“เรือผีหลอก” จับปลาคืนละ 100 กก. ภูมิปัญญาชาวประมงพื้นบ้าน จ.ลพบุรี

“เรือผีหลอก” เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาชาวบ้านของตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ที่ใช้ในการจับปลามาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันการจับปลาโดยใช้ “เรือผีหลอก” นับเป็นของที่หาดูได้ยากแล้ว

นายเสนาะ พันธ์น้อย ชาวบ้านตำบลบ้านกล้วย ได้สืบทอดวิธีการทำเรือผีหลอก มาจากรุ่นปู่ รุ่นพ่อ ซึ่งในอดีตใช้เป็นเรือไม้ ปัจจุบันนายเสนาะได้ประยุกต์ดัดแปลงเป็นเรือสเตนเลส ความยาวเรือ ยาว 32 ศอก พร้อมอุปกรณ์สำคัญในการหลอกปลาและสัตว์น้ำ คือ กระดานไม้ ทาด้วยสีขาวประมาณ 60 เซนติเมตร ปล่อยลงข้างลำเรือ โดยหันแผ่นไม้สีขาวเข้าหาตลิ่ง เพื่อหลอกปลาให้ตกใจแล้วกระโดดขึ้นมาบนเรือ และมีตาข่ายกันปลากระโดดข้ามเรือ นายเสนาะใช้วิธีนี้หาปลา กลับบ้านเป็นจำนวนมาก

วิธีการหาปลาแบบเรือผีหลอกของนายเสนาะ จะใช้วิธีการล่องเรือไปตามแนวตลิ่งของคลองชลประทาน ชัยนาท-ป่าสัก โดยใช้เวลาล่องเรือเพียง 1 ชั่วโมงเศษ ก็ได้ปลาน้อยใหญ่กลับมาเต็มลำเรือ เพราะเมื่อเรือวิ่งผ่านไปตามแนวตลิ่ง ปลาก็จะพากันกระโดดขึ้นลำเรือเอง ก่อนจะไปชนตาข่ายด้านข้างอีกฝั่งของเรือและตกลงมาในท้องเรือ

ในแต่ละคืน ที่นายเสนาะหาปลาด้วยวิธีนี้ ได้ปลากลับมากว่า 100 กิโลกรัม มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ต่อวัน ที่ออกหาปลา ปลาที่จับได้จะนำไปวางขายที่ตลาดในช่วงเช้า บริเวณสะพานบ้านกล้วย ริมคลองชลประทาน ชัยนาท-ป่าสัก เป็นอาชีพเสริมนอกจากการทำนา

อำเภอบ้านหมี่ ได้เข้าไปศึกษาวิถีชีวิต พร้อมเก็บข้อมูลเรื่องการจับปลาโดยใช้ “เรือผีหลอก” พบว่า มีประโยชน์และเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าศึกษา และยกย่องให้นายเสนาะ เป็นปราชญ์ด้านการประมงพื้นบ้านที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ “เรือผีหลอก” จากคนรุ่นเก่าสู่ลูกหลานรุ่นใหม่

เนื่องจากเรือผีหลอก ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในการหาปลาในยามค่ำคืน โดยเฉพาะในคืนเดือนมืด ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด เมื่อนำเรือออกไปถึงจุดเริ่มต้น ก็จะเลื่อนแผ่นกระดานสีขาวมาพาดไว้ข้างเรือด้านริมตลิ่ง และเลื่อนไม้กรีดน้ำที่หัวเรือให้ยื่นออกไปเพื่อกรีดน้ำ โดยจะขับเรือให้มีสภาพเอียงเล็กน้อยตามแผ่นกระดานสีขาว เลาะไปตามชายตลิ่ง เมื่อปลาที่อาศัยอยู่ตามริมตลิ่งตกใจเสียงกรีดน้ำ และสีขาวของแผ่นกระดานก็จะกระโดดขึ้นบนกระดานลงสู่ท้องเรือ ส่วนปลาที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรง ซึ่งพยายามจะกระโดดออกจากเรือ มันก็จะติดตาข่ายที่กั้นไว้ ไม่สามารถหนีได้

อำเภอบ้านหมี่ ยกย่องแนวคิด “เรือผีหลอก” ว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีมลพิษ และไม่ต้องอาศัยสารเคมี หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้สิ้นเปลือง ใช้ความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติเป็นทุน เป็นภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่นที่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตชาวประมงน้ำจืดใช้เรือผีหลอกหาปลา ปัจจุบันหาดูได้ยากแล้ว ผู้สนใจสามารถศึกษาและเรียนรู้ได้ที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์  

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก มติชนออนไลน์