เกษตรกรสุพรรณบุรีเลี้ยงปลากระชังสร้างรายได้ สูตรประสบผลสำเร็จ ต้องเรียนรู้สม่ำเสมอ

สุพรรณบุรีเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการทำเกษตรกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่หรือพืชสวน เรียกได้ว่าผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิด เกิดขึ้นจากการผลิตภายในจังหวัดนี้เช่นกัน เช่น การปลูกข้าว การปลูกอ้อย และพืชผักต่างๆ เนื่องจากจังหวัดสุพรรณบุรีมีแม่น้ำท่าจีนเป็นเหมือนสายน้ำแห่งชีวิตไหลผ่าน จึงทำให้นอกจากนำมาทำการเกษตรแล้ว ยังสามารถเป็นประโยชน์ให้กับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ นั้นคือการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำท่าจีนนำมาเลี้ยงปลาเพื่อสร้างรายได้

คุณนพดล สุขเลิศธรรมกุล

คุณนพดล สุขเลิศธรรมกุล อยู่บ้านเลขที่ 83/3 หมู่ที่ 10 ตำบลนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ยึดการเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำท่าจีนเป็นอาชีพหลักให้กับครอบครัว ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก และสภาพอากาศตามฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาจนชำนาญ ทำให้การเลี้ยงปลากระชังของเขาสามารถทำให้เกิดรายได้ ซึ่งการจะทำให้เป็นอาชีพที่ยืนยาวได้นั้น ต้องมีการปรับตัวในการทำอยู่เสมอ

คุณนพดล เล่าว่า เดิมทีไม่ได้ยึดอาชีพทางด้านการประมง ทำอาชีพเป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับรถบรรทุก ต่อมาได้ล้มเลิกลากิจการนี้ไป จึงได้มองหาอาชีพใหม่นั้นก็คือการเลี้ยงปลาในกระชัง เพราะเห็นเพื่อนบ้านในละแวกนั้นเลี้ยงแล้วประสบผลสำเร็จ จึงทำให้มาทดลองเลี้ยงปลากระชังในเวลาต่อมา โดยปลาที่เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นปลานิลและปลาทับทิม เพราะลูกค้าในย่านนี้นิยมกินปลา 2 ชนิดนี้เป็นหลัก

“ผมมาเริ่มเลี้ยงปลากระชังในช่วงปี 45 ตอนนั้นก็มาลองผิดลองถูกเอง เลี้ยงมาเรื่อยๆ ก็ถือว่าพอไปได้ เมื่อมีการตลาดแน่นอนก็เริ่มขยายการเลี้ยงมาตลอด ซึ่งตอนนี้เลี้ยงปลาอยู่ประมาณ 65 กระชัง มีการวางแผนจับแบบหมุนเวียนให้ได้ตลอดทั้งปี ก็จะช่วยให้เราสามารถมีปลาขายให้กับแม่ค้าได้ครบราย และตลาดก็จะนิ่งลูกค้าไม่หายไปไหน” คุณนภดล บอก

ในขั้นตอนของการเลี้ยงปลากระชังนั้น คุณนพดล บอกว่า จะนำลูกปลาไซซ์ใบมะขามมาปล่อยเลี้ยงอนุบาลลงในกระชังเสียก่อน ขนาดกระชัง 3 x 6 เมตร ใช้สำหรับอนุบาลลูกปลาที่นำมาเลี้ยง โดยอัตราส่วนการเลี้ยงต่อกระชัง อยู่ที่ 15,000-20,000 ตัว ต่อกระชัง อาหารที่ให้ปลาในไซซ์อนุบาลกินนั้น จะเป็นอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 40 ให้ลูกปลากินบ่อยๆ ทุก 2 ชั่วโมงครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน

เมื่อครบกำหนดเวลาอนุบาลแล้วลูกปลาจะมีขนาดไซซ์อยู่ที่ 25 ตัว ต่อกิโลกรัม จากนั้นแยกลูกปลาที่ผ่านการอนุบาลมาเลี้ยงแยกในกระชัง ขนาด 3×6 เมตร อีกครั้งหนึ่ง โดยอัตราส่วนปล่อยต่อกระชังอยู่ที่ 1,000-1,500 ตัว

“พอเราแยกลูกปลามาเลี้ยงในกระชังเพื่อให้โตเต็มที่สำหรับพร้อมจำหน่ายเป็นปลาเนื้อแล้ว ช่วงนี้ใช้เวลาเลี้ยงอยู่ที่ 4 เดือน อาหารที่ให้ปลากินในระยะนี้เปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 32 พอเลี้ยงไปสักระยะปลาเริ่มมีขนาดที่โตขึ้น เปอร์เซ็นต์โปรตีนก็จะให้ลดลงไปอีกอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ อาหารให้กินวันละ 2 มื้อในช่วงเช้าและเย็น ให้กินแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจับปลาขาย รวมแล้วกว่าจะโตจนขายได้ อนุบาล 2 เดือน และเลี้ยงขุนอีก 4 เดือน เป็นเวลาทั้งหมด ก็ 6 เดือนเต็ม” คุณนพดล บอก

สำหรับโรคที่จะเกิดขึ้นกับปลานั้น จะมีช่วงน้ำเหนือหลากไหลมาเป็นระยะในช่วงปลายฝน ในระยะนี้จะป้องกันด้วยการลดอาหารที่ให้ปลากินลงในอัตราครึ่งหนึ่ง เมื่อสภาพน้ำเข้าสู่สภาวะปกติจึงปรับให้อาหารแบบเดิมได้ทันที

ในเรื่องของการทำตลาดจำหน่ายปลาภายในฟาร์มนั้น คุณนพดล บอกว่า จะมีแม่ค้าในพื้นที่เข้ามาติดต่อขอซื้อเป็นหลัก และลูกค้าที่รู้ว่ามีการเลี้ยงปลาจำหน่ายก็จะบอกกันไปปากต่อปาก ส่งผลให้พอมีลูกค้าที่เป็นเจ้าประจำอยู่ ดังนั้น เมื่อมีลูกค้าอยู่ในมือก็จะต้องรักษาไว้ให้ได้นานๆ ด้วยการทำการตลาดแบบต่อเนื่อง คือ มีการวางแผนการผลิตที่ให้มีปลาเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

“ปลาที่เลี้ยงใช้เวลา 5-6 เดือน ขนาดพร้อมจำหน่ายได้ จะอยู่ที่ 1.2 กิโลกรัม ต่อตัว และขนาดเล็กสุดอยู่ที่ 700 กรัม ซึ่งราคาขายปลานิลที่ตกลงกับแม่ค้ารับซื้อไว้ จะเป็นราคาตายตัวที่ขายกันตลอดทั้งปี อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 60 บาท ส่วนปลาทับทิมราคาไม่ตายตัวสามารถขึ้นลงได้ ตกเดือนหนึ่งขายรวมๆ กันก็ได้ 6 ตัน ต่อเดือน ก็ถือว่าตลาดพอไปได้” คุณนพดล บอก

ปัจจัยสำคัญของการเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำให้ประสบผลสำเร็จนั้น คุณนพดล แนะว่า ต้องหมั่นเรียนรู้สิ่งต่างๆ อยู่เสมอ เพราะน้ำในแม่น้ำมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้เลี้ยงต้องหมั่นสังเกตและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ทันท่วงที ก็จะช่วยให้การเลี้ยงปลากระชังเกิดผลกำไรทำเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้

สนใจเรื่องการเลี้ยงปลากระชังติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนพดล สุขเลิศธรรมกุล หมายเลขโทรศัพท์ (062) 353-9224