เลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ เอาชนะ โรคกุ้งตายด่วนได้

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เป็นประธานเปิดศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติที่บ่อเลี้ยงกุ้งของนายเดชา บันลือเดช ที่ ต.ไร่เก่า อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ภายหลังจากการทำพิธีเปิดศูนย์แล้ว นายประพัฒน์ กล่าวว่า  ที่ผ่านมาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจากโรคระบาด รวมทั้งปัญหาสถานการณ์อุตสาหกรรมกุ้งมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตมีแนวโน้มลดลงทั้งในด้านมูลค่าการส่งออกและปริมาณกุ้ง ห่วงโซ่อุตสาหกรรมถึงกับประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง สภาเกษตรกรแห่งชาติตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยเฉพาะปัญหาโรคกุ้งตายด่วน EMS (Early Mortality Syndrome) จึงได้มอบให้คณะกรรมการด้านประมงของสภาฯทำการศึกษาและหาแนวทางการแก้ปัญหาโรค  และใช้พื้นที่ของนายเดชา บันลือเดช สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำสามร้อยยอด-ปราณบุรี จำกัด ซึ่งจัดทำเป็นต้นแบบการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งสาธิตของเกษตรกร โดยใช้นวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติจนประสบผลสำเร็จสามารถเลี้ยงกุ้งปลอดจากการระบาดของโรคและเผยแพร่ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้  ทั้งนี้ นายเดชาได้คิดค้นนวัตกรรมวิธีการเลี้ยงกุ้งแบบใหม่เป็นระบบปิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เลียนแบบระบบน้ำขึ้น น้ำลงแบบธรรมชาติ(RAS – aquamimicry) เป็นไปตามมาตรฐาน BAP ของผู้ซื้อ อีกทั้งมีบริษัทลูกกุ้ง อาหารกุ้ง ห้องเย็น ที่ร่วมคลัสเตอร์อยู่ภายใต้มาตรฐาน BAP ของผู้ซื้อด้วยเช่นกัน และสามารถรับมือกับปัญหาโรคกุ้งตายด่วนได้ จึงได้เสนอให้ฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งขึ้นในรูปแบบของคลัสเตอร์ในนามของสภาเกษตรกรฯ โดยมีสหกรณ์ฯเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตและรวบรวม ธกส.และอีกหลายส่วนภาคีร่วมขับเคลื่อนในฐานะคลัสเตอร์โดยมีบริษัท อันดามันซีฟู๊ด จำกัด เป็นผู้รับซื้อ ต่อมา ธกส.เห็นว่าเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรจึงได้สนับสนุนให้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ โดยมีอาคาร วัสดุอุปกรณ์ สื่อนำเสนอ พร้อมรองรับเกษตรกรที่จะเข้ามาศึกษา โดยศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อนำองค์ความรู้ ในการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติสู่เกษตรกร ทั้งในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยให้สามารถกลับมาเลี้ยงกุ้งได้ ซึ่งการฝึกอบรมก่อนลงมือเลี้ยงกุ้งถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย ในการร่วมมือสนับสนุนให้การฟื้นฟูอาชีพเลี้ยงกุ้งด้วยนวัตกรรมระบบเลี้ยงแบบอิงธรรมชาติเป็นไปอย่างยั่งยืน

ด้านนายเดชา บันลือเดช สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ กล่าวว่า วิธีการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาตินั้นเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ใช้งานเทคโนโลยี และชีววิทยาร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นจากการเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อที่จะสร้างสิ่งมีชีวิตให้เกิดขึ้นแล้วเกื้อหนุนการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่วนวิธีการนั้นคือการปรับบ่อเลี้ยงให้ได้ขนาดตั้งแต่ 2-3 ไร่ รูปทรงบ่อให้เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กลางบ่อให้ขุดหลุมกลมพื้นที่ระหว่าง 10-15% ของพื้นที่บ่อ ความลาดชันของบ่อประมาณ 45 องศา ก้นหลุมให้ฝังท่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร 1 ท่อวางซ้อนกัน พื้นบ่อให้ทำแนวลาดเอียงเข้าหาหลุมกลางบ่อ ติดตั้งท่อดูดเลนขนาด 4 นิ้ว กลางหลุมและต่อท่อวางตามพื้นบ่อไปยังบริเวณขอบบ่อที่เป็นที่ตั้งของปั๊มที่จะใช้ดูดเลนจากบ่อเลี้ยงไปยังบ่อพักน้ำ จัดบ่อพักน้ำเท่ากับบ่อเลี้ยงหรือใหญ่กว่าแบ่งเป็น 3 ส่วน ให้น้ำไหลผ่านเข้าหากันได้ กำหนดให้บ่อพักน้ำที่ 1 เป็นบ่อกรองน้ำที่ 1 และใช้ปลาเป็นตัวกรองน้ำ เช่น ปลาทับทิม,ปลานิล,ปลานวลจันทร์  เลน ขี้กุ้ง และเศษอาหารจากบ่อเลี้ยงจะถูกดูดลงบ่อนี้ บ่อพักที่ 2 จะเป็นบ่อกรองน้ำที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ทุกบ่อจะมีปลาที่ทำหน้าที่เป็นตัวกรองธรรมชาติ โดยกำหนดความหนาแน่นของปลาให้เหมาะสม วัดค่า pH ดินพื้นบ่อ 8 -10 จุด ค่าเฉลี่ยที่ได้จะต้องอยู่ระหว่าง 6.8 – 7.0 น้ำเข้าบ่อเลี้ยงความลึกประมาณ 1.5 เมตร จากนั้นนำกากชา รำละเอียด จุลินทรีย์หมักและให้อากาศ เมื่อครบ 48 ชั่วโมง ให้นำไปสาดหน้าใบพัด เพื่อสร้างที่อาศัยให้กับจุลินทรีย์ สร้างสัตว์หน้าดิน สร้างอาหารและเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ให้ต่อเนื่องและพอเพียง เมื่อกระบวนการเตรียมน้ำเสร็จ คุณภาพน้ำจะอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยง เมื่อครบกำหนด 15-20 วันที่ลูกกุ้งได้รับอาหารจากธรรมชาติในบ่อเลี้ยงกุ้งแล้ว ให้เริ่มให้อาหารเม็ดได้ทันที

ซึ่งขณะนี้นวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติของนายเดชากำลังอยู่ในกระบวนการจดทะเบียนสิทธิบัตร สนใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำสามร้อยยอด – ปราณบุรี จำกัด โทร.032-688-789 ,08-6368-7762 หรือนายเดชา บันลือเดช 08-9836-4133