เกษตรกรพิษณุโลก เลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง ผลิตปลาคุณภาพส่งลูกค้า พร้อมปรับตัวทำตลาดอยู่เสมอ

คุณนิตยา ทักษิญ ประมงจังหวัดพิษณุโลก ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรที่ประกอบอาชีพทางด้านการประมงภายในจังหวัดพิษณุโลก มีการเลี้ยงปลาอยู่ในบ่อดินและกระชังในแม่น้ำ ซึ่งการเลี้ยงเชิงพาณิชย์จะเน้นเลี้ยงภายในกระชังเป็นหลัก โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ขึ้นทะเบียนทั้งจังหวัด มีอยู่ประมาณ 8,000 กว่าราย โดยประกอบไปด้วยการเลี้ยงสัตว์น้ำที่หลากหลาย ไม่ได้มีแต่เฉพาะการเลี้ยงปลาเพียงอย่างเดียว โดยเกษตรกรเองมีการจัดการในเรื่องของการทำตลาด ด้วยการนำปลามาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าขายเอง จึงทำให้เกิดรายได้หลากหลายที่ไม่เพียงแต่ส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางเท่านั้น

คุณนิตยา ทักษิญ ประมงจังหวัดพิษณุโลก

“ช่วงนี้ปัญหาเรื่องภัยแล้งกำลังเป็นอุปสรรคต้นๆ ทางหน่วยงานของเราเองก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับมือ ด้วยการจับปลาจำหน่ายให้หมดก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูแล้งที่มีปริมาณน้ำน้อย แต่หากเมื่อเกษตรกรมีความต้องการที่จะเลี้ยงต่อในทันที เราก็มีการส่งเสริมให้เลี้ยงปลาในปริมาณที่ไม่หนาแน่นจนเกินไป เพื่อที่สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงจะได้มีปริมาณที่เหมาะสม จึงช่วยให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องหยุดการเลี้ยงและสูญเสียรายได้ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมในเรื่องของการเลี้ยงที่ประหยัดต้นทุน ก็จะยิ่งเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรทำประมงให้เกิดรายได้มากขึ้น แต่สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ เขาก็จะมีการจัดการในรูปแบบของตนเอง พร้อมทั้งเลี้ยงแบบมีคุณภาพ จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดและสร้างรายได้ดี” คุณนิตยา กล่าว

คุณปัธมา เพ็ชรนิล

คุณปัธมา เพ็ชรนิล เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง บริเวณแม่น้ำน่าน อยู่หมู่ที่ 3 ตำบลจอมทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีหลักการเลี้ยงปลาให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน โดยคุณปัธมาจะเน้นสร้างการตลาดจำหน่ายเองที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงทำให้ได้ผลกำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย พร้อมทั้งมีการจัดการกระชังให้มีสุขลักษณะที่ดี ส่งผลให้ปลาที่เลี้ยงมีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของลูกค้า จนบางฤดูกาลมีไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายเลยทีเดียว

คุณปัธมา เล่าว่า ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพทางด้านการประมงเหมือนเช่นทุกวันนี้ ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีหลังจากที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้เข้าสู่การทำงานเป็นพนักงานบริษัทอยู่ในกรุงเทพมหานคร เมื่อการทำงานบริษัทที่มีเรื่องของเวลามากำหนด จึงทำให้รู้สึกอิ่มตัวและเกิดความเบื่อในสายงานนี้ จึงคิดที่อยากจะกลับมาอยู่บ้านเกิดและได้ดูแลคุณพ่อคุณแม่ไปพร้อมๆ กัน เมื่อเข้าสู่ ปี 2548 จึงได้ลาออกจากงานและย้ายกลับมาอยู่จังหวัดพิษณุโลกในเวลาต่อมา

พื้นที่กระชังเลี้ยงปลาทับทิม

“เนื่องจากเราเองมีความรู้ในเรื่องของการเกษตร ช่วงแรกที่กลับมาอยู่บ้าน ก็มองว่าจะทำอาชีพทางการเกษตร โดยมาปลูกทำสวนมะนาว ช่วงแรกผลผลิตขายได้ดีมาก แต่มีบางช่วงราคาก็ตกต่ำ ทำให้คิดว่าไม่น่าจะทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว ต้องมีรายได้จากการทำเกษตรด้านอื่นๆ บ้าง ซึ่งพื้นที่นี้ก็เริ่มมีการเลี้ยงปลาในกระชังกัน ผมก็เริ่มศึกษาและมาทดลองเลี้ยงดูบ้าง ก็สามารถขายได้ พร้อมทั้งมีการจัดการตลาดด้วยการเปิดขายเอง โดยไม่ยึดการส่งขายให้กับพ่อคนกลางเพียงรายเดียว จึงทำให้ร้านที่เราเปิดนอกจากจะขายปลาแล้ว ยังสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ไปขายได้อีกด้วย” คุณปัธมา เล่าถึงความเป็นมาของชีวิต

ซึ่งการเลี้ยงปลาทับทิม จะเน้นเลี้ยงในกระชังที่อยู่ในแม่น้ำ โดยลูกพันธุ์ปลาที่นำเข้ามาเลี้ยงใช้สายพันธุ์ที่ได้จากศูนย์เพาะพันธุ์ของกรมประมง เป็นไซซ์ใบมะขาม ราคาต่อตัวอยู่ที่ 40 สตางค์ นำมาอนุบาลลงในกระชังที่เตรียมไว้ ขนาดกระชัง 4×3 เมตร ความลึก 2 เมตร ปล่อยอนุบาลอยู่ที่ 10,000 ตัว ต่อกระชัง

ลูกปลาที่ผ่านการอนุบาล จะแยกเลี้ยงทำปลาไซซ์ใหญ่

ในช่วงแรกจะเลี้ยงด้วยอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 35 ให้กิน วันละ 1 มื้อ หลังจากลูกปลาอยู่ในกระชังอนุบาลได้อายุ 7 วัน จึงปรับให้กินอาหาร วันละ 2 มื้อ อนุบาลเป็นเวลา 2 เดือนครึ่ง จึงย้ายปลาทับทิมไปเลี้ยงในกระชังสำหรับเลี้ยงผลิตเป็นปลาไซซ์ใหญ่ต่อไป

ปลาทับทิม ที่ผ่านการอนุบาลจนได้อายุและไซซ์ที่กำหนดแล้ว จับมาเลี้ยงต่อในกระชัง ขนาด 3×3 เมตร ในอัตราส่วน 700-800 ตัว ต่อกระชัง ในระยะนี้จะเปลี่ยนการให้อาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนลดลง อยู่ที่ 32 ให้ปลากินอาหาร วันละ 2 มื้อเหมือนเดิม เลี้ยงในระยะนี้อีกประมาณ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน ก็จะได้ปลาทับทิมไซซ์ที่ตลาดต้องการจับจำหน่ายได้ทันที

ปลาทับทิมไซซ์จำหน่ายได้

“ระยะเวลาเลี้ยงปลาทั้งหมดที่ฟาร์มผม จะอยู่ที่ 4 เดือน โดยประมาณ ก็จะได้ปลาขนาดไซซ์อยู่ที่ 500-600 กรัม ต่อตัว ซึ่งตลาดจะเน้นขายให้ลูกค้าซื้อแบบทานได้เรื่อยๆ ราคาไม่แรงจนเกินไป ส่วนลูกค้าที่ต้องการปลาทับทิมไซซ์ใหญ่ขึ้นไป เราก็มีรองรับตลาดลูกค้ากลุ่มนี้ โดยเลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ ยังไม่จับขึ้นมา ส่วนเรื่องของโรคที่จะเกิดขึ้นกับปลากระชัง ช่วงที่ต้องระวังมากที่สุด จะเป็นช่วงที่เข้าสู่หน้าฝนใหม่ๆ จะมีน้ำจากหลายๆ ที่ไหลมาอยู่ในแม่น้ำ ระยะนี้เราก็จะปล่อยเลี้ยงแบบไม่ให้หนาแน่นเกินไป พร้อมลดการให้อาหารน้อยลงสักระยะ ก็จะช่วยให้ปลาผ่านช่วงนี้ไปได้ และมีความแข็งแรงไม่ตาย” คุณปัธมา บอก

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายปลากระชังนั้น คุณปัธมา บอกว่า จะเน้นทำตลาดด้วยตนเอง โดยมีการโพสต์จำหน่ายทางสื่อออนไลน์ต่างๆ เมื่อลูกค้าที่มีความต้องการปลาอยากจะติดต่อขอซื้อ ก็จะมาดูการเลี้ยงถึงที่ฟาร์มและตกลงซื้อขายกัน พร้อมทั้งลูกค้าบอกกันไปปากต่อปาก จึงทำให้ปลาในกระชังที่เลี้ยงจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี บางช่วงปลาทับทิมที่เลี้ยงโตไม่ทันจำหน่ายกันเลยทีเดียว

ปลาทับทิมพร้อมนำไปประกอบอาหาร

โดยราคาปลาทับทิมที่จำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 78 บาท ซึ่งราคาขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด ในแต่ละรอบปีคุณปัธมาจึงต้องจัดการปลาที่เลี้ยงอยู่จำนวนกว่า 20 กระชัง ให้โตและส่งจำหน่ายลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การซื้อขายเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงักจนเสียลูกค้า

“ตั้งแต่ผมมาเลี้ยงปลาเพื่อสร้างรายได้อีกช่องทาง ก็ถือว่าทำรายได้ดีเหมือนกัน แต่ต้องจัดการในเรื่องของการทำตลาดให้ดี อย่างผมเปิดร้านขายเอง และนำผลผลิตอื่นๆ เข้ามาขายด้วย พร้อมทั้งเราต้องมองเรื่องการตลาดให้ออก อย่างช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว แทนที่เราจะขายตัวใหญ่ๆ เราก็ปรับขายตัวให้เล็กลง ก็จะทำให้ราคาปลาต่อตัวไม่สูงมาก ลูกค้าก็สามารถซื้อกินได้ ทำให้ขายได้เรื่อยๆ แม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่ปลาเรายังขายได้ดี” คุณปัธมา บอก

(คนแรกจากขวา) คุณชาติ เพ็ชรอ่อน ประมงอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

สำหรับท่านใดที่สนใจการเลี้ยงปลาทับทิมให้ได้คุณภาพ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปัธมา เพ็ชรนิล หมายเลขโทรศัพท์ 083-955-5781

ขอขอบพระคุณ คุณชาติ เพ็ชรอ่อน ประมงอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร