นักศึกษา ปวส. ปี 2 ปิดตำราเปลี่ยนชีวิต เพราะ “ไรน้ำนางฟ้า” สร้างรายได้ส่งตัวเองเรียน สัปดาห์ละ 1,500-2,000 บาท

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

เมื่อความรู้ในตำราไม่อาจตอบข้อสงสัยเรื่องการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าได้

นักศึกษาวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์กลุ่มหนึ่งจึงลุกขึ้นมาค้นหาคำตอบด้วยการ “ลงมือทำจริง” จนสามารถเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าในภาคใต้ได้เป็นผลสำเร็จ

“ไรน้ำนางฟ้า” คืออาหารมีชีวิตชั้นดีของปลาสวยงาม ที่มีโปรตีนสูง ช่วยสร้างสีสันสดใสให้ปลา และไม่เป็นพาหะนำโรคแบบไรแดงหรือหนอนขี้หมู ทว่าไรน้ำนางฟ้ากลับไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากเพาะพันธุ์ยาก ทำให้นักศึกษา ปวส. ปี 2 แผนกวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย ปลา-เปรมกมล กาญจนราษฎร์ สมาย-ขนิษฐา แก้วยอด และ เนย์-ธัญญา ทองขำพยายามค้นหาคำตอบด้วยการทดลองเพาะเลี้ยง

เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องไรน้ำนางฟ้าในวิทยาลัยให้ผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามเข้ามาศึกษา เพื่อช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงปลาและเพิ่มศักยภาพการจำหน่ายปลาสวยงามในท้องตลาดให้มากขึ้น ด้วยการทำโครงการไรน้ำนางฟ้า ภายใต้โครงการพลังเยาวชนพลเมืองสงขลา ได้รับการสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

กระบวนการทำงานเริ่มต้นจากการค้นหาข้อมูลจากหนังสือในห้องสมุด แต่ข้อมูลที่ค้นพบมีน้อยมาก ทีมจึงเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ด้วยการไปดูของจริงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดพัทลุง โดยศึกษาตั้งแต่การเพาะเลี้ยงคลอเรลล่า (Chlorella) สาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็กที่เป็นอาหารของไรน้ำนางฟ้า

จากนั้นจึงลงพื้นที่สำรวจร้านปลาสวยงามในจังหวัดสงขลา เพื่อค้นหาองค์ความรู้เรื่องไรน้ำนางฟ้า รวมทั้งคำนวณต้นทุนที่เหมาะสมสำหรับร้านค้าที่ต้องการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าให้เป็นอาหารของปลา จนมีความรู้มากพอจึงลงมือเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า แต่ด้วยความไม่พร้อมของข้อมูลและเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน การทำงานจึงติดขัดอยู่หลายครั้ง จนทีมเกือบถอดใจเลิกทำ

สมายเล่าว่า ช่วงแรกเลี้ยงเท่าไรก็ตาย ทั้งที่หลักวิชาการบอกว่าไรน้ำนางฟ้ามีอายุ 24 วัน แต่พอทดลองทำจริงแค่ 10-15 วันก็ตาย เลี้ยงกันจนท้อ และเหนื่อยมาก กระทั่งคุยกันว่าไม่เลี้ยงแล้ว เลิกทำดีกว่า

แต่พอคิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ทีมพยายามฮึดสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดสิ่งที่ทุ่มเททำก็สำเร็จดังหวัง เมื่อพวกเธอสามารถเพาะไข่ไรน้ำนางฟ้าได้ และเลี้ยงดูจนสามารถนำไปเป็นอาหารแก่ปลาสวยงามได้จริง

ผลจากการค้นคว้าหาคำตอบด้วยการลงมือทำเพื่อช่วยคลี่คลายความหนักใจให้ผู้จำหน่ายปลาสวยงามในจังหวัดสงขลา กระทั่งเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ไรน้ำนางฟ้าในวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ที่เปิดกว้างพร้อมถ่ายทอดความรู้ให้ผู้สนใจ ทีมงานยังได้ส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ให้รุ่นน้องในวิทยาลัยเข้ามาสานต่อ

ปลาบอกว่า โครงการนี้ช่วยพัฒนาทักษะชีวิตทุกด้าน ที่สำคัญคือฝึกคิดและจัดระบบข้อมูลเพื่อสื่อสารออกไปให้คนอื่นเข้าใจ และยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่พูดตรงและแรง ช่วงแรกที่มาทำงานด้วยกันจึงมักทำให้เพื่อนโกรธบ่อยๆ แต่เมื่อทำงานด้วยกันนานขึ้น เธอก็ค่อยๆ ลดความตรงและแรง ส่วนเพื่อนก็เข้าใจเธอมากขึ้นว่าเวลาที่เธอพูดไม่ได้มีเจตนาร้าย แค่เป็นคนพูดไม่เพราะเท่านั้น

ด้านสมาย เล่าว่า เมื่อก่อนทำอะไรก็มักโดนพ่อแม่ตำหนิ เนื่องจากมีนิสัยดื้อ ติดเกม และไม่ช่วยงานที่บ้าน จึงไม่อยากคุยกับพ่อแม่ โดนแม่บ่นทุกวัน จนวันหนึ่งทนไม่ไหวจึงบอกพ่อแม่ให้หยุดว่า แล้วจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้ดู จึงเริ่มเลี้ยงปลากัด ทั้งที่ไม่มีความรู้เลย แค่เห็นว่าขายได้ราคาแพงเท่านั้น สุดท้ายก็ขาดทุนหมด

เหตุผลที่เข้าร่วมโครงการนี้เพราะอยากนำความรู้ไปต่อยอดเลี้ยงปลากัดอีกครั้ง ซึ่งในที่สุดเธอก็สามารถนำความรู้ที่ได้จากการทำโครงการมาปรับใช้ในการเพาะพันธุ์ปลากัด จนมีรายได้สัปดาห์ละ 1,500-2,000 บาท สามารถส่งตัวเองเรียนได้โดยไม่รบกวนทางบ้าน และปรับความเข้าใจกับพ่อแม่ได้สำเร็จ แต่ที่ดียิ่งกว่าคือโครงการนี้ทำให้เธอค้นพบเป้าหมายชีวิตในอนาคต นั่นคือการเพาะเลี้ยงและจำหน่ายปลาสวยงามนั่นเอง

ส่วนเนย์กล่าวถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า โครงการนี้พลิกชีวิตของเธอไปตลอดกาล

“เดิมหนูเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบพบปะผู้คน แต่เมื่อปลามาชวนทำโครงการก็อยากลอง ครั้งแรกที่ไปนำเสนอโครงการมีแค่หนูกับสมาย กังวลและกลัวจนนั่งร้องไห้ เพราะปลารู้เรื่องโครงการมากที่สุด แต่ติดฝึกงาน ไม่ได้ไปด้วย ตอนคณะกรรมการซักถาม จำได้ว่ามือสั่นมาก พยายามตอบขั้นตอนที่ได้ทำ ปรากฏว่าตอบได้ จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้หนูกล้าเข้าสังคม กล้าแสดงออก และกล้าพบปะผู้คนมากขึ้น”