อียูบีบไทยจับตังเกนอกน่านน้ำ ผู้ประกอบการมึนข้อหาไม่ชัดเจน

อียูบีบกรมประมงจับเรือประมงนอกน่านน้ำไทย 4 ลำจับปลาโอ ทั้งที่กรมยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เผยล่าสุดไทยประกาศร่วมเป็นภาคีซิโอฟ่า พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดการจัดการทรัพยากรประมงของประเทศสมาชิก คาดกองเรือไทยสามารถเข้าทำประมงถูกกฎหมายในพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย มีผลตั้งแต่ 23 พ.ค.นี้

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่กรมประมงเรียกประมงนอกน่านน้ำของไทย 14 ลำกลับจากการจับปลาในมหาสมุทรอินเดียเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ว่า นอกจากเรือประมงทั้ง 14 ลำจะเสียหายเบื้องต้นกว่า 100 ล้านบาทในการเดินทางกลับก่อนกำหนด ยังไม่ได้รวมความเสียหายที่ต้องหยุดจับปลาที่ยังคิดมูลค่าไม่ได้แล้ว ทางกรมประมงยังส่งเจ้าหน้าที่เข้าแจ้งความกล่าวหาจับปลาโอในมหาสมุทรอินเดียโดยพลการต่อสถานีตำรวจบางเขนจำนวน 4 ลำด้วย ทำให้เจ้าของเรือประมงนอกน่านน้ำของไทยสับสนกับเรื่องนี้มาก เพราะก่อนหน้านี้กรมประมงก็ไม่มีความชัดเจนว่าสามารถจับปลาโอที่ไม่ใช่ปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดียได้หรือไม่ ทราบแต่เพียงว่าทางเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป (อียู) สั่งให้ไทยแจ้งความจับเรือประมงเหล่านี้

“ใน Logbook ทางกรมประมงก็บอกว่าให้บันทึกการจับเป็นปลาโอได้ เจ้าของเรือก็ลงตามที่กรมบอก ซึ่งปลาที่จับก็ไม่ใช่ปลาทูน่าที่ห้ามไว้ ส่วนใหญ่ปลาโอที่จับได้ติดมาจากการลากอวนหน้าดิน ส่วนกรณีที่รัฐบาลไทยจะยื่นขอเป็นภาคี SIOFA จับปลาในมหาสมุทรอินเดียในเดือน พ.ค.นี้ ยังเป็นเพียงแค่การยื่น ทางอียูยังไม่รับรองเป็นสมาชิกภาคี การที่จะออกเรือจับปลาอีกครั้งคงต้องใช้เวลาอีกนาน ความเสียหายจากการหยุดจับปลาจึงคำนวณมูลค่าไม่ได้ ช่วงนี้ต้องปล่อยลูกเรือให้ไปหางานอื่นแทน เพราะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลำละประมาณ 4-5 แสนบาทต่อเดือน”

ทางด้านพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า อัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) พร้อมด้วยผู้แทนถาวรประเทศไทยประจำเอฟเอโอ ได้เข้ายื่นภาคยานุวัติสารของประเทศไทย เพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยการทำประมงในพื้นที่ตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย หรือซิโอฟ่า (South India Ocean Fisheries Agreement-SIOFA) ต่อที่ปรึกษากฎหมายของเอฟเอโอ ณ สำนักงานใหญ่เอฟเอโอ กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป

สำหรับ SIOFA เป็นความตกลงระหว่างประเทศ ในการจัดการด้านการประมงระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงจำพวกอื่น ๆ นอกเหนือจากปลาทูน่าและปลาโอ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรีย หมู่เกาะคุก สหภาพยุโรป สาธารณรัฐฝรั่งเศส ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐมอริเชียส และสาธารณรัฐเซเชลส์ ซึ่งพันธกรณีตามความตกลงฯ จะก่อให้เกิดความร่วมมือกันในกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อร่วมพิจารณากำหนดระเบียบปฏิบัติ ระเบียบการเงิน มาตรการบริหาร การจัดการ การอนุรักษ์ และการใช้ทรัพยากรจำพวกอื่น ๆ อย่างสมเหตุสมผลให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการกำหนดโควตาการจับ และกำหนดเครื่องมือประมงสำหรับทำการประมงบริเวณพื้นท้องน้ำ โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการทำประมงพื้นท้องน้ำทั่วทั้งพื้นที่ภายใต้ข้อตกลง SIOFA เพื่อให้มั่นใจว่าการทำประมงสำหรับพื้นที่ภายใต้ข้อตกลงเป็นไปอย่างยั่งยืน ตามหลักการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลฯ และกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น เมื่อไทยเข้าร่วมเป็นภาคีแล้ว นอกจากกองเรือประมงนอกน่านน้ำไทยสามารถเข้าไปทำการประมงบริเวณพื้นท้องน้ำ

สำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย และมีโอกาสใช้ทรัพยากรประมงประเภทอื่น ๆ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันมีกองเรือประมงนอกน่านน้ำไทยเข้าไปทำการประมงในมหาสมุทรอินเดียจำนวนทั้งสิ้น 14 ลำ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในการดูแลรับผิดชอบของ SIOFA ที่ส่วนใหญ่เป็นเรืออวนลากไม่ได้ทำการประมงทูน่า