เกษตรกรชลบุรี เลี้ยงปลากะพงแบบเข้าใจนิสัย ปลามีคุณภาพ เป็นอาชีพทำเงินมากว่า 2 ทศวรรษ

ปลากะพง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lates calcarifer ชื่อสามัญเรียกว่า Giant Bass เป็นปลาที่อยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ปลาชนิดนี้เลี้ยงกันแพร่หลายในเขตจังหวัดชายทะเลของไทย เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว เนื้อปลามีรสชาติดีและค่อนข้างมีราคา จึงเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ดีที่มีผู้บริโภคทั้งภายในประเทศ ต่างประเทศอีกด้วย

ด้วยคุณสมบัติพิเศษของปลากะพงที่อยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย ทำให้มีผู้ที่สนใจนำไปเลี้ยงแบบปลาตามธรรมชาติที่บ่อบริเวณบ้านมากขึ้น เมื่อปลามีขนาดใหญ่ก็สามารถจับจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้เช่นกัน จึงทำให้ปลากะพงในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเลี้ยงในน้ำเค็มเพียงอย่างเดียว ยังสามารถเลี้ยงในน้ำจืดได้เช่นกัน จึงทำให้เกษตรกรในภาคกลางนำมาเลี้ยงสร้างรายได้มากขึ้น

คุณสุทธิ มะหะเลา

คุณสุทธิ มะหะเลา อยู่บ้านเลขที่ 66 หมู่ที่ 3 ตำบลบางนาง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงปลากะพงมาแล้ว 20 ปี ในช่วงระยะเวลาเหล่านั้นเขาเจอทั้งอุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน แต่จากปัญหาและอุปสรรคที่ประสบพบเจอ จึงทำให้เขาเป็นเกษตรกรตัวยงในเรื่องการเลี้ยงปลากะพงเลยทีเดียว การเลี้ยงปลากะพงจึงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เขาได้เป็นอย่างดี

คุณสุทธิ เล่าว่า เมื่อจบการศึกษาปี 2536 ได้มาประกอบธุรกิจเป็นพ่อค้าอาหารกุ้ง จากนั้นต่อมาจึงเริ่มทำการทดลองเลี้ยงกุ้งและปลากะพง ในช่วงแรกที่เลี้ยงปลากะพงจะเน้นให้อาหารแบบเหยื่อสด และเมื่อเหยื่อที่ใช้เลี้ยงเป็นอาหารสดเริ่มมีจำนวนลดลง จึงได้ปรับเปลี่ยนการเลี้ยงมาฝึกให้กินอาหารเม็ดแทน จึงทำให้การเลี้ยงปลากะพงมีความสะดวกมากขึ้น

ลูกปลากะพง

“ช่วงนั้นเรายังไม่ได้ศึกษาอะไรมากเรื่องเลี้ยงปลากะพง พอดีมันเริ่มจะมีการเลี้ยงแบบอาหารเม็ดเข้ามา เราก็เลยเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบอาหารเม็ดเลย ช่วงนั้นปลากินอาหารเม็ดไม่เก่ง เรียกว่าไม่ค่อยกินเลยดีกว่า ปลาที่ได้ก็แค่ 10 เปอร์เซ็นต์เองของผลผลิตทั้งหมด เอาง่ายๆ ทุนหายกำไรหดเจ๊งสนิท” คุณสุทธิ เล่าถึงความเป็นมา

เมื่อความสำเร็จที่ได้รับไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ คุณสุทธิ บอกว่า ยังไม่ลดละความตั้งใจที่จะเลี้ยงปลากะพง เขาให้เหตุผลว่าปลากะพงเป็นปลาที่เขาชอบและอยากเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก จึงได้ศึกษาทดลองมาเรื่อยๆ จนประสบผลสำเร็จ โดยนำความผิดพลาดทั้งหมดที่ผ่านมา ทำการวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ทำแล้วไม่ประสบผลสำเร็จนั้นเกิดจากอะไร

บ่อสำหรับฝึกให้กินอาหารเม็ด

“ประมาณปี 45 ผมได้ไปประเทศเวียดนาม ก็ได้เห็นคนเวียดนามเขาทำอาหารปลาสวาย เขามีแง่คิดว่าทำอาหารให้ปลากิน ไม่ได้ทำให้คนดม เพราะคนบ้านเราชอบดมอาหารที่หอมๆ แต่คุณค่าอาหารดีหรือเปล่าไม่รู้ ที่นั้นเขาศึกษากันอย่างจริงจัง เราก็เลยเอาข้อคิดจากเขาตรงนั้นมาวิเคราะห์ ว่าเราจะไปคิดเองไม่ได้ว่าปลาต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราก็เลยกลับมาเรียนรู้นิสัยปลากะพง ใช้เวลาอยู่นาน ว่าเราต้องทำยังไงให้มันกินอาหารเม็ดให้เป็น เรียนรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับปลากะพงเลย สุดท้ายปี 49 มันก็ประสบผลสำเร็จสมกับที่เราศึกษาอย่างจริงจัง” คุณสุทธิ บอก

คุณสุทธิ เล่าให้ฟังว่า ชีวิตเป็นพ่อค้าที่มีระบบในเรื่องการจัดการ ดังนั้น การเลี้ยงปลากะพงของเขาต้องไม่มีขั้นตอนอะไรที่ยุ่งยาก เพราะสมัยก่อนที่เริ่มเลี้ยงใหม่ๆ จะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปหาซื้อเหยื่อสดมาบดให้ปลากิน แต่เมื่อได้ทำการทดลองเลี้ยงให้กินอาหารเม็ดได้แล้ว ก็จะจัดการเลี้ยงไปในรูปแบบให้อาหารเม็ดแทนทั้งหมดตั้งแต่นั้นมา

จับปลากะพงส่งจำหน่าย

“คนทั่วไปมองว่าปลากะพงไม่น่าจะเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดได้ ควรเลี้ยงด้วยเหยื่อสด แต่ผมมองว่าไม่น่าจะเป็นไปไม่ได้ มันต้องมีวิธีที่ทำให้ปลากินอาหารเม็ดเป็น สมัยก่อนยอมรับเลยว่าเหยื่อสดนี่ถูกมาก กิโลละไม่กี่บาท แต่เราคิดว่าเราต้องจัดการให้ดีกว่านี้ ไม่อยากเหนื่อยต้องตื่นตี 3 เพื่อไปหาซื้อเหยื่อ แล้วนำเอามาบดให้ปลากินไปมาแบบนี้ ก็เลยมองว่ากุ้งยังกินอาหารเม็ดได้ ทำไมปลากะพงจะทำไม่ได้ เราก็เลยมารู้สาเหตุว่า ปลามันไม่ได้ถูกฝึกให้กินเหยื่อเม็ดนี่เอง” คุณสุทธิ บอก

ในขั้นตอนแรกเตรียมบ่อเลี้ยงปลากะพงให้มีขนาดประมาณ 3-5 ไร่ เป็นขนาดที่เหมาะสม แต่ถ้าหากใครมีพื้นที่มากกว่านี้ ก็สามารถเลี้ยงได้ถึงขนาด 10 ไร่ จากนั้นนำปูนขาวมาโรยที่ก้นบ่อเพื่อฆ่าเชื้อ ทำการดักตาข่ายกันไว้สำหรับปล่อยลูกปลากะพงตัวเล็กลงไปในบ่อเสียก่อน

จับปลากะพง

“เราก็เตรียมใส่น้ำ โดยเอาน้ำมาบำบัดก่อน แล้วค่อยใส่ลงในบ่อเลี้ยง จะมีทั้งฆ่าเชื้อหรือจะเป็นการลงจุลินทรีย์เพื่อเตรียมน้ำ พร้อมทั้งเช็คค่า pH และก็ค่าอัลคาไลน์ แต่จริงๆ แล้วปลากะพงมันก็เลี้ยงได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม แต่ที่เราต้องเช็คความเค็มที่บ่อ ก็เพื่อจะได้รู้ว่า ลูกปลาที่เราเอามาเลี้ยง เคยอยู่ที่น้ำเค็มประมาณเท่าไรมาก่อน เราก็จะได้มาปรับถูก ไม่ให้ลูกปลารู้สึกว่าอยู่ในน้ำที่มีค่าความเค็มแตกต่างกันไปมากนัก ในช่วงที่เราเอามาเลี้ยง” คุณสุทธิ อธิบาย

เมื่อใส่น้ำลงไปในบ่อเลี้ยงแล้วทำการเช็ค pH และอัลคาไลน์อีกครั้ง ซึ่ง pH ที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 7.5-8.5 ค่าอัลคาไลน์อยู่ที่ 100 ขึ้นไป และความเค็มที่เหมาะสมอยู่ที่ 7-15 ppt

ซึ่งคุณสุทธิ บอกว่า ความเค็มสามารถขึ้นไปสูงถึง 30 ppt ได้ จากนั้นนำลูกปลากะพงที่ฝึกการกินอาหารมาปล่อยลงภายในบ่อ ปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงอย่าไซซ์ขนาดต่างกันมากเกินไป มีไซซ์ขนาด 4 นิ้ว และ 5 นิ้ว อยู่รวมกันได้ แต่ถ้าเป็น 2 นิ้ว กับ 4 นิ้ว แบบนี้ห่างกันมากเกินไป บ่อขนาด 5 ไร่ ปล่อยปลาเลี้ยงประมาณ 15,000-30,000 ตัว

บ่อเลี้ยงปลากะพง

อาหารสำหรับปลากะพงจะเริ่มให้เป็นอาหารเบอร์เล็ก ที่มีโปรตีน 45 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาปลาเจริญเติบโตมีขนาดไซซ์กลาง ก็จะเปลี่ยนอาหารเป็นเบอร์ที่ใหญ่ขึ้น โปรตีนลดลงอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์ และส่วนปลาใหญ่อาหารจะมีขนาดใหญ่ขึ้น โปรตีนลดลงอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ โดยอาหารจะเปลี่ยนเบอร์ทุก 15-20 วัน ซึ่งเบอร์ของอาหารเล็กสุดอยู่ที่เบอร์ 1 ส่วนเบอร์ใหญ่สุดจะเป็นเบอร์ 7 อาหารจะให้ปลากะพงกินในเวลาเช้าและเย็น

ด้านโรคที่เกิดกับปลากะพง คุณสุทธิ บอกว่า ไม่ค่อยมีเกิดเท่าที่ควรเนื่องจากที่ฟาร์มของเขาควบคุมเรื่องน้ำได้ดี และอาหารที่ให้ปลากะพงกินก็ไม่ตกลงไปสะสมที่ก้นบ่อ ทำให้ไม่มีของเสียสะสมที่ก้นบ่อจนทำให้ปลาเกิดโรคได้ ซึ่งปลากะพงใช้เวลาเลี้ยงทั้งหมดประมาณ 5 เดือน ก็สามารถจับจำหน่ายได้

ในเรื่องของการทำการตลาดนั้น คุณสุทธิ เล่าว่า เมื่อปลากะพงทั้งหมดที่เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดประสบผลสำเร็จดีแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่จบ ซึ่งปลากะพงที่เลี้ยงได้แต่ตลาดก็ยังไม่ยอมรับมากนัก เพราะตัวของปลามีขนาดที่อ้วนเกินไป

“ตลาดช่วงแรกๆ นี่ไม่เป็นที่ยอมรับเลย เพราะปลากินอาหารเม็ด ตัวปลากะพงก็เลยไม่ค่อยได้ทรง มันจะมีลักษณะอ้วน ไขมันเยอะ ซึ่งแม่ค้าสมัยก่อนจะติดว่าปลากะพงต้องเป็นทรงเรียวยาว รูปทรงดี พอเขาเห็นปลาเราอ้วนนี่ไม่มีใครซื้อเลย ต้องไปขอร้องให้เขามาจับให้ เป็นเพื่อนของเพื่อนอีกที เขาบอกซื้อไปก็เอาไปขายลำบาก แต่ก็พอขายได้บ้าง คราวนี้เราก็เลยต้องมาปรับเรื่องอาหารใหม่อีกครั้ง  คราวนี้ก็เป็นที่น่าพอใจ ปลาทรงสวยขายได้ดี” คุณสุทธิ บอกอุปสรรคของการจำหน่ายในสมัยก่อน

 

ปลากะพงที่ตลาดต้องการน้ำหนักอยู่ที่ 700 กรัม ถึง 1 กิโลกรัมขึ้นไป มีคนมาจับถึงบ่อจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 95-120 บาท ซึ่งราคาจำหน่ายดูตามเกณฑ์ที่ตลาดกำหนด ถ้าปลามีไซซ์ขนาดต่ำกว่าที่ตลาดต้องการหรือพิการราคาก็จะต่ำลงมาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

“เราเป็นเกษตรกร การที่เราจะได้ปลากะพงรูปทรงดี ได้ราคาที่ดีเวลาขาย หลักของการเลี้ยงปลากะพงเลยคือ ลูกปลาต้องดี ต้องฝึกกินอาหารเม็ดมาแล้ว ต่อมาก็จะเป็นเรื่องของคุณภาพอาหาร ต้องดีมีคุณภาพ ไม่แพง แต่มีคุณภาพเลี้ยงแล้วปลาโตดี หรือแพงหน่อยแต่ผลตอบแทนเราดีก็ต้องเลือกให้ดี การจะทำอะไรให้ประสบผลสำเร็จ ความซื่อสัตย์เป็นเรื่องสำคัญ โดยที่ผู้ที่เลี้ยงทั้งหมดต้องร่วมมือกัน เพราะราคาปลาก็มีขึ้นมีลง ส่วนการเลี้ยงถ้าจัดการดีๆ เราก็จะได้กำไร มันก็มีช่วงน้อยที่จะขาดทุน ใครสนใจก็ลองมาศึกษาดูได้ถ้าจะทำเป็นอาชีพ” คุณสุทธิ แนะนำ

สำหรับท่านใดสนใจอยากศึกษาในเรื่องของการเลี้ยงปลากะพง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุทธิ มะหะเลา ที่หมายเลขโทรศัพท์ (089) 244-1344, (089) 894-3709