หนุ่มสุพรรณฯ เพาะพันธุ์ปลากราย เป็นอาชีพเสริม สร้างผลกำไรงาม

ปัจจุบันปลาที่อยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างปลากราย เริ่มมีไม่มาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เพราะเนื้อปลากรายแท้ๆ ที่นำมาประกอบอาหารนั้น เมื่อผ่านการขูดและนำเนื้อมาโขลกด้วยครกหิน จะยิ่งทำให้เนื้อปลากรายมีความเหนียวนุ่ม เมื่อผ่านการแกงหรือทอดมันจะได้รสสัมผัสที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์ทีเดียว เมื่อความต้องการของเนื้อปลากรายมีเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติกลับมาน้อยลง จึงทำให้เป็นโอกาสของเกษตรกรหลายๆ ราย หันมาเลี้ยงปลากรายลดต้นทุนเป็นอาชีพทำเงิน สร้างผลกำไรจากการเลี้ยงได้อยู่เป็นระยะ

คุณวิทยา สาเพิ่มทรัพย์

ซึ่งการจะเลี้ยงปลากรายให้ได้ปลาที่มีเนื้อคุณภาพนั้น ด้านแรกของการเตรียมลูกพันธุ์ปลามาเลี้ยงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงทำให้มีเกษตรกรบางส่วนเพาะพันธุ์ลูกปลากราย ส่งจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็นปลาเนื้อ จึงเกิดเป็นระบบเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากรายสร้างเป็นปลาเนื้อได้ซื้อแหล่งลูกพันธุ์ปลากรายที่มีคุณภาพ คุณวิทยา สาเพิ่มทรัพย์ อยู่บ้านเลขที่ 163 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเกษตรกรที่ชื่นชอบปลากรายมาตั้งแต่เด็ก จนทำให้สัตว์น้ำจืดชนิดนี้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจ ที่อยากทดลองเพาะพันธุ์ด้วยสองมือของเขาเอง จนทำให้เขามีโอกาสและเพาะพันธุ์ปลากรายสร้างเป็นอาชีพเสริม ทำรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

ไข่ปลากรายที่วางติดกับแผ่นไม้

คุณวิทยา เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีตนเองมีอาชีพทำงานเกี่ยวกับเครื่องกลอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ต่อมา ปี 2543 มีเหตุต้องย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จึงยึดการเพาะพันธุ์ปลากรายเพื่อเป็นอาชีพเสริมในขณะนั้น ด้วยการศึกษาการเพาะพันธุ์และหาข้อมูลความรู้ต่างๆ จากสำนักงานประมงในพื้นที่ และนำองค์ความรู้ที่ได้มาทดลองด้วยตนเอง จึงทำให้มีการพัฒนาทักษะต่างๆ มากขึ้น และทำเป็นอีกหนึ่งงานที่สร้างรายได้ให้กับเขาตั้งแต่นั้นมา

“พอดีแม่ของภรรยาเสียชีวิต ก็เลยได้ย้ายมาอยู่ที่สุพรรณฯ ซึ่งเราเป็นคนที่ชอบปลากรายอยู่แล้วสมัยยังเด็ก ช่วงนั้นก็เลยลองเพาะพันธุ์ดู ก็ทดลองเพาะกับธรรมชาติก่อน คือใช้บ่อใช้คลองแบบธรรมชาติ เพราะช่วงนั้นเราไม่มีที่ ต่อมาเมื่ออะไรเข้าที่เข้าทางก็ขยับขยาย มาทำบ่อของตัวเอง ปรากฏว่าปลากรายที่เพาะพันธุ์ทั้งหมดมันขายได้ เราก็เลยเริ่มมาทำบ่อเพาะอย่างจริงจัง” คุณวิทยา บอก

ลูกปลากรายไซซ์ตุ้ม

ช่วงที่ปลากรายวางไข่เพื่อการขยายพันธุ์จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม-ตุลาคม ซึ่งการผสมพันธุ์ปลากรายให้ลูกปลามีความแข็งแรง คุณวิทยา บอกว่า ต้องหาสายพันธุ์จากแหล่งอื่นมาผสมด้วย ลูกปลาจึงจะมีความแข็งแรง เมื่อได้พ่อแม่พันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกมาดีแล้ว จะนำมาใส่เลี้ยงในบ่อดินที่มีขนาด 1-2 ไร่ ความลึกอยู่ที่ 120-170 เซนติเมตร โดยให้พื้นบ่อมีตื้นลึกสลับกันไป

“ปลากราย ที่สามารถวางไข่ได้ต้องมีอายุอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ประมาณต้นเดือนมีนาคม ปลากรายก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วงวางไข่ ซึ่งช่วงนั้นจะนำแผ่นไม้ที่มีความยาว 80-90 เซนติเมตร ใช้ประมาณ 100 แผ่น ปักลงภายในพื้นบ่อ หมั่นลงไปเช็คทุก 5 วัน ว่าปลามาวางไข่ติดไว้ที่แผ่นไม้ไหม ถ้ามีก็เอาแผ่นไม้นั้นขึ้นมาฟักไข่ต่อ แต่ถ้าไม่มีก็ปักลงไปเหมือนเดิม” คุณวิทยา บอก

ปลากรายไซซ์นิ้ว

อาหารสำหรับใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากราย คุณวิทยา บอกว่า ใช้อาหารเม็ดที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 40 โดยให้สลับกับเหยื่อสด วันละ 1 ครั้ง เนื่องจากปลากรายไม่ได้ส่งจำหน่ายเป็นปลาเนื้อ แต่เลี้ยงเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ ดังนั้น จะไม่เน้นให้ปลามีลักษณะที่อ้วนมากเกินไป

เมื่อเช็คแผ่นไม้ทุก 5 วัน มีไข่ที่ปลากรายมาวางติดไว้ จากนั้นจะนำแผ่นไม้มาใส่ลงในบ่อปูน ขนาด 1.20×1.50 เมตร ความลึก 80 เซนติเมตร หรือถ้าใครมีภาชนะ เช่น โอ่งใหญ่ ก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยต้องมีเครื่องทำออกซิเจนอยู่ภายในบ่อตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ลูกปลาจะออกจากไข่ ซึ่งระยะนี้ยังไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกปลากรายยังมีถุงไข่แดงติดอยู่ที่หน้าท้องอยู่ได้ประมาณ 3 วัน เรียกปลาขนาดไซซ์นี้ว่า ไซซ์ตุ้ม ก็สามารถจำหน่ายได้

บ่อขนาด 1-2 ไร่ สำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์

คุณวิทยา เล่าถึงอุปสรรคในการเพาะพันธุ์ปลากรายว่า น้ำถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหากได้น้ำที่ไม่สะอาด เมื่อนำมาใส่ลงในบ่อจะทำให้เวลาที่ปลาวางไข่ ไข่ของปลากรายจะเสียและไม่มีความแข็งแรง ส่วนในเรื่องของโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับปลากราย ยังไม่มีปัญหาให้เห็นเพราะปลากรายมีความทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ดังนั้น ในเรื่องของระบบนิเวศภายในบ่อถ้าทำให้มีความสะอาดอยู่เสมอ ในเรื่องของการเกิดโรคต่างๆ กับปลากรายจะไม่มีให้พบเห็น

จากความสำเร็จของการเพาะพันธุ์ปลากรายที่ว่าท้าทายแล้ว คุณวิทยา เล่าให้ฟังอีกว่า เรื่องที่ท้าทายไม่แพ้กันก็คือเรื่องการทำตลาด เพราะช่วงที่เขาเพราะพันธุ์ใหม่ๆ ยังถือว่าเป็นเกษตรกรหน้าใหม่ที่ใครๆ ก็ยังไม่รู้จัก เมื่อเข้ามาสู่วงการนี้จึงต้องปรับตัวกับคู่แข่งค่อนข้างมาก

พ่อแม่พันธุ์ปลากราย

“ช่วงแรกที่เรามีลูกปลาพร้อมขายแล้ว บอกเลยว่าตลาดนี่ยังไม่แน่นอน โดนกดราคาบ้าง อย่างสมมุติตกลงราคากันอยู่ที่ 30 สตางค์ พอเขามาซื้อเราจริงๆ ก็บอกปลาตอนนี้เหลือตัวละ 10 สตางค์ เขาขายไม่ค่อยได้ เราก็เลยต้องจำยอม เพราะตลาดเรายังไม่กว้างพอ พอต่อมาเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงทำให้ลูกค้าที่เชื่อมั่นในคุณภาพของลูกปลาเรา ก็บอกกันไปปากต่อปาก ทำให้ตอนนี้ตลาดกว้างขึ้นสามารถจำหน่ายได้ทั่วประเทศ” คุณวิทยา บอก

โดยราคาจำหน่ายลูกปลากรายไซซ์ตุ้มอยู่ที่ตัวละ 10-80 สตางค์ ซึ่งราคาขึ้นลงได้ตามกลไกตลาด ต่อมาเมื่อลูกค้าต้องการลูกปลากรายไซซ์นิ้ว จึงได้ผลิตเป็นลูกปลาไซซ์นิ้วอีกหนึ่งช่องทางเพื่อรองรับลูกค้า ซึ่งปลากรายไซซ์นิ้วขนาด 4 นิ้ว จำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 4 บาท

สำหรับผู้ที่อยากเลี้ยงปลากรายเพื่อเป็นอาชีพทำเงินนั้น คุณวิทยา ให้คำแนะนำว่า ปัจจัยที่จะทำให้การเลี้ยงปลากรายประสบผลสำเร็จได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญต้องมีทุนที่ดีและหัวใจที่หนักแน่น เพราะการเลี้ยงปลากรายค่อนข้างใช้เวลากว่าปลาจะได้ขนาดไซซ์ที่พร้อมจำหน่ายได้ ซึ่งการทำทุกอย่างขอให้มีใจรัก และก็ชอบทำจริงๆ ความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินความพยายาม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวิทยา สาเพิ่มทรัพย์ หรือที่ลูกค้ารู้จักกันในชื่อ เอ๋ ปลากราย ที่หมายเลขโทรศัพท์ 086-166-7873   

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563