อาชีพเพาะเลี้ยงปลาเบญจพรรณบ่อดิน ธุรกิจสร้างตัวของ เม่งฉ่อง นิลพัฒน์

การเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว เป็นที่นิยมบริโภคและเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นสัตว์น้ำที่นิยมนำมาประกอบอาหารและส่งเป็นสินค้าออกไปสู่ต่างประเทศในลักษณะของปลาแล่เนื้อสร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรหันมาสนใจเพาะเลี้ยงจำหน่ายในเชิงธุรกิจในรูปแบบของบ่อดินขนาดใหญ่และในกระชังตามริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง ที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา

บ่อเลี้ยงขนาดใหญ่

การเลี้ยงปลาในบ่อดิน เป็นการเลี้ยงวิธีเลียนแบบธรรมชาติ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจะนิยมและให้ความสนใจ เนื่องจากปลาสามารถหาอาหารกินเองตามธรรมชาติในบ่อเลี้ยง จะมีทั้งวัชพืช ธาตุอาหารต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นอยู่ภายในบ่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยต่อการเติบโตของปลาในบ่อได้เป็นอย่างดีโดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งอาหารเหมือนกับการเพาะเลี้ยงปลาชนิดอื่นๆ ที่ใช้ต้นทุนในการเลี้ยงแต่ละครั้งที่สูง

คุณเม่งฉ่อง นิลพัฒน์ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาเบญจพรรณอยู่ที่บ้านเลขที่ 4/3 หมู่ที่ 5 ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรที่หันมาให้ความสนใจในอาชีพเกษตรกรรมเพาเลี้ยงปลาเบญจพรรณในบ่อดินจนประสบความสำเร็จมานานเกือบ 30 ปี

บ่อเลี้ยงขนาดใหญ่
คุณเม่งฉ่อง นิลพัฒน์

คุณเม่งฉ่อง เล่าให้ฟังว่า เดิมตนเองมีอาชีพขับรถรับจ้างอยู่แถวเสนานิคม แต่หลังแต่งงานมีครอบครัวได้ย้ายมาอยู่กับครอบครัวของภรรยาซึ่งมีอาชีพเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง จึงเข้าไปศึกษาเรียนรู้และเข้าไปทดลองทำโดยปักทำเป็นกระชังลอยน้ำในช่วงแรก

“ตอนที่ตัดสินใจทำนั้น ไม่คิดว่าจะกลายมาเป็นอาชีพในทุกวันนี้ เป็นความชอบที่เกิดในขณะนั้น ทำควบคู่กับการขับรถรับจ้าง พอทำมาระยะหนึ่งอาชีพเพาะเลี้ยงปลาไปได้ดีและเริ่มอยู่ตัว ผมจึงเลิกขับรถและหันมาทำการเกษตรโดยการช่วยครอบครัวของภรรยาเลี้ยงปลาอย่างเดียวการหันมาทำการเกษตรของผม ทำให้ผมสบายใจขึ้น ไปประกอบอาชีพอื่นต้องใช้ทั้งร้อนและต้องใช้ความคิดหนัก ต้องแข่งกับเวลา ไม่เป็นนายของตัวเอง ต่างกับการทำการเกษตรที่มีทั้งเวลาและอิสระเป็นของตัวเอง

สถานที่เตรียมอาหารปลา

เริ่มแรกที่เข้ามาผมเรียนรู้การเพาะเลี้ยงศึกษากระบวนการเลี้ยงทุกอย่างกับครอบครัวภรรยา จนมีความชำนาญกลายเป็นกำลังสำคัญในการเพาะเลี้ยงปลาของครอบครัว จากที่เลี้ยงแบบปักไม้ในกระชังก็เปลี่ยนมาเป็นเลี้ยงในบ่อดินขนาดใหญ่แทน”

คุณเม่งฉ่อง ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาเบญจพรรณในบ่อดินมาอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ ปีมีกำไรสามารถนำมาขยายบ่อเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจุบันนี้มีมากกว่า 500 ไร่ เลี้ยงปลาตะเพียน ปลานิล ปลายี่สก ปลาจีน ปลาสวาย ปลาจาระเม็ด ปลายี่สก และปลาดุก

การเพาะเลี้ยงปลาของคุณเม่งฉ่อง เอาใจใส่ในทุกขั้นตอนของการเลี้ยง เริ่มตั้งแต่การเตรียมบ่ออนุบาลและบ่อเลี้ยง

ปลาจาระเม็ด

“บ่ออนุบาลกับบ่อเลี้ยงจะมีขนาดและความลึกที่ต่างกัน เนื่องจากการเลี้ยงปลารวมกันในบ่อขนาดใหญ่ โดยปล่อยปลาหลายชนิดอยู่ร่วมกันอาจจะทำให้ปลาเล็กถูกปลาใหญ่กินได้ ดังนั้นเราจะทำการอนุบาลลูกปลาขนาดตัวเท่ากับใบมะขามที่ชื้อมาก่อนประมาณ 1-2 เดือนพอปลาได้ขนาดจะย้ายลงไปในบ่อใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ โดยมีอัตราการปล่อยต่อไร่อยู่ที่ 3,000 ตัว ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 1 ปี จึงจับขายได้”

คุณเม่งฉ่อง เล่าให้ฟังต่ออีกว่า การเลี้ยงปลาในบ่อดินขนาดใหญ่ หากทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกครั้งหลังจากการจับจำหน่ายต้องใช้ต้นทุนการจับที่สูงโดยเฉพาะการสูบน้ำออกต้องใช้น้ำมันมาก หักลบกับปริมาณมาณที่ที่จับได้แทบจะไม่เหลือกำไร ดังนั้นคุณเม่งฉ่องจึงเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำ กล่าวคือ อนุบาลลูกปลาเล็กในบ่อขนาด 1 ไร่ ที่มีความลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ก่อนประมาณ 2 เดือน จากนั้นย้ายลงบ่อดินขนาดใหญ่ที่มีความลึกมากเท่าไหร่ยิ่งดีเพราะทำให้พื้นที่ในบ่อหลวมตัวมากขึ้น

ส่วนวิธีการจับขายจะใช้การลากอวน ซึ่งหลายคนมองว่าการจับปลาด้วยวิธีนี้ จะทำให้ปลาที่เหลือชะงักการเจริญ ไม่กินอาหาร ทำให้ปลาแคระแกน แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาตรงกันข้าม  โดยคุณเม่งฉ่อง เล่าว่า เมื่อจับปลาขึ้นมาแล้ว ส่วนที่เหลือจะงดให้อาหารประมาณ 3 วัน จึงเริ่มมาให้อาหารใหม่อีกครั้ง ซึ่งทำให้ปลมีความทนทาน แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย เพราะได้ออกกำลังกายทำให้ปลาแตกคราวทำให้มีการเจริญเติบโตดี

เป็ดไข่

แต่อย่างไรก็ตามบ่ออนุบาลลูกปลาเมื่อทำการถ่ายลูกปลาลงบ่อใหญ่แล้ว หากต้องการอนุบาลลูกปลาในรอบใหม่ จะทำความสะอาดบ่อทุกครั้ง โดยการสูบน้ำออกก่อนทำการปรับสภาพบ่อ ตากบ่อให้แห้งซึ่งใช้เวลาประมาณ 7 วัน ต่อจากนั้นสูบน้ำเข้าและนำลูกปลามาอนุบาลต่อได้ แต่หากบ่อยังมีปลาหลงเหลืออยู่และยังไม่มีความจำเป็นที่จะใช้บ่อนั้นก็จะใช้เลี้ยงปลาส่วนที่เหลือต่อไปจนกว่าจะต้องใช้บ่อถึงจะจับปลาขาย

สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยง คุณเม่งฉ่องใช้น้ำก๋วยเตี๋ยว เศษอาหารที่เหลือจากงานจัดเลี้ยงต่างๆ โดยแต่ละวันจะมีรถไปรับตามจุดต่างๆ ที่ประมูลได้แล้วน้ำมาปดให้ละเอียดให้ปลากินวันละ 3 เวลา โดยใน 1 อาทิตย์จะให้ประมาณ 3 วัน ส่วนปลาเล็กจะให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป น้ำมาปั้นเป็นก้อนแล้วโยนให้กินเป็นอาหาร  ซึ่งอาหารเหล่านี้สามารถช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงด้วยอาหารอย่างเดียวได้เป็นอย่างดี

วัว เลี้ยงไว้กินหญ้ารอบบ่อปลา

ส่วนอาหารเสริม หรือวิตามินไม่มีความจำเป็นเนื่องจากในช่วงระยะแรกและตลอดการเลี้ยงคุณเม่งฉ่องให้ความสำคัญกับการอนุบาลลูกปลา และการดูแลน้ำเป็นอย่างดี ทำให้ไม่ก่อให้เกิดโรคได้ ยาปฏิชีวนะต่างๆ เหล่านั้น จึงไม่มีความจำเป็น

ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนหากปลาเกิดอาการผิดปกติ มีการลอยขึ้นเหนือผิวน้ำตลอดเวลา ช่วงนั้นจะดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้ามาเติมเพื่อให้เกิดอากาศในน้ำเพิ่มขึ้นพร้อมกับลดปริมาณอาหารให้น้อยลง ซึ่งผู้ที่มีความสนใจจะเลี้ยงต้องให้ความสนและตั้งใจที่จะทำเอาใจใส่ในเรื่องของน้ำเป็นพิเศษ

ด้านตลาด จะเปิดแผงขายตามตลาดในกรุงเทพฯ และส่งให้กับห้องเย็นเพื่อแปรรูปและส่งออกไปยังต่างประเทศทั่วโลก โดยมีราคาจำหน่ายตั้งแต่กิโลกรัมละ32-80 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดของปลา ซึ่งแต่ละปีสร้างมูลค่าได้หลายล้านบาทต่อปี

ไม่เพียงแต่การเพาะเลี้ยงปลาเพื่อส่งจำหน่ายไปยังจังหวัดต่างๆ ในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศทั่วโลกแล้ว คุณเม่งฉ่อง ยังเปิดธุรกิจ ฟิชชิ่งปาร์ค ให้นักตกปลามาประรองฝีมือ โดยใช้ปลาที่เลี้ยงมาปล่อยในบ่อตก นอกจากนี้ยังเลี้ยงเป็ดไข่ เลี้ยงวัว ทำการเกษตรแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริทำให้ทุกวันนี้คุณเม่งฉ่องก้าวมาสู่ความสำเร็จด้วยลำแข้งของตัวเอง

ท่านใดที่สนใจแนวการทางและระบบการเลี้ยงปลาของคุณเม่งฉ่อง นิลพัฒน์ ที่เริ่มมาจากธุรกิจภายในครอบครัว ขยายสู่อุตสหกรรมขนาดใหญ่ที่ส่งไปยังต่างประเทศ สามารถสอบถามข้อมูล ขอคำปรึกษาได้ที่ บ้านเลขที่ 4/3 หมู่ที่ 5 ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โทรศัพท์ (081) 839-2496