้ยงปลาก็มีความสุขดี ครอบครัวสามารถอยู่ได้ กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ต้องผ่านอุปสรรคมามาก แต่ก็ไม่เกินความสามารถของคนเราที่จะมุ่งมั่นและพยายามที่จะทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้

ท่านใดมีข้อสงสัย สามารถสอบถามไปได้ที่ บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าชัย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563