สินค้าสัตว์น้ำไทยส่งเข้า อียู ไหลลื่น กรมประมงออกประกาศคุมเข้ม VMS หลังคู่ค้าข้องใจ

กรมประมง ยอมออกประกาศคุมเข้มการใช้งานระบบ VMS เพื่อติดตามเรือประมงจัดทีมลุย! เช็กสภาพอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ 1-30 มีนาคมนี้ ณ ศูนย์แจ้งเข้า-แจ้งออกเรือประมง (PIPO) ก่อนออกทำการประมง หนุนแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ชี้ที่ผ่านมาระบบมีปัญหามาจากบริษัทเอกชนและกรมประมง 90% ทำให้ อียู คลางแคลงใจสินค้าที่นำเข้า

รายงานข่าวจากกรมประมง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กำหนดให้เรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ที่ออกทำการประมงพาณิชย์ ต้องดำเนินการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) และดูแลรักษาระบบดังกล่าวให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา เพื่อดำเนินการตามมาตรการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวัง ร่วมกับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ประกาศจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2560 นี้ กรมประมงจึงขอให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือ ขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป นำเรือประมงและเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ เร่งเข้าตรวจสอบอุปกรณ์ VMS ภายในระยะเวลาตามที่ประกาศกำหนดไว้ ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะมีความผิดตามกฎหมาย

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมงกล่าวเสริมว่า เพื่อสนับสนุนการดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าว กรมประมงจึงได้ร่วมกับศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จัดทีมเจ้าหน้าที่เพื่อลงปฏิบัติการเร่งรัดการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ VMS ในเรือประมงและเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ณ ศูนย์แจ้งเข้า-แจ้งออกเรือประมง (PIPO) ใน 22 จังหวัดชายทะเล ระหว่างวันที่ 1-30 มีนาคม 2560 โดยจะมีการให้คำแนะนำในการใช้อุปกรณ์ VMS ที่ถูกต้องและสามารถพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา

สำหรับเรือประมงที่ยังอยู่ระหว่างการเดินทาง และไม่สามารถกลับเข้าฝั่งได้ทันตามระยะเวลาปฏิบัติการเร่งรัดที่กำหนด ขอให้แจ้งความประสงค์ในการขอรับการตรวจสอบอุปกรณ์ VMS กับศูนย์ PIPO ไว้ล่วงหน้าก่อน ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์แจ้งเข้า-แจ้งออกเรือประมง (PIPO) ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล

แหล่งข่าววงการประมง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประกาศดำเนินการในเรื่องนี้ของกรมประมง แม้จะช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำ ที่ผ่านมามีปัญหาตลอด หากเรือลำใดมีปัญหาระบบ VMS ดับหลายชั่วโมง เมื่อมีรายงานเรื่องนี้ประกอบเข้ากับตัวสินค้าปลาที่จับได้ ทำให้โรงงานแปรรูปส่งออกปฏิเสธรับซื้อ เพราะสหภาพยุโรป (อียู) คลางแคลงใจในตัวสินค้า ต้องยอมรับว่าปัญหามาจากระบบของบริษัทเอกชนที่ติดตั้งศูนย์ดาวเทียมให้กับกรมประมงมากกว่า 90% ขณะที่ปัญหามาจากชาวประมงปิดระบบหรือถอดสัญญาณไฟไม่ถึง 10%

ส่วนการขอแก้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 นั้น ขณะนี้กำลังรอให้กรมประมงทำการแก้ไขหลังจากผู้บริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้เข้าหารือเรื่องนี้กับ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้แก้ไขภายในปีที่ผ่านมา โดยประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องการให้แก้ไข อาทิ เรื่องการห้ามโอนใบอนุญาตทำการประมง หากผู้ขอตายให้สามารถโอนไปยังผู้จัดการมรดกได้ มิเช่นนั้นเรือดังกล่าวจะกลายเป็นเรือประมงเถื่อนทันที ขอแก้มาตรา 11 เรื่องการปิดโรงงานควรมีขั้นตอนมากกว่านั้น และควรให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจดูเจตนาด้วย หากผิดถึง 3 ครั้ง จึงควรปิดโรงงาน เป็นต้น การขอแก้มาตรา 39 ที่ใช้คำว่า “ผู้ใด” มาเป็น “เรือลำใด” ที่ทำผิดต้องห้ามรับใบอนุญาตทำการประมงแทน เพราะคำว่า “ผู้ใด” อาจครอบครองเรือ 5 ลำ แต่มี 1 ลำ ทำผิดอีก 4 ลำ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

การขอแก้มาตรา 169 เรื่องการยึดเรือประมง เจ้าหน้าที่ตีความกฎหมายไม่เหมือนกัน บางครั้งก็ยึดเรือ บางครั้งก็ไม่ยึดเรือ การใช้กฎหมายที่มีโทษรุนแรงต้องสมเหตุสมผล อาทิ ใบนายท้ายเรือไม่ตรงชั้น ควรลงโทษสถานเบา ขณะที่ลอบจับปลาในฤดูวางไข่ ควรมีโทษหนัก เป็นต้น

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ