สงครามชิงปลาในมหาสมุทร “แปซิฟิก” การ “หาปลา” ที่ไม่ง่าย สู่สภาวะการ “ล่าปลา”

ประชากรปลาในแปซิฟิกกำลังลดลง และประเด็น “จับปลา” อาจกลายเป็นประเด็นพิพาททางทะเลระหว่างประเทศในอนาคตได้? รายงานข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาประมงในแปซิฟิกที่สัมพันธ์กับกระแสการบริโภคปลาเพิ่มขึ้น กำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริโภคปลาระดับโลกอย่างมีนัยยะ

สถานการณ์ที่ผ่านมา เรือประมงญี่ปุ่นมองว่าเรือประมงจีนกำลังเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งในน่านน้ำที่เปิดให้สามารถจับปลาได้ ขณะที่จีนกับเกาหลีเคยมีข้อพิพาทจากเรือประมงในทะเล

ปัจจุบันผู้บริโภคปลาของเอเชียเพิ่มขึ้น เพราะสถานการณ์ที่ชนชั้นกลางขยายตัว ซึ่งกลุ่มนี้มีกำลังซื้อมากขึ้นและสามารถบริโภคปลาชั้นดีได้ทันที เพราะระบบขนส่งโลจิสติกส์ในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพสามารถขนส่งปลาที่เพิ่งจับขึ้นฝั่งมาได้ แพ็คส่งผ่านระยะทางพันกว่ากิโลเมตรได้ในเวลาเพียงวันเดียว อาทิ ในจีนที่ถ้าอยากกินปลาสด เพียงมีเงินก็ได้รับประทานกันง่ายๆเพราะระยะเวลาในการขนส่งปลาสดจากชายฝั่งเข้าไปยังเขตเมือง ที่แม้จะไกลกันระดับ 1,000-2,000 กิโลเมตร แต่ก็สามารถส่งผ่านรถไฟความเร็วสูงเข้ามาได้

ขณะที่ปัจจัยจากธรรมชาติอย่างภาวะโลกร้อนก็เป็นตัวเร่งสถานการณ์ด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ ส่งผลต่อประชากรปลาตามธรรมชาติในน่านน้ำแปซิฟิกที่ลดลง มีการยกกรณีรูปธรรมว่าในญี่ปุ่นเอง เริ่มเห็นสัญญาณนี้แล้วจาก ไซซ์หรือขนาดปลาที่จับได้ตัว “เล็กลง”

ในตลาดปลาสดที่ขึ้นชื่อระดับโลกของญี่ปุ่น “ซึกิจิ” มีรายงานว่า มีการขายปลาไซซ์เล็กให้กับร้านค้าปลีก ทั้งที่โดยขนาดของมันมักจะถูกส่งโรงงานไปทำปลากระป๋องเสียมากกว่า

มีตัวเลขประเมินภาพรวมผลผลิตการประมงในแถบเอเชียจะลดลงไปจนถึง 30% ภายในปี 2050

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า วาระ “ปลา” จะขยายความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับข้อพิพาทและความขัดแย้งได้มากกว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเล

ประชากรปลาในแปซิฟิกเองกลายเป็น“ของมีค่า” ที่ทำให้เกิดข้อสังเกตถึง “ศึกชิงปลา” ในน่านน้ำเอเชีย ที่มีข่าวเรือประมงเสี่ยงเข้าไปรุกในน่านน้ำประเทศอื่น เช่น เมื่อปีก่อนที่เรือเวียดนามถูกจับในน่านน้ำออสเตรเลียขณะกำลังลักลอบจับปลิงทะเล ไปจนถึงจีนกับเกาหลีใต้ก็เพิ่งมีปัญหาประมงน่านน้ำ ที่กลายเป็นประเด็น “การเมือง”

หนึ่งในแนวทางแห่งอนาคตเพื่อป้องกันสถานการณ์พิพาทการล่าปลา คือการใช้การประมงเพาะพันธุ์ฟาร์มปลาหรือ aquafarming เป็นหนึ่งทางเลือก ซึ่งน่าจะช่วยขยายผลผลิตขึ้นมาได้อีก 40% ภายในปี 2025

กระดานนี้ใครคุมเกม….

เอเชียเป็น “ผู้เล่น” ระดับ “ผู้นำ” ของธุรกิจเพาะพันธุ์ฟาร์มปลาโลก โดย “จีน”คือผู้ผลิตรายใหญ่ ตามมาห่างๆ ด้วยอินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และบังกลาเทศ ซึ่งเหล่าประเทศในเอเชียสามารถสร้างผลผลิตได้ราว 65 ล้านตัน (สถิติปี 2014) หรือคิดเป็น 89%ของผลผลิตจากทั้งโลก