เกษตรกรหญิงอยุธยา เผยเทคนิคเลี้ยงปลาบ่อรวม ลดต้นทุน เพิ่มรายได้

คุณวรรลี สิงห์ธงยาม เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ข้อมูลว่า ภายในอำเภอแห่งนี้มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนทั้งหมด 300 กว่าราย โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการเลี้ยงปลาทั้ง 2 แบบ คือ เลี้ยงเพื่อยังชีพ และเลี้ยงเพื่อเป็นรายได้เสริมหรือกระทั่งเลี้ยงแบบในเชิงพาณิชย์ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเลี้ยงเป็นปลากินพืช เช่น ปลานิล และที่นิยมเลี้ยงเป็นเชิงพาณิชย์แบบทำรายได้เป็นอาชีพหลักเป็นการเลี้ยงปลาดุกอย่างเดียว นอกจากจะเลี้ยงปลาแล้ว ทางหมู่บ้านยังมีการนำปลามาแปรรูป เช่น ทำเป็นปลารมควัน

“อำเภอนี้เวลาเลี้ยงปลา จะเลี้ยงแบบธรรมชาติ อย่างปลาดุก ต้นทุนสูง จะใช้เวลาเลี้ยง 6 เดือน ถึงจะจับ เพราะถ้าใช้เวลาการจับน้อยกว่า 6 เดือน คุณภาพของปลาจะไม่ได้มาตรฐานตามที่ท้องตลาดต้องการ โดยการขายจะเป็นการขายแบบผูกพัน หมายถึงใครเคยจับกับเจ้าไหนก็จะจับอยู่กับเจ้าเดิม ซึ่งขนาดของปลาจะเรียกโดยใช้สรรพนามแทนคำว่า ตัวเล็ก ตัวใหญ่ โดยมี 3 ขนาด คือ ขนาดปลาเค็ม ขนาดปลาฝอย และขนาดปลาโบ้ โดยชาวบ้านจะรู้กันว่าคือ ขนาดกี่กิโลกรัม อาหารของปลาก็จะมี ทั้งหัวปลาที่เป็นเศษจากการทำปลารมควัน ไส้ไก่ที่เอามาจากโรงงานที่รับมาจากสระบุรี ราคาปลาที่จับปากบ่อปีที่แล้ว อยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท แต่ปีนี้ราคาปลาลดลงเหลือกิโลกรัมละ 30 บาทปลายๆ โดยชาวบ้านแต่ละคนจะมีปลาหลายๆ บ่อ เพื่อรองรับอาหารจากที่รับมาจากโรงงานเวลาที่ปลาขายไม่ออก จะต้องมีเอาไว้รองรับ หากเราไม่ได้ไปรับ ทางโรงงานอาจจะให้เจ้าอื่นได้” คุณวรรลี กล่าว

คุณแสงเดือน บุญมา

คุณแสงเดือน บุญมา อยู่บ้านเลขที่ 137/3 หมู่ที่ 1 ตำบลโรงช้าง อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าให้ฟังว่า ตัวเธอเองได้เลี้ยงปลามาแล้ว 6 ปี ตอนแรกมีบ่อเป็นของตัวเองอยู่ 1 บ่อ หลังจากนั้น จึงเริ่มขยายเพิ่มอีก 1 บ่อ แล้วจึงปลูกต้นไม้หารายได้ประจำวันในครอบครัว เดิมทีก่อนมาทำประมง ได้ประกอบอาชีพรับจ้างอยู่ในโรงงาน หลังจากนั้น จึงได้ลาออกและมาหาอาชีพทางการเกษตรทำบนพื้นที่ว่างของตนเอง คือการเลี้ยงปลาบ่อรวมเพื่อเป็นรายได้เสริม

“ตอนนี้เลี้ยงปลาอยู่ 3 ชนิด ซึ่งแบ่งบ่อเป็น 2 บ่อ อีกฝั่งเป็นบ่อรวมและอีกฝั่งเป็นบ่อแยก บ่อรวมมีปลา 2 ชนิด คือ ปลาสลิดและปลาตะเพียน บ่อแยกคือปลาสวาย ซึ่งปลาสวายเพิ่งทำมาได้ 1 ปี โดยการจับปลาจะเป็นการทยอยจับ โดยปลาสลิดกับปลาตะเพียนจับอยู่ที่ 50 กิโลกรัม ต่อครั้ง ปลาสวายจะจับปีละครั้ง เวลาขายจะเอาไปขายตามหมู่บ้าน บางครั้งแม่ค้าที่ร้านอาหารเขาจะมาสั่งทีละ 10 กิโลกรัม ขนาดปลาตะเพียนขนาดไซซ์น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัม หรือ 800 กรัม ปลาสลิดไซซ์อยู่ที่ 3-4 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม”

ซึ่งคุณแสงเดือน บอกว่า ตนเองไม่ได้ขยายพันธุ์ปลาเอง พอจับปลาหมดแต่ละครั้ง จะเอาพันธุ์ปลามาปล่อยเลี้ยงเป็นรอบๆ ถ้าเป็นปลาสลิดกับปลาตะเพียนจะรับลูกปลาจากชุมแสง บึงบอระเพ็ด พันธุ์ปลามีความแข็งแรง แต่สำหรับปลาสวายมีลูกค้ามาซื้อ พร้อมกับจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาให้อีกด้วย

ราคาลูกปลาสวายซื้อมาเลี้ยงอยู่ที่ตัวละ 1.50 บาท ส่วนปลาสลิดและปลาตะเพียนตัวละ 50 สตางค์ นำมาปล่อยเลี้ยงทันทีโดยไม่ต้องอนุบาล โดยแต่ละรอบจะสั่งทีละพันตัว ถ้าฤดูไหนที่ปลาสมบูรณ์แล้วจึงโทร.ให้ลูกค้ามาจับขึ้นจากบ่อ

บ่อปลา 2 บ่อ

“ขนาดบ่อที่ใช้เลี้ยงปลามีความลึกอยู่ที่ 2 เมตร โดยทางเราไม่เอาปลาขนาดใบมะขามมาปล่อย เพราะมีขนาดตัวที่เล็กเกินไป เพราะถ้าเอามาปล่อยต้องคอยระวัง เรื่องสัตว์ที่จะมากิน ลูกปลาที่เราสั่งมาจะมีขนาดเปอร์เซ็นต์การรอดสูง อย่างตัวเล็กๆ ต้นทุนถูกก็จริง แต่เวลาจับไม่คุ้ม แล้วต้นทุนที่เราต้องมาซื้อตาข่ายกันนกอีก ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว ไม่คุ้มต้นทุนเท่าที่ควร”

อัตราส่วนของการปล่อยลูกปลา ปลาสลิดและปลาตะเพียนปล่อยเลี้ยงอยู่ที่ครั้งละ 5,000 ตัว ส่วนปลาสวายปล่อยครั้งละ 10,000 ตัว

อาหารสำหรับใช้เลี้ยงปลาภายในบ่อนั้น เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดก่อน 1 ในเดือนแรก ซึ่งปลาจะเป็นปลากินพืช จะเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดก่อน เมื่อครบกำหนด 1 เดือน จะเปลี่ยนเป็นผักผสมกับอาหารคลุกเคล้าให้เข้ากัน หลังจากนั้น พอปลาเริ่มแข็งแรงจึงเปลี่ยนมาเป็นถั่วบด ซึ่งถั่วบดได้มาจากเพื่อนบ้านที่เป็นร้านขายถั่วต้ม ก่อนต้มจะต้องคัดถั่วทิ้ง เธอจึงไปเอาส่วนที่คัดออก แล้วนำมาบดเข้ากับหัวปลา โดยอาหารที่ใช้เลี้ยงให้กินวันละ 1 มื้อ คือ ช่วงเช้า บางครั้งเวลาตัดกล้วยในสวนก็จะเอาเครือกล้วยเอาสับรวมกับอาหาร

“ปัญหาเรื่องโรคตอนนี้ยังไม่เจอ เพราะใช้วิธีการเตรียมบ่อก่อนเลี้ยงที่ดี พอวิดน้ำแล้ว ประมาณ 1 อาทิตย์จะใส่ปูนขาวและเกลือโรย ตากบ่อให้แห้ง แล้วก็ฆ่าเชื้อก่อน พอเราจับปลาหมดแล้ว เราจะวิดน้ำออกจากบ่อให้หมด จะยังไม่เลี้ยงต่อ เพราะไม่อย่างนั้นจะเสี่ยงต่อโรค”

อาหารของปลาสลิด ตะเพียน และสวาย

สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายปลาสวาย เมื่อถึงเวลาจับปลาจำหน่ายได้ ทางลูกค้าจะเข้ามาจับปลาให้เอง ซึ่งจะจับเป็นรอบๆ ส่วนปลาสลิดกับปลาตะเพียน จะใช้วิธีทยอยจับจำหน่ายเอง ปลาตะเพียนขายกิโลกรัมละ 50 บาท ปลาสลิดราคาอยู่ที่ 30-40 บาท ต่อกิโลกรัม

“เฉลี่ยแล้วปลาสวายจับ 1 รอบ ปลาสลิดและปลาตะเพียนจะจับเรื่อยๆ จนหมดบ่อ โดยเริ่มจับครั้งแรกหลังเลี้ยงปลาได้ 8 เดือน จับครั้งแรกๆ ปลาจะยังไม่มีขนาดตัวที่ใหญ่ ขนาดไซซ์ปลาอยู่ที่ 6 ตัวโล พอเราทยอยจับไปเรื่อยๆ ปลาก็มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น อยู่ที่ 4 ตัวโล กำไรมันก็จะได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงท้ายๆ ที่ปลาเรามีขนาดที่ใหญ่ขึ้น”

สามีคุณแสงเดือน กำลังทอดแห

ซึ่งคุณแสงเดือน ยังบอกทิ้งท้ายว่า การเลี้ยงปลาให้ประสบผลสำเร็จนั้น น้ำถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เธอจึงต้องมีบ่อน้ำสำรองสำหรับกักเก็บน้ำไว้ รองลงมาเป็นเรื่องของการทำตลาดต้องเลี้ยงปลาให้ตรงกับความต้องการของตลาด ก็จะช่วยให้ปลาที่เลี้ยงภายในบ่อสามารถจำหน่ายได้ราคาดี และสิ่งสุดท้ายคือเรื่องของการทำอาหารปลาลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ก็จะช่วยให้การเลี้ยงปลามีผลกำไรและเป็นรายได้เสริมที่ยั่งยืน ทำรายได้ให้กับครอบครัว

การเลี้ยงปลาของคุณแสงเดือน เป็นรายได้เสริมที่ดี ถึงแม้ไม่ได้ทำในเชิงพาณิชย์ แต่รายได้จากการเลี้ยงปลา พอที่จะเลี้ยงครอบครัว และใช้จ่ายในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ สนใจเรื่องการเลี้ยงปลาบ่อรวมสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณแสงเดือน บุญมา หมายเลขโทรศัพท์ 086-123-7588

ปลาสลิด
ปลาสวาย
ปลาสวายจากการทอดแหภายในบ่อ
ปลาสวายจากการทอดแหภายในบ่อ

………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563