เลี้ยงปลานิลในกระชังแม่น้ำโขง สร้างรายได้ อาชีพเสริมของเกษตรกรบึงกาฬ

ณ ปัจจุบัน การจับปลาเพื่อบริโภคเหมือนสมัยก่อนอาจเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ปลาตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณที่ลดน้อยลง จึงมีการเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคกันมากขึ้น รวมทั้งเลี้ยงเป็นเชิงการค้าที่เกิดเป็นงานสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว เหมือนเช่น คุณสุมาลี เวชกามา อยู่บ้านเลขที่ 266 หมู่ที่ 5 ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

คุณสุมาลี เวชกามา

คุณสุมาลี เล่าให้ฟังว่า มีอาชีพขายอาหารสัตว์ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2555 เมื่อทำกิจการด้านนี้ได้ลงตัว จึงรู้สึกมีความสนใจที่อยากจะเลี้ยงปลานิล เพราะปลาจัดได้ว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่สามารถกินได้ทุกเพศทุกวัย ถือว่าเป็นอาหารที่ย่อยได้ง่ายเหมาะกับผู้ที่รักสุขภาพ และที่สำคัญปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติก็เริ่มมีจำนวนที่ลดลง จึงเห็นถึงการประกอบอาชีพทางด้านนี้

“ช่วงแรกก่อนที่จะมาเลี้ยง ก็จะศึกษาเรื่องของตลาดก่อนว่า เราเลี้ยงแล้วเราจะขายยังไง และที่สำคัญการเลี้ยงของเราจะลดเรื่องต้นทุนอย่างไรได้บ้าง ก็เลยได้ลองศึกษาในเรื่องตรงนี้ดู เพราะเราขายเรื่องอาหารสัตว์อยู่แล้ว ความรู้เรื่องนี้เราก็จะชัดเจนมาก ส่วนวิธีการเลี้ยงก็จะมีคนมาสอน เราก็จะไปฝึกอบรมกับเขาเพื่อศึกษาความรู้” คุณสุมาลี เล่าถึงที่มาของการเลือกเลี้ยงปลานิล

โดยปลานิลที่เลี้ยงจะใส่กระชังในแม่น้ำโขง เพราะบริเวณบ้านของเธออยู่ติดกับชายฝั่ง จึงถือว่าสามารถใช้ประโยชน์กับแหล่งน้ำนี้ได้ดี

ปลานิลที่อนุบาลในบ่อดิน

ในขั้นตอนแรกก่อนที่จะนำปลานิลมาใส่เลี้ยงในกระชัง จะนำลูกปลาไซซ์ใบมะขามไปอนุบาลในบ่อดินขนาด 2 งาน โดยปล่อยลูกปลาประมาณ 20,000 ตัว ต่อบ่อ ช่วงแรกให้กินอาหารเม็ดที่มีโปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อลูกปลามีอายุ 20 วัน เปลี่ยนสูตรอาหารให้มีโปรตีน 32 เปอร์เซ็นต์ กินไปเรื่อยๆ จนครบ 2 เดือน จึงย้ายลูกปลานิลมาใส่เลี้ยงในกระชังที่อยู่ในแม่น้ำโขง

“พออนุบาลบ่อดินเสร็จ ก็ย้ายมาเลี้ยงในกระชังขนาด 3×6 เมตร ใส่ปลาเลี้ยงอยู่ที่ 1,800 ตัว ต่อกระชัง อาหารก็เป็นอาหารเม็ดแบบเดิม เปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 32 ให้กินวันละ 2 มื้อ ประมาณ 4 เดือน จนกว่าจะขายได้ ช่วงนั้นปลานิลก็จะมีขนาดไซซ์ประมาณ 1 ตัว ต่อกิโลกรัม เป็นไซซ์ที่ตลาดต้องการ” คุณสุมาลี บอกถึงวิธีการเลี้ยง

บ่ออนุบาลขนาด 2 งาน

ส่วนเรื่องโรคนั้น คุณสุมาลี บอกว่า เนื่องจากการเลี้ยงปลาอยู่ในแม่น้ำ ฉะนั้น เรื่องโรคเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก จะมีติดมากับกระแสน้ำบ้างในบางฤดูกาล จะเป็นพวกเห็บระฆังที่มาเกาะอยู่ที่ตัวปลา จะแก้ด้วยการใช้ด่างทับทิมรักษาและใช้ยาปฏิชีวนะผสมกับอาหารให้ปลากิน

ในเรื่องของน้ำที่ต้องระวัง คุณสุมาลี บอกว่า จะเป็นช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นเดือนที่น้ำในแม่น้ำโขงค่อนข้างมีสีแดงเกิดจากฝนตกใหม่ๆ จะทำให้กระชังที่เลี้ยงมีคราบสิ่งสกปรกมาเกาะทำให้หนาทึบ จึงต้องหมั่นฉีดออกสม่ำเสมอทุก 15 วัน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำอยู่ตลอดเวลา

กระชังเลี้ยงปลานิลในแม่น้ำโขง

“การเลี้ยงในกระชัง มันก็จะมีข้อดี ที่น้ำมันได้หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา เวลาที่มีน้ำไหล ปลาก็จะได้ว่ายเล่น เหมือนปลาได้ออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อปลาดูกระปรี้กระเปร่ามันก็จะดูแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดี ปัญหาต่างๆ มันก็จะน้อย ซึ่งแต่ละคนก็ดูตามความเหมาะสมของพื้นที่ ว่าต้องการที่จะเลี้ยงแบบไหนเหมาะสมกับเราที่สุด” คุณสุมาลี กล่าว

ในเรื่องของการตลาดนั้น คุณสุมาลี บอกว่า ช่วงแรกที่เลี้ยงปลานิลใหม่ๆ มีคนที่รู้จักช่วยหาตลาดให้ ก็จะจำหน่ายไปแบบเรื่อยๆ ตามที่กำลังจะผลิตได้ ต่อมาฟาร์มของเธอเป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยเกิดจากการที่ไปติดต่อกับแม่ค้าโดยตรง จึงทำให้เธอเริ่มขยายกระชังให้มีการเลี้ยงมากขึ้น เพื่อให้กำลังผลิตเป็นไปตามความต้องการของแม่ค้าที่มารับซื้อ

ปลานิล

“ตลาดหลักของเราเลย จะเป็นแทบทุกอำเภอในจังหวัดบึงกาฬ เพราะคนในพื้นนี้เมื่อเทียบกันแล้วนิยมกินปลานิลกันอยู่ ซึ่งแม่ค้าก็ยังมีติดต่อมาซื้อเรื่อยๆ โดยจำหน่ายราคาส่งให้แม่ค้าอยู่ที่กิโลกรัมละ 58-67 บาท ซึ่งราคาสามารถขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด อยู่ที่ว่าช่วงนั้นขาดปลามากหรือว่าน้อย แต่ปลามีความต้องการมาก ราคามันก็จะสูงตามไปด้วย ยิ่งเป็นช่วงที่มีเทศกาลหยุดยาวๆ ปลานิลจะจำหน่ายดีมาก เพราะว่าลูกหลานกลับมาบ้านกัน เขาก็จะซื้อปลาเตรียมไปประกอบอาหารไว้” คุณสุมาลี บอกถึงเรื่องการตลาด

แม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้าม สปป.ลาว

อุปสรรคในการเลี้ยงปลานั้น คุณสุมาลี บอกว่า จะเป็นเรื่องของโรคที่มากับน้ำในแม่น้ำโขง เพราะทุกครั้งที่เกิดขึ้นเชื้อโรคในแต่ละครั้งจะเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ต้องคอยรับมืออยู่ตลอดเวลา และเมื่อไม่มั่นใจในอาการของโรคที่เกิดจะรีบส่งปลาเข้าตรวจในห้องแล็บทันที เพื่อที่จะได้ป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงปลาเป็นอาชีพ คุณสุมาลี แนะนำว่า ปลาจะจำหน่ายได้หรือไม่ได้นั้นขึ้นอยู่ที่การตลาด ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพควรจัดการเรื่องระบบการเลี้ยงให้ดี โดยให้ดูจากความต้องการของตลาดเป็นหลัก เช่น ตลาดยังมีไม่มากแต่ผู้สนใจเลี้ยงในปริมาณที่มากเกินไป ปลายังไม่สามารถจับจำหน่ายได้ ก็ทำให้ต้องเลี้ยงปลาที่เหลืออยู่เรื่อยๆ จึงทำให้ต้นทุนเรื่องอาหารสูงขึ้น การเลี้ยงก็จะได้กำไรน้อย

“เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เรื่องของลูกพันธุ์ปลานิลและอาหาร ควรเลือกที่ดีมีคุณภาพและเหมาะ ถ้าลูกพันธุ์ดี อาหารดี การตลาดดี การเลี้ยงปลานิลก็ไม่ใช่เรื่องยาก ยังไงก็มีกำไรแน่นอน ซึ่งเกษตรกรท่านใดสนใจ สามารถติดต่อมาพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ ยินดีให้คำแนะนำทุกเรื่องที่ทุกคนอยากรู้” คุณสุมาลี กล่าวแนะนำ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุมาลี เวชกามา หมายเลขโทรศัพท์ (081) 974-8040

_________________________________________________________________