ชาวศรีดอนชัย เลี้ยงปลานิลอินทรีย์ แปรรูปสร้างมูลค่า ขายตลาดสุขภาพ

“ปลานิล” เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญของเชียงราย มีพื้นที่หลายแห่งเลี้ยงปลานิล แต่แหล่งผลิตใหญ่ที่สุดอยู่ที่อำเภอพาน เนื่องจากมีระบบชลประทานแม่ลาว ในปี 2561 เกษตรกรจำนวน 5,361 ราย เลี้ยงปลานิลได้ 21,563 ตัน

สำหรับชาวบ้านตำบลศรีดอนชัย อำเภอเทิง ใช้วิธีเลี้ยงปลานิลแบบต้นทุนต่ำแนวอินทรีย์ช่วยให้มีคุณภาพ ปลอดภัย พร้อมแปรรูปสร้างมูลค่า ส่งขายตลาดสุขภาพ

ขุดบ่อสร้างแหล่งน้ำทำเกษตรกรรม
แล้วใช้เลี้ยงปลาและสัตว์น้ำหลายชนิด

คุณพิชญาภา ณรงค์ชัย ประธานกลุ่มเลี้ยงปลานิลถิ่นล้านนาสู่สากล ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากการที่ชาวบ้านในชุมชนประสบปัญหาน้ำเพื่อใช้ทำเกษตรกรรมไม่เพียงพอจึงร่วมกันขุดบ่อของแต่ละบ้านเอง มีขนาดเล็ก-ใหญ่ ตั้งแต่ 3 งาน ไปจน 1 ไร่ หลังจากใช้ประโยชน์แล้วก็นำปลาไปเลี้ยงในบ่อเพื่อใช้บริโภคก่อน

ต่อมาได้พัฒนาวิธีเลี้ยงจนมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด จึงรวมกลุ่มกันเลี้ยงเป็นอาชีพเพื่อเป็นรายได้ จากเริ่มที่จำนวน 6 บ่อ จนถึงวันนี้มีจำนวน 130 บ่อ ปลาที่เลี้ยงเป็นชนิดกินพืช อย่างปลานิล ปลาตะเพียน โดยไปซื้อพันธุ์ปลามาจากอำเภอต่างๆ รวมถึงที่ศูนย์เพาะพันธุ์ปลาด้วย แล้วเริ่มเลี้ยงกันจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 4 ปี

ใช้พืชผักเป็นอาหารทางธรรมชาติ
ช่วยลดต้นทุน

ประธานกลุ่มชี้ว่า อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาจะเป็นผักบุ้ง หญ้า และผักต่างๆ ในชุมชน จนเมื่อปี 2560 ได้รับการส่งเสริมจากประมงให้ใช้หญ้าเนเปียร์เป็นอาหารปลา เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง แล้วยังลดต้นทุนได้อีก

ขณะเดียวกัน บ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้านแต่ละแห่งจะสร้างแหล่งอาหารทางธรรมชาติด้วยปุ๋ยหมักจำนวน 2 แบบ คือ วิธีที่ 1 คือทำอาหารธรรมชาติในบ่อ คือ หญ้าเนเปียร์+ฟางข้าวกับปุ๋ยคอกสลับเป็นชั้น และ วิธีที่ 2 คือ หญ้าเนเปียร์สับละเอียด+รำ+กล้วย ปั้นเป็นก้อนตากแดด 5 วัน แล้วโยนใส่ในน้ำให้ปลามาแทะกิน
หลังจากสร้างอาหารจากธรรมชาติแล้วจะเกิดกุ้งฝอย รวมถึงแพลงตอนตามธรรมชาติ จึงเลี้ยงหอยขมรวมอยู่ในบ่อปลาเพื่อให้เกื้อกูลกันทางระบบนิเวศ โดยใช้ทางมะพร้าวปักไว้รอบบ่อเพื่อให้หอยขมเกาะยึด เมื่อต้องการเพียงดึงทางมะพร้าวขึ้นมาเพื่อแกะหอยออก ประโยชน์ของหอยขมไว้เพื่อบริโภค ถ้ามีมากจะจับขายกิโลกรัมละ 25 บาท

ขายปลาสดหน้าบ่อ
แล้วแบ่งไปแปรรูป

สำหรับพันธุ์ปลาในปี 2562 จะปล่อยลงบ่อประมาณเดือนตุลาคม เลี้ยงประมาณ 5 เดือน เมื่อจับขายสดหน้าบ่อรุ่นแรก แล้วจะคัดปลาบางส่วนเพื่อใช้ทำปลาแดดเดียว โดยจะแยกเฉพาะเนื้อปลาออกทำแดดเดียว ส่วนหัวและก้างปลาจะตากแห้งก่อนนำมาบดละเอียดสำหรับใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย

ลูกค้าขาประจำปลานิลแดดเดียวเป็นกลุ่มรักสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ปลาสดหน้าบ่อจะขายเฉพาะชาวบ้านในชุมชนและละแวกใกล้เคียงก่อน ซึ่งที่ผ่านมาขายไม่พอความต้องการเนื่องจากผู้บริโภคสนใจปลาที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ เพราะมีเนื้อขาว สด หวาน นำไปปรุงอาหารได้อร่อยและปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม การจับปลาทุกครั้งจะประชาสัมพันธ์ผ่านหน้าเพจ เพื่อแจ้งให้สมาชิกและชาวบ้านรับรู้ล่วงหน้า เพราะแนวทางนี้สามารถทำให้ขายปลาได้หมดในเวลาที่รวดเร็ว ชาวบ้านจะมีรายได้ทันที

มีปลาขายไม่ขาด
เพราะเลี้ยงกันหลายบ่อ

ปลาที่เลี้ยงกันจำนวน 130 บ่อไม่ได้จับพร้อมกัน แต่ละบ่อมีตารางจับ จะจับครั้งละ 30 บ่อหมุนเวียน จำนวนปลาที่ใช้แปรรูปในแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงนั้นขายปลาสดตามขนาดที่ตลาดต้องการไปมาก-น้อยเท่าไร ราคารับซื้อปลาจากสมาชิกกิโลกรัมละ 65 บาท เป็นราคาประกันที่สมาชิกต้องขายผ่านกลุ่มเท่านั้น

คุณพิชญาภา บอกว่า กลุ่มมีสมาชิก 130 ราย จำนวนสมาชิกเท่านี้ ช่วยผลักดันการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการสร้างตลาดได้ง่าย รวดเร็ว เพราะสามารถผลิตปลาได้ตามความต้องการของลูกค้าได้ต่อเนื่อง มีความร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือหลายกิจกรรมของกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามัคคี
ดังนั้น การบริหารงานของกลุ่มตั้งแต่การผลิต แปรรูป และการตลาดจึงเป็นไปอย่างราบรื่น รวดเร็ว ช่วยสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเป็นอย่างดี

การลดต้นทุนเลี้ยงปลา นับเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น ประธานกลุ่มชี้ว่า แต่เดิมชาวบ้านมักคุ้นกับการซื้ออาหารปลาสำเร็จ ซึ่งต้องใช้ทุนประมาณกิโลกรัมละ 40 บาท เหลือกำไรเล็กน้อย พอปรับมาเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติ ใช้อาหารปลาจากวัตถุดิบในพื้นที่แม้จะมีความยุ่งยากบ้าง แต่เมื่อคำนวณต้นทุนแล้วไม่เกินกิโลกรัมละ 25 บาท ฉะนั้น จึงทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เหลือเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การขายปลาในตลาดสุขภาพมีราคาปลาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป ยิ่งเป็นผลดีต่อรายได้ของสมาชิกอีก

ผลิตภัณฑ์แปรรูปมี 2 แบบหลัก คือปลานิลแดดเดียวที่แบ่งออกเป็น 3 รส คือ แบบดั้งเดิม, แดดเดียวผสมสมุนไพรมะแขว๋นและแดดเดียวผสมขมิ้น กับกะปิปลานิล ผลิตภัณฑ์ใช้ชื่อแบรนด์สินค้าว่า “จากพ่อสู่ลูก” โดยสินค้าทุกชนิดขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าโอท็อป

วิธีและขั้นตอนแปรรูปจะแบ่งปลาเป็น 2 เกรด ถ้าเป็นปลาขนาด 2-3 ตัว ต่อกิโลกรัม จะตัดหัวออก ขอดเกล็ด บั้ง และหั่นครึ่ง นำไปตากแดดที่โรงตาก ขายแพ็กละ 150 บาท ส่วนปลาที่มีขนาด 1 กิโลกรัมขึ้นไปจะแล่เฉพาะเนื้อออกแล้วแปรรูปเป็นแพ็กน้ำหนัก 300 กรัม ราคาแพ็กละ 100 บาท ส่วนปลาตกไซซ์จะนำมาผลิตเป็นกะปิปลานิล

นอกจากนั้น ยังนำเนื้อปลานิลมาพัฒนาแปรรูปออกมาเป็นสินค้าอบกรอบประเภทต่างๆ เพื่อสะดวกและเจาะทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงยังเลี้ยงและแปรรูปกบเป็นน้ำพริก โดยใช้เนื้อที่ลอกหนังออกมาสับละเอียดผสมสมุนไพรอย่างมะกรูด ตะไคร้ กระชาย ใบโหระพา แล้วมาคลุกเคล้ากับพริกแห้งหรือจะเป็นกบแดดเดียว ขายแพ็กละ 70 บาท มีตัวเดียวมีน้ำหนัก 7 ขีด หรือแม้แต่หนังกบหรือแคบกบปรุงรส

“การนำวิถีทางธรรมชาติผสมกับภูมิปัญญา พิสูจน์ให้เห็นผลว่าเมื่อเลิกใช้สารเคมีแล้วกลับมาทำแบบอินทรีย์ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางปฏิบัติ ช่วยลดต้นทุนได้จริง เห็นผลกำไรที่เพิ่มขึ้นได้จริง ช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ที่สำคัญไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น ช่วยให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า” ประธานกลุ่มกล่าว

สอบถามรายละเอียดเพื่อสั่งซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลานิล แบรนด์จากพ่อสู่ลูก ได้ที่ คุณพิชญาภา ณรงค์ชัย โทรศัพท์ (063) 772-0565 หรือเข้าไปชมกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ fb: เกษตรอินทรีย์วิถีมะก่า

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2563