ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณสมพรชัย องอาจ อยู่บ้านเลขที่ 280 หมู่ที่ 5 ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่มีความสนใจในเรื่องของการประมง เขาจึงหาวิธีเลือกเลี้ยงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เหมาะกับพื้นที่บ้าน คือ การเลี้ยงกบในกระชังบก ที่มีการใช้น้ำในประมาณที่น้อย แต่สามารถโตจนทำเงินได้มาก ที่เรียกง่ายๆ ว่า เลี้ยงจนมีปริมาณที่ผลิตไม่พอขายกันเลยทีเดียว
คุณสมพรชัย เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีทำการเกษตรอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยา โดยเขาเองก็ได้ไปอยู่ที่นั้นสักระยะหนึ่ง ต่อมาได้ทำกิ่งพันธุ์ไม้ผลจากจังหวัดนครปฐมมาทำตลาดในจังหวัดบึงกาฬ จึงได้ย้ายมาอยู่บ้านเกิดที่นี้ พร้อมทั้งเพาะเลี้ยงกบในกระชังบกเป็นอาชีพไปด้วย เพราะการเลี้ยงกบด้วยวิธีนี้ใช้น้ำในประมาณน้อย และที่สำคัญการเลี้ยงก็ใช้พื้นที่น้อยอีกด้วย
“ช่วงที่จะกลับมาอยู่ที่บึงกาฬ ผมมองว่าพื้นที่รอบบ้านผม มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ แต่ถ้าจัดสรรดีๆ ก็น่าจะทำอะไรได้หลายอย่าง ในเรื่องของการประมงผมมองว่าน่าสนใจ เพราะเป็นสิ่งที่คนต้องกินกันทุกวัน ก็เลยอยากที่จะเลี้ยงอะไรสักอย่างที่เข้ากับพื้นที่ของบ้าน จึงตัดสินใจเลี้ยงกบในกระชังบก เพราะใช้เนื้อที่น้อย และที่สำคัญยังไม่ต้องห่วงเรื่องการใช้น้ำ เพราะเลี้ยงแบบนี้ใช้น้ำน้อยมาก ผมก็เลยตัดสินใจเลี้ยงกบ” คุณสมพรชัย เล่าถึงที่มา
การเลี้ยงกบในกระชังบก คุณสมพรชัย บอกว่า ไม่มีอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนการเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่น ขอเพียงจัดสรรตำแหน่งสำหรับเลี้ยงให้อยู่เหมาะสมกับพื้นที่บริเวณบ้านเท่านั้นพอ เพราะการเลี้ยงจะต้องมีการถ่ายน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ จึงควรเลือกพื้นที่ที่น้ำไหลได้สะดวกไม่ท่วมขัง
การตั้งกระชังบกก็ทำแบบง่ายๆ หาไม้ไผ่มาทำเป็นเสาร์หลักให้กระชังบกเกาะ จากนั้นนำกระชังมาผูกให้คล้ายมุ้ง ซึ่งกระชังบกมีหลายขนาด ตั้งแต่ 1 x 2 เมตร 2 x 4 เมตร ซึ่งด้านข้างของกระชังบกจะเป็นตาข่ายที่กันไม่ให้กบกระโดดออกที่เย็บติดกับผ้าใบอย่างดีเพื่อใส่น้ำด้านล่าง เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วจึงใส่น้ำเลี้ยงได้ทันที
“เราทำเองตัดเย็บเอง ก็จะเลือกวัสดุที่เกรดดีๆ มีคุณภาพมาทำ เพราะว่ามันก็ใช้งานได้ดีกว่า ถึงจะแพงกว่ากันนิดหน่อย พอเราติดตั้งกระชังเสร็จแล้วก็เลี้ยงได้เลย พ่อแม่พันธุ์ที่ดีต้องมีอายุประมาณ 8-10 เดือน เสร็จแล้วก็นำมาคัดความสมบูรณ์อีกครั้ง ช่วงที่ไม่ค่อยดีคือหน้าหนาว เพราะว่าเขาจะจำศีล แต่สามารถเพาะพันธุ์ได้ แต่ไข่จะมีน้อยหน่อย จากนั้นนำพ่อแม่พันธุ์มาผสมพันธุ์กัน ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน ก็จะออกไข่ เราก็เอาพ่อแม่พันธุ์ออกมา ก็ดูแลลูกอ๊อดต่อไป” คุณสมพรชัย บอกถึงวิธีการผสมพันธุ์
ลูกกบ (ลูกอ๊อด) ที่ออกจากไข่จะให้กินอาหารที่ปั้นเป็นก้อน ให้กินจนกว่าจะโตมีอายุ 28 วัน จึงเตรียมคัดไซซ์ทุก 2 วันครั้ง ขายให้กับผู้ที่สนใจจะซื้อไปเลี้ยงต่อ ไซซ์ขนาดตัว ประมาณ 1-1.5 นิ้ว ขายอยู่ที่ตัวละ 3 บาท ส่วนการดูแลลูกกบต้องถ่ายน้ำวันเว้นวัน เพื่อให้น้ำที่ใช้เลี้ยงมีความสะอาดไม่เช่นนั้นลูกกบอาจตายได้
ส่วนลูกกบที่ไม่ได้ส่งขายจะนำมาเลี้ยงต่ออีก 2-3 เดือน เพื่อทำให้เป็นกบขนาดไซซ์ใหญ่ให้กินอาหารที่มีโปรตีน 25-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคุณสมพรชัย บอกว่า การเลี้ยงกบในกระชังบกจะไม่เกิดโรคระบาด เพราะมีการถ่ายน้ำทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอจึงไม่เป็นแหล่งสะสมโรค
“การเลี้ยงกบด้วยวิธีนี้ ถือว่าประหยัดเนื้อที่สุดๆ แถมสะดวกสบายในเรื่องการถ่ายน้ำ ต้นทุนการผลิตก็ไม่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ขนาด 2 เมตร เท่ากัน การสร้างบ่อซีเมนต์ต้องแพงกว่าแน่นอน ก็จะทำให้ต้นทุนสูงตามไปด้วย” คุณสมพรชัย กล่าวถึงข้อดีของกระชังบก
เนื้อกบ จัดว่าสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ซึ่งคนในพื้นที่ย่านนี้ยังนิยมบริโภคกันมาก คุณสมพรชัย บอกว่า เมื่อทำการตลาดเป็นที่รู้จักของลูกค้ามากขึ้น ก็จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาติดต่อซื้อถึงบ้าน โดยขายทั้งราคาปลีกและส่ง ขายส่งแบบเหมายกกระชังอยู่ที่ กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนขายปลีกอยู่ที่ กิโลกรัมละ 140-150 บาท
“ตอนนี้ต้องบอกเลยว่า ผลิตขายไม่ทัน กบยังเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เพราะคนที่นี่ยังนิยมกินกัน ซึ่งตอนนี้ผมเองได้ต่อยอด ไม่ได้ทำเป็นกบเนื้ออย่างเดียว ได้ทดลองเอาหลายๆ สายพันธุ์มาผสมกัน ให้ได้เป็นกบสีทอง ที่เขาจะมีความเชื่อว่านำไปเลี้ยงเสริมบารมี เป็นกบทองเรียกทรัพย์ ราคาก็ขายอยู่ที่ตัวละ 500 บาทถึงไปจนถึงหลักพัน ลงขายผ่านทางกลุ่มเฟซบุ๊กก็ถือว่าทำการตลาดได้ดีมาก” คุณสมพรชัย กล่าว
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะเลี้ยงกบเป็นอาชีพเสริมหรือหลัก คุณสมพรชัย ให้คำแนะนำ หลักการ 3 อย่าง ของการเลี้ยงกบให้ประสบผลสำเร็จ คือ 1. หาซื้อสายพันธุ์ที่ดีมาเลี้ยง 2. น้ำที่เลี้ยงต้องดี ค่อยหมั่นเปลี่ยนถ่ายให้สะอาดอยู่เสมอ และ 3. ในเรื่องของการจัดการดูแลคอยหมั่นสังเกตุเรียนรู้นิสัยของกบ เพียงเท่านี้การเลี้ยงกบก็เป็นงานสร้างเงินเลี้ยงครอบครัวได้อย่างดี พร้อมทั้งเมื่อทำไปนานวันอาจจะหลงรักและมีความสุขกับการประกอบอาชีพทางการเกษตรอย่างแน่นอน