หนุ่มปทุมธานี เลี้ยงปลาหมอ เสริมรายได้ จัดการฟาร์มดี ปลามีคุณภาพ ตลาดต้องการ

ปลาหมอ เป็นปลาน้ำจืดอีกหนึ่งชนิดที่ปัจจุบันในหลายพื้นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย เพราะปลาหมอในแหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มมีจำนวนน้อยลง แต่ความนิยมบริโภคยังมีมากขึ้นอยู่เรื่อยๆ จึงทำให้เกษตรกรหลายพื้นที่เห็นช่องทางการทำตลาดได้หันมาปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางการเกษตรของตัวเอง มาเลี้ยงปลาหมอเป็นการค้าเพื่อสร้างรายได้ตามความต้องการของตลาด และศึกษาการเลี้ยงแบบลดต้นทุนเข้ามาช่วยก็จะทำให้การเลี้ยงปลาหมอมีผลกำไรมากขึ้น

คุณวิทยา ดิษราธร อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองสามวัง อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นเกษตรกรที่เห็นช่องทางการทำตลาดของการเลี้ยงปลาหมอสร้างรายได้ โดยเขาได้ลงพื้นที่ตามแหล่งต่างๆ เพื่อสอบถามการเลี้ยงปลาหมอจากผู้ที่ประสบผลสำเร็จ จากนั้นนำองค์ความรู้ที่ได้มาทดลองเลี้ยงปลาหมอในพื้นที่ของตนเองจนประสบผลสำเร็จและสร้างรายได้มาจนถึงปัจจุบัน

คุณวิทยา ดิษราธร

ทำการเกษตร

เป็นอาชีพเสริมรายได้

คุณวิทยา เล่าให้ฟังว่า อาชีพหลักของเขาทำงานอยู่บริษัทเอกชน แต่ด้วยพื้นเพครอบครัวทำอาชีพทางการเกษตร ซึ่งตัวเขาเองก็มีความผูกพันอยู่กับงานทางการเกษตรอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อมีเวลาว่างจากการทำงานประจำก็จะมาช่วยงานของครอบครัวอยู่เสมอ ต่อมาได้เห็นการเลี้ยงปลาหมอจากสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ จึงเกิดความคิดว่าน่าสนใจที่จะนำมาเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเขาเอง จึงได้ศึกษาการเลี้ยงปลาหมออย่างจริงจัง และมาทดลองเลี้ยงในพื้นที่ของตนเองจนประสบผลสำเร็จ สามารถผลิตปลาหมอส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าได้ตลอดทั้งปี

ลูกปลาหมอ

“ช่วงแรกที่มาศึกษา เราไม่รู้ว่าปลาหมอนี่มันสามารถเลี้ยงทำเงินได้ เพราะเราคิดว่ามันจะอยู่ และโตแต่ในธรรมชาติอย่างเดียว พอเราได้ศึกษาและสนใจในการเลี้ยงมากขึ้น จึงได้ใช้สายพันธุ์ปลาหมอจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้เข้ามาเลี้ยง เพราะปลาค่อนข้างเป็นสายพันธุ์ที่ดี สามารถเลี้ยงแล้วโตได้น้ำหนักดีมาก และที่สำคัญการเลือกซื้อสายพันธุ์ปลาหมอเข้ามาเลี้ยงภายในฟาร์มนั้น ต้องเลือกแหล่งที่เชื่อถือได้ ถ้าเรามีสายพันธุ์ปลาหมอที่ดี ผ่านการแปลงเพศที่ได้มาตรฐาน มีแหล่งน้ำดี การจัดการบ่อดี การเลี้ยงปลาหมอก็จะประสบผลสำเร็จ และสร้างรายได้ไม่ยาก” คุณวิทยา เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงปลาหมอ

บ่อเลี้ยง ขนาด 2 งาน

เลี้ยงปลาหมอ 20,000 ตัว

ต่อบ่อขนาด 2 งาน

ขั้นตอนของการเลี้ยงปลาหมอให้ได้ไซซ์ปลาที่ดีมีคุณภาพนั้น การเตรียมพื้นที่เลี้ยงถือว่าสำคัญมาก โดยเฉพาะในเรื่องของแหล่งน้ำต้องมีให้เพียงพอ เพราะปลาหมอเมื่อเลี้ยงไปเรื่อยๆ เห็นว่าน้ำภายในบ่อเริ่มมีลักษณะดำแล้ว ต้องถ่ายน้ำเก่าออกและเติมน้ำใหม่เข้าไป ก็จะช่วยให้ปลาไม่เกิดความเครียดและกินอาหารได้อย่างต่อเนื่อง

การจับปลาหมอ

ซึ่งบ่อที่ใช้เลี้ยงปลาหมอ คุณวิทยา บอกว่า จะขุดบ่อเลี้ยงให้มีขนาดประมาณ 2 งาน ความลึกอยู่ที่ 2 เมตร ในช่วงแรกที่ปล่อยลูกปลาหมอไซซ์ใบมะขามลงไป จะใส่น้ำให้อยู่ในบ่อมีระดับความสูงที่ 1 เมตร โดยบ่อเลี้ยงขนาด 2 งาน ปล่อยปลาหมอเลี้ยงอยู่ที่ 20,000 ตัว ในช่วง 7 วันแรก ให้ลูกปลาหมอกินอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 45 เป็นเวลาทั้งหมด 3 มื้อ คือ เช้า กลาง และเย็น

หลังจากครบ 7 วันแล้ว เปลี่ยนอาหารเป็นสูตรเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 37 ให้กินวันละ 3 มื้อ เป็นจำนวน 7 วันเหมือนเดิม เมื่อครบกำหนดแล้วต่อไปเลี้ยงด้วยอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 32 อีก 1 เดือนครึ่ง จากนั้นเปลี่ยนเลี้ยงด้วยอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 30 ในช่วงเช้าและเย็น ประมาณ 5-6 เดือน จนกว่าปลาหมอจะโตและพร้อมจับจำหน่ายได้

ตัวใหญ่ ทรงสวย

“เนื่องจากการเลี้ยงปลาหมอของผม มีการรวมกลุ่มกันเลี้ยงอย่างชัดเจน จึงทำให้เวลาซื้ออาหารเม็ดมาเลี้ยง เราสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูก เพราะฉะนั้นการเลี้ยงปลาหมอต้องมีการรวมกลุ่มกันด้วยส่วนหนึ่ง ก็จะทำให้เราต่อรองในเรื่องของการตลาดและการซื้อต้นทุนอาหารได้ ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคของปลาหมอ ก็จะดูตามอาการว่าแต่ละช่วงเกิดโรคอะไรบ้าง เราก็แก้ไปตามนั้น แต่หลักๆ ในเรื่องของการถ่ายน้ำถือว่าสำคัญมาก เราต้องถ่ายน้ำเก่าออกและเติมน้ำใหม่เข้าไปอยู่เรื่อยๆ ก็จะช่วยให้ปลาหมอไม่เครียดและกินอาหารได้ตลอด การเติบโตไม่หยุดชะงัก” คุณวิทยา บอก

ปลาหมอไซซ์ขนาดที่ตลาดต้องการ

มีแพปลา และพ่อค้า

มาติดต่อขอซื้อถึงหน้าบ่อ

สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายปลาหมอนั้น คุณวิทยา บอกว่า ก่อนที่จะเลี้ยงในช่วงแรกจะติดต่อกับแพปลา หรือพ่อค้าไว้ก่อน เมื่อมีตลาดที่แน่นอนแล้วก็จะเริ่มเลี้ยงให้ลงตัว สามารถจับส่งตลาดได้ตลอดทั้งปี ซึ่งการเลี้ยงก็มีทั้งการรวมกลุ่มและติดต่อตลาดเอง จึงทำให้ปลาหมอที่เลี้ยงมีตลาดส่งจำหน่ายอย่างแน่นอน โดยที่เขาไม่ต้องนำปลาไปเร่ขายตามที่ต่างๆ

โดยราคาปลาหมอที่ตลาดรับซื้อราคาเหมายกบ่ออยู่ที่ กิโลกรัมละ 69-71 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาสามารถขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด ซึ่งปลาหมอที่เลี้ยงภายในบ่อ ขนาด 2 งาน ปล่อย 20,000 ตัว เขาสามารถเลี้ยงได้น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ตัน ต่อบ่อ

“ปลาหมอผมก็จะทำตลาดแบบเลี้ยงหมุนเวียนกันไป ทำให้ผมสามารถจับส่งลูกค้าได้ตลอดทั้งปี หรือเรียกง่ายๆ ว่า จับขายเดือนละ 1 บ่อ จากที่เลี้ยงปลาหมอมาตลาดนี่ยังถือว่าไปได้อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการเลี้ยงปลาหมอเราต้องศึกษาให้ดี ทั้งในเรื่องของสายพันธุ์และในเรื่องของการให้อาหาร เมื่อเรามีการจัดการที่ดี การเลี้ยงปลาหมอก็ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำเป็นอาชีพเสริมที่เลี้ยงตัวเองได้ เพราะฉะนั้นใครที่สนใจอยากเลี้ยงปลาหมอ ต้องจัดการ 4 อย่างนี้เป็นปัจจัยสำคัญ คือศึกษาสายพันธุ์ ศึกษาการให้อาหาร มีแหล่งน้ำที่ดี และสุดท้าย การจัดการฟาร์มที่ดี ก็จะช่วยให้การเลี้ยงปลาหมอทำเงินได้อย่างแน่นอน” คุณวิทยา บอก

สนใจเรื่องการเลี้ยงปลาหมอ หรือต้องการปรึกษาพูดคุยในเรื่องของการเลี้ยงปลาหมอให้ได้คุณภาพ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวิทยา ดิษราธร หมายเลขโทรศัพท์ (087) 719-1953

………………………………………………………………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 30% ตั้งแต่วันนี้ –  15 ก.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่