กรมประมงเปิดโผ 13 พันธุ์สัตว์น้ำและไม้น้ำปรับปรุงพันธุ์ใหม่

ภาพประกอบ จากอินเตอร์เน็ท

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมประมงต้องการสัตว์น้ำที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ หากผู้ประกอบการรายใดสามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ก็จะสามารถสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี และด้วยเหตุนี้กรมประมงจึงได้นำเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ มาใช้ในการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำและไม้น้ำเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพดี มีลักษณะตามที่ผู้เพาะเลี้ยงต้องการเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการเพาะเลี้ยงและขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย

ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสัตว์น้ำที่ได้มาจากการปรับปรุงพันธุ์ของกรมประมงเป็นที่ต้องการของตลาดและบางชนิดได้กลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนอกจากการปรับปรุงพันธุ์ที่ได้คุณภาพแล้วนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและจำแนกสายพันธุ์สัตว์น้ำและไม้น้ำได้ถูกต้อง กรมประมงได้ให้ความสำคัญในเรื่องการตั้งชื่อพันธุ์สัตว์น้ำและไม้น้ำที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อพันธุ์ของกรมประมงและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การตั้งชื่อพันธุ์พืชใหม่ที่ได้จากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 (ฉบับ พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2548)

ดร.พนม กระจ่างพจน์ สอดศุข ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิจัยของกองฯ ได้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีระดับพันธุกรรมโมเลกุล เทคโนโลยีการคัดเลือกแบบมาตรฐาน การจัดการชุดโครโมโซม การแปลงเพศ ตลอดจนเทคโนโลยีการฉายรังสีแกมม่าร่วมกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้น้ำ เข้ามาช่วยปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำและไม้น้ำให้มีคุณภาพดี และตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องอัตราการเจริญเติบโตและอัตรารอดที่เพิ่มขึ้น การทนต่อความเค็มได้ดี

และลักษณะพันธุ์ที่แปลกใหม่และหลากหลาย เป็นต้น ปัจจุบันสัตว์น้ำและไม้น้ำปรับปรุงพันธุ์ที่มีคุณภาพและลักษณะพันธุ์ที่ดี ซึ่งกรมประมงได้ให้ความเห็นชอบในการตั้งชื่อพันธุ์แล้ว มีดังนี้

  1. “จิตรลดา 3” เป็นพันธุ์ปลานิลที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2550 โดยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ เพื่อให้มีการเจริญเติบโตดี มีอัตรารอดและให้ผลผลิตสูง ประชากรเริ่มต้นจากปลานิลสายพันธุ์ GIFT (Genetic Improvement of Farmed Tilapia) รุ่นที่ 5 ของหน่วยงาน ICLARM ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสายพันธุ์จิตรลดาดั้งเดิมผสมอยู่ด้วย ลักษณะเด่นคือ หัวเล็ก ตัวหนา เนื้อแน่นและมาก หน่วยงานหลักที่ทำการผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำอุตรดิตถ์ บุรีรัมย์ เพชรบุรี และชุมพร
  2. “จิตรลดา 4” เป็นพันธุ์ปลานิลที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2552 โดยวิธีการคัดเลือกแบบดูลักษณะตัวเองที่มีการประเมินจากค่าการผสมพันธุ์ของน้ำหนัก เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ประชากรเริ่มต้นจากปลานิลสายพันธุ์ GIFT รุ่นที่ 9 จาก WorldFish Center ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีสายพันธุ์จิตรลดาดั้งเดิมผสมอยู่ด้วยเช่นกัน ลักษณะเด่น คือ ส่วนหัวเล็ก ลำตัวกว้าง สันหนา หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำปทุมธานี
  3. “เร้ด 1” เป็นพันธุ์ปลานิลแดงที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2550 โดยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ เพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดีทั้งด้านความยาวและน้ำหนัก ประชากรเริ่มต้นจากปลานิลแดงสายพันธุ์ไทย (NIFI strain) หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร
  4. “เร้ด 2” เป็นพันธุ์ปลานิลแดงที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2555 โดยวิธีการคัดเลือกแบบดูลักษณะภายในครอบครัว เพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดีทั้งด้านความยาวและน้ำหนัก ประชากรเริ่มต้นจากปลานิลแดงสายพันธุ์อุตรดิตถ์และรวบรวมจากแหล่งพันธุ์อื่นในจังหวัดใกล้เคียงที่มีรูปร่างลักษณะดี สีสด มีกระจุดด่างดำน้อย หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำอุตรดิตถ์
  5. “ปทุมธานี 1” เป็นพันธุ์ปลานิลแดงที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2552 โดยวิธีการคัดเลือกจากการประเมินจากค่าการผสมพันธุ์ของน้ำหนัก เพื่อให้มีการเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง และสามารถเลี้ยงได้ในน้ำเค็มระดับ 25-30 ส่วนในพัน ประชากรเริ่มต้นจากปลานิลแดง 4 สายพันธุ์ คือ ไทย ไต้หวัน มาเลเซีย และสเตอร์ลิง มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวกว้าง สันหนา สีชมพูอมส้ม หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำปทุมธานี
  6. “ชุมพร 1” เป็นพันธุ์ปลาหมอที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2553 โดยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ เพื่อให้มีการเจริญเติบโตดี และให้ผลผลิตสูง ประชากรเริ่มต้นจากปลาหมอพันธุ์เพาะเลี้ยงของภาคใต้ มีลักษณะเด่น คือ มีขนาดใหญ่และโตเร็ว หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร
  7. “ซิลเวอร์ 1 ซี” เป็นพันธุ์ปลาตะเพียนขาวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2547 โดยวิธีการคัดเลือกแบบดูลักษณะตัวเอง เพื่อให้มีการเจริญเติบโตดี ประชากรเริ่มต้นจากปลาตะเพียนขาวสายพันธุ์แม่น้ำเจ้าพระยา หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำอุตรดิตถ์
  8. “ซิลเวอร์ 2 เค” เป็นพันธุ์ปลาตะเพียนขาวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2550 โดยวิธีคัดเลือกแบบดูลักษณะตัวเอง เพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดี ประชากรเริ่มต้นจากปลาตะเพียนขาวสายพันธุ์แม่น้ำโขง หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์
  9. “คอม 1” เป็นพันธุ์ปลาไนที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2550 โดยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ เพื่อให้มีการเจริญเติบโตดี สัดส่วนปลาเนื้อแล่ดีกว่าสายพันธุ์อื่น มีลักษณะเด่น คือ รูปร่างลำตัวยาว หัวและท้องเล็ก สามารถเลี้ยงแบบพื้นบ้านหรือเศรษฐกิจพอเพียงได้ดี ประชากรเริ่มต้นจากปลาไนสายพันธุ์เวียดนาม หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์
  10. “โรห์ 1” เป็นพันธุ์ปลายี่สกเทศที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2556 โดยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ เพื่อให้มีขนาดและการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น ประชากรเริ่มต้นจากปลายี่สกเทศที่นำเข้าจากประเทศอินเดีย หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำอุตรดิตถ์
  11. “มา 1” เป็นพันธุ์ปลานวลจันทร์เทศที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2557 โดยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ เพื่อให้มีขนาดและอัตราการเจริญเติบโตดีขึ้น ประชากรเริ่มต้นจากปลานวลจันทร์เทศ สายพันธุ์เพาะเลี้ยงของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกรมประมง หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำอุตรดิตถ์
  12. “มาโคร 1” เป็นพันธุ์กุ้งก้ามกรามที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2550 โดยวิธีการคัดเลือกแบบดูลักษณะภายในครอบครัวและแบบหมู่ต่อเนื่องกัน เพื่อให้มีขนาดและการเจริญเติบโตที่ดีกว่าเดิม ประชากรเริ่มต้นจากกุ้งก้ามกรามของฟาร์มเกษตรกรจังหวัดราชบุรี หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี
  13. “อนูเจ็น 1” เป็นพันธุ์ไม้น้ำอนูเบียสที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2552 โดยวิธีการฉายรังสีแกมม่าร่วมกับเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ “พันธุ์กลาย” ที่มีลักษณะของต้น ใบ และรากที่หลากหลาย กล่าวคือ ต้นแคระ ใบเล็ก ใบและรากสีเขียว ด่าง และขาว เป็นต้น หน่วยงานผลิต ณ ปัจจุบัน ได้แก่ กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ จ.ปทุมธานี

เป็นที่ทราบดีว่างานด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำแต่ละชนิดเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย  เพราะแต่ละชนิดจะต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัยไม่ต่ำกว่า 5 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์น้ำได้แสดงออกซึ่งลักษณะพันธุ์ตามที่ต้องการได้อย่างคงที่ยาวนาน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ทีมนักวิจัยของกรมประมงก็พร้อมที่จะมุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์ไม้น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมประมงของไทยสามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมในเวทีการค้าโลกสืบต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ โทร. 0 2904 7604, 0 29047 805 และ 0 2904 7446  โทรสาร 0 2577 5061