ฟาร์มฮัก 888… เลี้ยงกุ้งก้ามกรามอินทรีย์สำเร็จ แห่งแรกในภาคเหนือ

ผู้เขียนได้รับทราบข่าวจาก คุณศิริฉัตร สุนทรวิภาต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดจังหวัดลำพูน ว่ามีเกษตรกรรายหนึ่งประสบผลสำเร็จเป็นรายแรกของภาคเหนือ ที่ทำการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามอินทรีย์สำเร็จ ผู้เขียนจึงมีโอกาสไปเยี่ยมชมที่ ฟาร์มฮัก 888 เจ้าของฟาร์มคือ คุณสุวัฒฑ์ ราศรี หนุ่มวัย 43 ปี ฟาร์มอยู่ในเขตตำบลหนองหนาม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

คุณสุวัฒฑ์ ราศรี หรือคนทั่วไปจะเรียกนิคเนมว่า อั๋น เล่าให้ฟังว่า ในอดีตนั้นเป็นคนภาคกลาง พ่อแม่เคยทำนา เลี้ยงวัว ควาย มาก่อน ตนเองเลยต้องขวนขวายหาเงินส่งตัวเองเรียนหนังสือด้านอิเล็กทรอนิกส์ จนจบออกมาทำงานบริษัทแห่งหนึ่งเป็นเวลาหลายปี ต่อมาเกิดความเบื่อหน่ายการใช้ชีวิตในเมืองกรุง จึงรวบรวมเงินได้ก้อนหนึ่งหาซื้อที่ดินที่บ้านหนองหนาม จำนวน 18 ไร่ เริ่มทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ระยะแรกตั้งชื่อว่า “ฟาร์มฮัก” แต่บังเอิญชื่อนี้มีคนอื่นตั้งชื่อไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว อีกทั้งเลข 8 มีความหมายทางภาษาจีน ว่า ร่ำรวย จึงใช้ชื่อ ฟาร์มฮัก 888

คุณอั๋น กับอปกรณ์ที่ทำเองเพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้าและกำหนดเวลาได้

ด้วยแนวคิดทั่วไปที่ว่า การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เลี้ยงได้เฉพาะเขตจังหวัดนครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร หรือจังหวัดในแถบนี้เท่านั้นหรือ จึงคิดว่าภาคเหนือน่าจะเพาะเลี้ยงได้ จึงเริ่มการลงทุนครั้งแรกด้วยการขุดสระน้ำ จำนวน 4 บ่อ ลงทุนเป็นเงินหลายล้านบาท ด้วยความที่ตนเองไม่ได้เรียนจบมาทางด้านเกษตร หรือมีความรู้การเลี้ยงสัตว์น้ำมาก่อน จึงสอบถามกับผู้รู้และเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จหลายราย นำมาปฏิบัติในฟาร์มของตนเอง ตลอดเวลา 3 ปี ก็ประสบความล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะว่าบางคนแนะนำที่ผิดๆ บางคนให้คำแนะนำไม่ถูกต้อง แต่เพื่อต้องการขายลูกกุ้งให้แก่ตนเองเท่านั้น หรือขายสารเคมี ยาปฏิชีวนะที่ต้องใช้ในการเลี้ยงกุ้งในราคาแพง

ต่อมาได้รับทราบเกี่ยวกับผลงานพระราชดำริ โครงการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงเกิดความศรัทธาต่อพระองค์เป็นอย่างยิ่ง จึงศึกษาและเจริญรอยตามแนวคิดของพระองค์ท่าน การดำเนินงานในฟาร์มจึงค่อยเป็นค่อยไป เริ่มขยายการเลี้ยงกุ้งตั้งแต่เล็กน้อย จึงค่อยขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้

บ่อเลี้ยงขนาดใหญ่ในฟาร์ม

ช่วงเวลาต่อมา ได้ไปติดต่อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดจังหวัดลำพูน ได้พบและขอคำปรึกษาจากนักวิชาการประมง คือ คุณสมพร เลิศพรกุลรัตน์ เข้ามาดูงานในฟาร์มของตนเอง พร้อมให้คำแนะนำต่างๆ ตั้งแต่การเตรียมบ่อเพื่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามรุ่นต่อไป เริ่มตั้งแต่การใช้ปูนขาวปรับสภาพดิน การตรวจวิเคราะห์สภาพความเป็นกรด-ด่าง ของน้ำในบ่อ การป้องกันกำจัดศัตรูกุ้งด้วยการใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้องและประหยัดค่าใช้จ่าย

จนถึงขณะนี้ตนเองคิดว่ามาถูกทางแล้ว เริ่มขุดบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำเข้ามาในสระเลี้ยงกุ้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า หากนำน้ำจากแหล่งน้ำภายนอกแล้ว จะมีศัตรูอื่นติดเข้ามาด้วย โดยเฉพาะปลาช่อน จะกัดกินตัวอ่อนของลูกกุ้งก้ามกราม นับเป็นศัตรูที่ร้ายที่สุดของฟาร์มกุ้งก้ามกราม

ส่วนวิธีการปล่อยลูกกุ้งลงในสระนั้น หลังจากที่สั่งซื้อลูกกุ้งมาแล้ว จะพักตัวให้แข็งแรงในบ่ออนุบาลก่อน จากนั้นจะนำลงในกระด้งแบบแขวนเหนือน้ำ เมื่อลูกกุ้งแข็งแรงจะกระโดดออกจากกระด้งออกไปเอง

ด้านอาหาร จะใช้อาหารผสมเพียงครั้งละ 1 กิโลกรัม แล้วสังเกตว่า ลูกกุ้งกินอิ่มพอหรือไม่ หากไม่พอก็จะเพิ่มปริมาณครั้งละเล็กละน้อย เพราะหากให้อาหารมากเกินไป น้ำในสระจะเน่าเสีย ที่ฟาร์มใช้เวลาเลี้ยงกุ้งก้ามกราม แค่ 5 เดือน ก็สามารถจับส่งตลาดได้แล้ว น้ำหนักประมาณ 3-4 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม

บ่อพักฟื้นที่หลังจากการจับขึ้นจากบ่อ

ด้านการจัดการภายในฟาร์มนั้น ด้วยที่ตนเองเคยทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์มาก่อน ได้นำความรู้นั้นเข้ามาใช้ในฟาร์ม เช่น ระบบการพ่นฝอยในบ่อกุ้ง ได้ดัดแปลงเอาวัสดุเหลือใช้ประเภทยางรถนต์เก่า นำมาดัดแปลงเป็นใบพัดวิดน้ำ เชื่อมต่อกับเพลากลางให้พ่นกระจายน้ำตามขนาดของบ่อเลี้ยง ประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บรรจุกล่องเพื่อติดตั้งระบบพ่นน้ำให้อากาศในแต่ละบ่อตามเวลาที่กำหนดได้เอง หรือที่เรียกกันว่า ไทม์เมอร์

อุปกรณ์ชุดนี้ตนเองทำได้ในราคาถูกกว่าการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ออกแบบอุปกรณ์เพื่อใช้ระบบในการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าในแต่ละเดือน ทำให้ลดเงินค่าไฟฟ้าได้มากกว่า ร้อยละ 80 ติดตั้งกังหันลมเพื่อใช้ความเร็วรอบของกังหันลมมาต่อกับมอเตอร์ นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองในตัว

ภายในฟาร์มติดตั้งวงจรปิดให้ครอบคลุมทั้งฟาร์ม จากผลงานที่ผ่านมา ทางฟาร์มได้ผ่านการรับรองเกษตรอินทรีย์ ได้รับความสนใจจาก อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยประมงจังหวัดในเขตภาคเหนือมาเยี่ยมชมฟาร์มแล้ว

ฟาร์มฮัก ได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดวิชาการแก่บุคคลที่สนใจการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม รุ่นแรกผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ที่น่าทึ่งของฟาร์มนี้คือ ทีมงานที่ช่วยกันในฟาร์มนี้ จำนวน 4 คน จบมาทางด้านช่างกล ช่างยนต์ ไฟฟ้า ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเลย แต่ด้วยให้ความสนใจ ศึกษา สะสมประสบการณ์ จึงสามารถเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและเป็นวิทยากรให้แก่ผู้ที่มาศึกษาดูงานได้เป็นอย่างดี เมื่อเร็วๆ นี้ได้ส่งทีมงานที่มีความรู้ด้านการประกอบอาหาร เข้ารับการอบรมการแปรรูปอาหารจากกุ้งก้ามกราม เพื่อการรองรับสำหรับการทำอาหารเลี้ยงรับรองผู้เข้ารับการอบรมและผู้สนใจภายในฟาร์ม

สนใจติดต่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอศึกษาดูงาน “ฟาร์มฮัก 888” โทร. 083-020-8008, 061-936-9542

กังหันน้ำที่ดัดแปลงในฟาร์ม
กุ้งอินทรีย์
เปรียบเทียบระหว่างตัวผู้และตัวเมีย
การให้อาหารกุ้ง จะต้องชั่งน้ำหนัก
ภายในห้องทำงานที่ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต

………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก  เมื่อวันที่ 28 /06/2020