“หอยชักตีน” อาหารทะเลพื้นบ้าน เมนูเด็ด ที่ต้องลอง

พูดถึงอาหารทะเลที่ขึ้นชื่อของจังหวัดกระบี่ เมนูที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คงต้องยกให้หอยชักตีน เมนูอาหารทะเลจานเด็ดชูโรง ที่ใครมาถึงจังหวัดกระบี่ก็ต้องมาลิ้มรสกันให้ได้ ไม่งั้นก็เหมือนมาไม่ถึงจังหวัดกระบี่

หอยชักตีนจะกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน คือ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต และสตูลบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีพื้นทะเลเป็นดินทรายปนโคลนระยะห่างจากฝั่งประมาณ 50-1,000 เมตร ซึ่งจะพบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณพื้นที่ที่มีหญ้าทะเลขึ้นอยู่

คุณดนก้าหรีม คลองรั้ว

หอยชักตีน ถูกนำมาใช้ประโยชน์จำนวนมาก ทั้งหอยขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไม่คุ้มค่า และขาดแคลนพันธุ์หอยที่จะเจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งถ้ายังคงดำเนินไปดังเช่นปัจจุบันอาจจะทำให้ทรัพยากรอย่างหอยชักตีนเสื่อมโทรมลงในอนาคตอันใกล้นี้ จึงต้องมีการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากหอยชนิดนี้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันหอยชักตีนยังมีให้เห็นและจับจำหน่ายสร้างรายได้อยู่ขณะนี้ อยู่ที่ชุมชนบ้านหลังเกาะ ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เนื่องจากมีสภาพพื้นดินโดยรอบเกาะเป็นดินทรายปนโคลน อีกั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ อาหาร และที่อยู่อาศัยที่มีความเหมาะสม กับหอยชักตีน

คุณดนก้าหรีม คลองรั้ว  ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เล่าให้ฟังว่า บ้านเกาะหลังแห่งนี้ ส่วนใหญ่พื้นที่บนเกาะถูกใช้ปลูกสร้างบ้านเรือนและทำส่วนยางพารา และปาล์ม คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงมีแต่การเกษตร แต่ด้วยสภาพที่ชุมชนเป็นเกาะมีทะเลล้อมรอบ ทำให้สามารถสร้างอาชีพใหม่ คือ การทำประมง โดยใช้เรือหัวโทงเป็นเครื่องมือออกไปจับปลาในท้องทะเล ซึ่งหอยชักตีนก็เป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับชาวประมงและชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ปกติหอยชักตีน จะฝังตัวอยู่ใต้พื้นทรายปนโคลนออกหากินในเวลากลางคืน โดยโผล่ขึ้นมาจากพื้นทะเล หอยชักตีนจะยื่นส่วนเท้าออกมาใช้สำหรับเคลื่อนที่ มีหนวด 1 คู่และมีตาอยู่บนหนวด ตาของหอยชักตีนใช้สำหรับรับรู้เกี่ยวกับแสงสว่าง มันจะกินพวกเนื้อปลา และซากสัตว์ (ปลา หอย กุ้ง) ที่ตายแล้ว  โดยจะยื่นงวงยาว ออกมาจากช่องปากซึ่งอยู่ระหว่างคู่หนวดไปดูดอาหารเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารเพื่อย่อยและดูดซึมไปใช้ต่อไป”

ชาวบ้านในเกาะศรีบอยา ส่วนใหญ่มีอาชีพประมง และจับหอยชักตีนขาย

หอยชักตีนจะขูดกินสาหร่ายและซากอินทรียสารต่างๆ ขดเป็นกระจุกคล้ายเส้นหมี่ ไข่จะพัฒนาใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 วัน จึงฟักออกเป็นตัวลูกหอย ซึ่งจะดำรงชีวิตว่ายน้ำ กรองกินแพลงก์ตอนพืชเล็กๆเป็นอาหารอยู่ประมาณ 11-14 วัน จึงพัฒนาเข้าสู่ระยะลงพื้น เปลี่ยนการดำรงชีวิตมาขูดกินตะไคร่สาหร่ายหรืออินทรียสารต่างๆ

“หอยชนิดนี้จะขึ้นมาหาอาหารในช่วงบ่าย สามารถเดินเท้าเปล่าลงไปเก็บตามชายหาดในช่วงน้ำลด แต่มีเกษตรกรบางรายใช้เรือหัวโทงออกจับในช่วงที่น้ำขึ้นเช่นกัน ช่วงที่หอยชักตีนมีปริมาณมากจะอยู่ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ทำให้ชาวบ้านมักจะจับหอยชักตีนได้เยอะในช่วงนี้  ซึ่งในแต่ละเดือนจะลงเก็บหอยได้ 2-3 รอบ รอบหนึ่งใช้เวลาเก็บ 3-4 วัน  ซึ่งระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับช่วงน้ำขึ้นหรือลง”

หอยชักตีน เมื่อเก็บขึ้นมาจากชายหาดใหม่ๆ

คุณดนก้าหรีม บอกอีกว่า หอยชักตีนจะมีส่วนที่เป็นลักษณะเป็นท่อสำหรับการดูดน้ำทะเลเข้าสู่ภายในตัว เรียกว่า ไซฟอน เพื่อให้น้ำทะเลผ่านเหงือกและรับออกซิเจนเข้าไปเผาผลาญอาหารให้เกิดพลังงานนำไปใช้ในขบวนการต่างๆภายในร่างกาย เพื่อการดำรงชีพและการเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งชาวบ้านและคนในชุมชนอื่นๆที่เข้ามาเก็บหอยชักตีนบริเวณชายหาดบ้านหลังเกาะ จะรู้กันดีว่า หอยชักตีนที่สามารถจับไปจำหน่ายได้นั้นควรจะมีขนาด 40-50 ตัวต่อกิโลกรัม และในช่วงฤดูหอยว่างไข่หรือเพาะขยายพันธุ์ก็จะงดจับในช่วงเวลานั้น

บริเวณหาดหลังเกาะ ที่มีหอยชักตีนขึ้นมาหาอาหารกินจำนวนมาก

สำหรับการขยายพันธุ์ หอยชักตีนจะผสมพันธุ์ภายในร่างกาย โดยหอยชักตีนเพศผู้จะสอดอวัยวะเพศผู้เข้าไปในตัวเมีย แล้วปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่  เมื่อไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ตัวจะสร้างฝักไข่มาห่อหุ้มไข่ดังกล่าว ก่อนถูกปล่อยสู่ภายนอก ซึ่งหอยเพศเมียจะมีต่อมที่เรียกว่า pedal gland ที่บริเวณเท้า ทำหน้าที่ผลิตเมือกสำหรับยึดติดกับวัสดุ

คุณดนก้าหรีม บอกอีกว่า หอยชักตีนสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี ลักษณะไข่จะเป็นสายยาวขดๆ คล้ายเส้นบะหมี่ มีสีขาวขุ่นๆ ฝักไข่ถูกปล่อยออกมาติดกับพื้นหรือวัสดุรองพื้น จะเริ่มพัฒนาตัวเองโดยการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนเซลล์และฟักออกมาเป็นตัวอ่อนที่ว่ายน้ำได้ ลักษณะคล้ายผีเสื้อ มีขนาด 270-300 ไมครอน โดยใช้เวลา 3-5 วัน อัตราฟักประมาณ 60-80 เปอร์เซ็นต์

การเก็บหอยชักตีน ตามชายหาด ทำง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือ

ลูกหอยวัยอ่อน ระยะแรกจะกินสาหร่ายเซลล์เดียว จำพวกไดอะตอม ได้แก่ ไอโซไคซิส คีโตเซอรอส เตตร้าเซลมิส จนกว่าจะพัฒนาตัวเองโดยมีขนาดใหญ่ขึ้น จนมีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร ก็จะเริ่มลงสู่พื้น ซึ่งลูกหอยที่ลงเกาะพื้นจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากเดิม

“ลูกหอยที่ได้จะเจริญเติบโตขนาดความยาวเปลือก 0.5-1 เซนติเมตร ภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน เป็นหอยฝาเดียวที่ทนต่อสภาพแวดล้อมสูง เปลือกค่อนข้างหนา เป็นรูปกรวยยาวประกอบด้วยสารหินปูนหนาผิวเปลือกนอกส่วนใหญ่ไม่เรียบ ขอบปากเปลือกหนามากและยื่นออกไปคล้ายปีก ขอบปากด้านหน้าเว้าเข้า สีลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลอมดำ

เครื่องมือออกทะเล เมื่อถึงฤดูที่หอยชักตีนไม่ขึ้นมาบนชายหาด ต้องลงไปเก็บในทะเล

หอยชักตีน ก่อนนำไปบริโภค จะนำมาแช่ทิ้งไว้ให้หอยคลายดินคลายโคลนออกมาให้หมด แล้วจึงนำมาต้มให้หอยสุก เสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสแซบ ซึ่งการกินหอยชักตีนมีเทคนิคนิดหน่อย คือ จะใช้ไม้จิ้มฟันช่วยในการดึงหอยชักตีนออกมาจากเปลือก และดึงส่วนที่ยื่นออกมาเป็นเล็บแข็งซึ่งชาวบ้านเรียกว่าตีนได้แล้ว

การชื้อขายหอยชักตีน ยังมีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ โดยเฉพาะแทบภาคใต้ ซึ่งจะพ่อค้าแม่ค้าค่อยรับชื้อจากชาวประมง บางรายเข้าไปรับชื้อในชุมชนที่มีการจับจำหน่าย ซึ่งที่ชุมชนบ้านหลักเกาะนี้ จะมีพ่อค้าแม่ค้าขาประจำมาชื้อในกิโลกรัมละ 70 บาท เสริ์ฟขึ้นโต๊ะอาหารค่าตัวต่อกิโลกรัมก็จะแพงขึ้นไปอีก

หอยชักตีน เมื่อวางขายในท้องตลาด ราคาจะแพง ไม่ต่ำกว่า 140 บาทต่อกิโลกรัม

หอยชักตีนนอกจากนะใช้ประโยชน์จากการกินเนื้อแล้ว เปลือกที่สวยและแข็งนั้นยังนำมาสร้างมูลค่านำมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งและอื่นๆอีกมากมาย

นิยมนำไปทำให้สุกโดยการต้ม กินกับน้ำจิ้มรสเด็ด

สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ ชุมชนบ้านหลังเกาะ หมู่ 7 ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ คุณดนก้าหรีม คลองรั้ว ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ หรือที่ คุณดลหรัด นาวาสมุทร สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะศรีบอยา โทรศัพท์ 089-5927929