เกษตรกรเมืองโคราช เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย เป็นอาชีพสร้างเงิน สร้างรายได้งาม

คุณอรุณ ขันโคกสูง อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 4 ตำบลหมื่นไว อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยจนประสบผลสำเร็จ นับว่าเป็นงานสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี และยังเป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงที่บอกสอนให้กับผู้ที่สนอยากมีอาชีพอีกด้วย

คุณอรุณ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีอาชีพเป็นช่างอู่ซ่อมรถมากว่า 10 ปี ซึ่งมีความคิดอยากมองหาอาชีพอื่นอยู่ในใจเสมอ จึงได้ทดลองเลี้ยงปลาสวยงามในระยะหนึ่ง จนสามารถจำหน่ายลูกพันธุ์ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นอาชีพอย่างจริงจังมากนัก จึงมีแนวคิดต่อไปว่าควรทำอะไรที่มีรายได้ดีกว่านี้ ที่เป็นงานที่สร้างรายได้ให้กับเขาได้แบบยั่งยืน

คุณอรุณ ขันโคกสูง

“ช่วงนั้นระหว่างที่ดูรายการทางโทรทัศน์ มีการพูดถึงเรื่องเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย ก็เลยจดเบอร์โทรศัพท์เจ้าของฟาร์มไว้ แล้วติดต่อขอไปดูที่เขาเลี้ยงจริงๆ ว่าเขาทำอะไรบ้าง เมื่อเห็นก็คิดว่ามันก็ดีนะ ต้องลองทำน่าจะเป็นอาชีพที่ดี เพราะเห็นเขาทำเป็นล้ำเป็นสันเป็นอาชีพได้ จึงเกิดความคิดที่จะมาลองเลี้ยงดูบ้าง โดยเริ่มจากทีละเล็กละน้อยก่อน” คุณอรุณ เล่าถึงความเป็นมา

ในช่วงแรกนั้นทดลองเลี้ยงประมาณ 4 บ่อ เมื่อปลาดุกบิ๊กอุยถึงช่วงอายุที่สามารถจับจำหน่ายได้ ปรากฎว่าผลตอบแทนที่ได้รับดีเกินคาดหมาย จึงตกลงปลงใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา

นำปลามาปล่อยในบ่อที่มีปลาตายเยอะ

การเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงปลาดุกนั้น คุณอรุณ บอกว่า ไม่มีขั้นตอนอะไรยุ่งยากมากนัก โดยเตรียมบ่อให้มีขนาด 20 x 40 เมตร ความลึกไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตร จากนั้นโรยปูนขาวให้ทั่วพื้นบ่อในอัตราส่วน 50-60 กิโลกรัมต่อไร่ถ้าเป็นบ่อเก่า แต่ถ้าเป็นบ่อใหม่ใช้ปูนขาว 40 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากโรยปูนขาวแล้วจะตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ 7 วันเป็นอย่างต่ำ

“พอเราตากบ่อเสร็จแล้วก็เตรียมใส่น้ำ ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องเอาตาข่ายกั้นให้ดี เพื่อไม่ให้ปลาชนิดอื่นเข้ามาภายในบ่อ จากนั้นก่อนที่ปลาดุกบิ๊กอุยไซซ์ตุ้มจะมาปล่อยลงบ่อ เราก็จะใส่รำละเอียดลงไปวันละ 5 กิโลกรัม ประมาณ 3 วัน ภายในบ่อก็จะเกิดลูกไรขึ้นมา ลูกไรพวกนี้ก็จะกลายเป็นอาหารของปลาในระยะนี้” คุณอรุณ อธิบาย

บ่อสำหรับเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย

สาเหตุที่ฟาร์มของคุณอรุณใช้ปลาดุกบิ๊กอุยไซซ์ตุ้มมาเริ่มเลี้ยงนั้น เขาให้เหตุผลว่าปลามีราคาที่ถูกกว่าการซื้อปลาไซซ์นิ้วมาเลี้ยงในระยะแรก ซึ่งเปอร์เซ็นต์การรอดตายจะอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปลาไซซ์ตุ้มบ่อไหนมีจำนวนที่รอดตายมาก ก็จะย้ายมาใส่ในบ่อที่มีจำนวนน้อยกว่า

“พอบ่อเราพร้อมก็จะปล่อยปลาดุกไซซ์ตุ้มประมาณ 2 แสนตัว ปลาก็จะรอดตายเหลือจริงประมาณ 8 หมื่นตัว ช่วงแรกกินลูกไรในบ่อ พอผ่านมาหลังจากปล่อยลงบ่อประมาณ 10 วัน ก็จะเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารกุ้งเบอร์เล็กที่มีโปรตีนประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ พอผ่านมาอีก 7 วัน ก็จะเปลี่ยนเป็นอาหารลูกกบ เปอร์เซ็นต์โปรตีนเท่ากันกับอาหารกุ้ง พอได้ 10 วันแล้ว เปลี่ยนอาหารอีกครั้ง เป็นอาหารเบอร์เล็กพิเศษที่มีโปรตีน 32 เปอร์เซ็นต์ ให้กินอีกประมาณ 1 เดือน โดยการให้อาหารจะให้ 2 มื้อต่อวัน คือเช้าและเย็น” คุณอรุณ บอก

เครื่องบดเหยื่อสด

หลังจากปลาดุกบิ๊กอุยมีอายุประมาณ 2 เดือน จะเริ่มให้อาหารเป็นเหยื่อสดจำพวกกระดูกไก่ไส้ไก่ที่ราคาถูกแต่มีคุณภาพมาบดให้ละเอียด โดยให้กินวันละ 1 มื้อเท่านั้น ซึ่งการจะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยให้ได้ผลดีนั้น คุณอรุณ บอกว่า แหล่งอาหารสดที่ใช้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะต้องหาแหล่งซื้อที่ประหยัดต้นทุนให้ได้มากที่สุด เพราะลำพังใช้อาหารเม็ดเลี้ยงจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นควรหาแหล่งของเหยื่อสดในพื้นที่ไว้จึงจะดีที่สุด

อาหารที่บดให้ปลาดุกบิ๊กอุยกิน

ระหว่างที่เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยอาจมีบางช่วงที่เกิดโรคขึ้นกับปลา เขาจะแก้ไข้ด้วยการหยุดให้อาหารสักระยะหนึ่ง เมื่อเห็นปลาที่เลี้ยงมีการตายลดน้อยลงจึงจะปรับการให้อาหารใหม่อีกครั้ง

“ช่วงนี้ก็จะปรับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ ตั้งแต่ผมเลี้ยงมา เรื่องการให้ยาปฎิชีวนะผสมกับอาหารนั้นยังไม่เคย ก็จะทำตามขั้นตอนที่บอก คือหยุดให้อาหารอย่างเดียว เดี๋ยวสักระยะก็หยุดตาย เราก็ค่อยปรับการให้อาหารใหม่ พอน้ำในบ่อลดลงก็มีเติมน้ำเข้าไปใหม่บ้าง เลี้ยงให้มีอายุประมาณ 4 เดือน ปลาดุกก็จะได้ไซซ์ที่จำหน่ายได้” คุณอรุณ บอกถึงการแก้ปัญหาเรื่องโรค

การจับปลาจำหน่าย

ปลาดุกบิ๊กอุยที่จับจำหน่ายของฟาร์มคุณอรุณขนาดไซซ์จะอยู่ที่ 5 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งการหาตลาดในสมัยก่อนนั้น เขาบอกว่าจำหน่ายได้ลำบากกว่าปัจจุบัน เพราะในพื้นที่นี้ยังไม่มีผู้รับซื้อมากนัก ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าในเมืองโคราชส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก จะเน้นรับซื้อปลาดุกบิ๊กอุยจากภาคกลางมาจำหน่ายเสียเป็นส่วนใหญ่

“สมัยก่อนที่เรายังไม่มีตลาด เราก็จะเน้นหาเบอร์โทรศัพท์ที่ติดอยู่ข้างลังใส่ปลา ของรถพ่อค้าปลาดุกเอาไว้โทรติดต่อ ก็โทรหาเขาให้เขามาจับปลาที่บ่อเรา จะให้ราคาเท่าไหร่ช่วงนั้นเราก็จำหน่าย พอเราได้จำหน่ายมากขึ้นบ่อยเข้า ก็เริ่มมีคนมาซื้อมากขึ้น ตัวเราเองก็เริ่มเข้าใจกลไกตลาด เริ่มรู้ว่าเขาต้องการไซซ์ขนาดแบบไหน วิธีการจับเป็นยังไง เราได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้ง ขั้นตอนการขนส่งว่าต้องทำอะไรบ้าง” คุณอรุณ กล่าว

การคัดแยกไซซ์ขนาด

ราคาของปลาดุกบิ๊กอุยที่จับหน้าบ่อจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 37 บาท ราคาสามารถขึ้นลงได้ตามกลไกตลาด โดยคุณอรุณบอกว่าราคาประมาณนี้เขาสามารถทำเป็นอาชีพสร้างเงินได้ เพราะต้นทุนที่เขาเลี้ยงเป็นเหยื่อสดที่มีต้นทุนต่ำ เมื่อเทียบกับการเลี้ยงโดยใช้อาหารเม็ดแล้ว เลี้ยงแบบเหยื่อสดได้กำไรดีกว่า

ณ เวลานี้การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย สามารถเป็นอาชีพที่ยั่งยืนอย่างที่เขาฝัน เพราะเขาได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จากการเลี้ยง ซึ่งปลาที่เลี้ยงก็มีคุณภาพมีรถพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงบ่อเลี้ยงจนปลาโตไม่ทันจำหน่ายกันเลยทีเดียว

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักว่าควรเตรียมตัวอย่างไร ต้องเริ่มต้นลงมือศึกษาอะไรก่อน คุณอรุณ แนะนำว่า

“สำหรับคนที่จะมาเลี้ยงปลา อยากให้มองเรื่องการตลาดก่อนว่า เมื่อเราเลี้ยงแล้วจะจำหน่ายให้ใคร แล้วต้องมองว่าบริเวณพื้นที่นั้นคนส่วนใหญ่เขากินปลาอะไรกัน กินปลาไซซ์ขนาดใหญ่หรือเล็ก เพราะว่าเราไม่ควรเลี้ยงตามใจตัวเอง ต้องดูตลาดที่เขาต้องการ เรียกว่ามองที่คนกิน ส่วนเรื่องเหยื่อสดอาหารที่จะให้ปลากิน ในพื้นที่มีพอไหม มันสะดวกกับการจัดการของเราหรือเปล่า และที่สำคัญอีกอย่างคือเรื่องเงินทุน ว่ามีสำรองเพื่อซื้อเหยื่อจนกว่าปลาจะจำหน่ายได้ ถ้าครบถ้วนตามนี้รับลองว่าความสำเร็จไม่ไกลเกินความพยายาม”

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  อรุณ ขันโคกสูง หมายเลขโทรศัพท์ (081) 790-2368