หนุ่มอุดรธานี ชวนกันขยายพันธุ์แหนแดงใช้เลี้ยงปลา ไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ

คุณอำพล จินดาวงค์ ประมงจังหวัดอุดรธานี ให้ข้อมูลว่า ภายในจังหวัดอุดรธานี มีการเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นแปลงใหญ่อยู่ 2 ชนิด คือ ปลาดุกและปลาตะเพียน พร้อมทั้งมีแหล่งเลี้ยงปลากระชังอยู่ภายในเขื่อน โดยเกษตรกรที่มีบ่อน้ำขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประมง มีอยู่ประมาณ 20,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีการเลี้ยงปลาเพื่อเป็นการยังชีพ ซึ่งการเลี้ยงด้วยวิธีนี้การประหยัดต้นทุนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเกษตรกรจะซื้ออาหารสำเร็จรูปมาเลี้ยงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จึงได้เห็นความสำคัญของการลดต้นทุนการผลิต ทำให้มีการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงแหนแดงเข้ามาลดต้นทุนในการเลี้ยงปลาของเกษตรกร และผลผลิตที่เหลือเกษตรกรยังสามารถจำหน่ายให้เกิดรายได้อีกหนึ่งช่องทาง

คุณอำพล จินดาวงค์ ประมงจังหวัดอุดรธานี

“แหนแดงถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่ดีมากของปลากินพืช จึงทำให้สำนักงานประมงจังหวัดอุดรธานีเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ส่งเสริมการเลี้ยงอย่างจริงจัง มีการบรรยายความรู้ การสาธิตการขยายพันธุ์แหนแดง เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงการเลี้ยงแหนแดงได้อย่างเต็มที่ โดยสายพันธุ์ที่เรานำมาส่งเสริมให้เกษตรกรนั้น เป็นแหนแดงสายพันธุ์ Azolla microphylla เป็นสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมา เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดี การเพาะเลี้ยงก็ง่ายเพราะใช้แค่เพียงปุ๋ยคอกเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงเองได้เพื่อเป็นอาหารให้ปลาภายในบ่อกิน และส่วนที่เหลือก็จำหน่ายสร้างรายได้เป็นค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน” คุณอำพล กล่าว

คุณบัญชา ศรีษาคำ

คุณบัญชา ศรีษาคำ อยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 4 ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ยึดอาชีพทำการเกษตรเพื่อเป็นอาชีพเสริม ในการทำเกษตรของเขานั้น มีบ่อเลี้ยงปลาอยู่ภายในสวน จึงได้คิดวิธีที่จะลดต้นทุนอาหารสำหรับเลี้ยงปลา ทำให้ได้เรียนรู้การเพาะเลี้ยงแหนแดง และนำผลผลิตที่ได้มาผสมกับอาหารสำเร็จรูปให้ปลาภายในบ่อกิน นอกจากจะลดต้นทุนอาหารได้แล้ว แหนแดงที่เพาะเลี้ยงยังสามารถจำหน่ายช่วยเพิ่มรายได้นอกเหนือจากการทำเกษตร

คุณบัญชา เล่าให้ฟังว่า การทำเกษตรในปัจจุบันจะยึดการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เขาจึงได้ขุดบ่อสำหรับเลี้ยงปลาและทำเกษตรผสมผสานชนิดอื่นไปด้วย โดยการทำเกษตรของเขานั้นทำเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น ซึ่งการเลี้ยงภายในบ่อนั้นหากไม่มีการจัดการที่ดีจะทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูง จึงได้สนใจที่อยากจะเพาะเลี้ยงแหนแดงเพื่อมาเป็นแหล่งอาหารอีกชนิดหนึ่งให้กับปลาภายในบ่อกิน และยังสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสายพันธุ์ให้กับผู้ที่สนใจซื้ออีกด้วย

“ปลาภายในบ่อที่เราเลี้ยง หากเลี้ยงแต่อาหารสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้เรามีต้นทุนการผลิตที่สูง ต่อมาได้รู้จักกับการเพาะเลี้ยงแหนแดง เป็นอาหารทางเลือกที่สามารถนำมาผสมกับอาหารสำเร็จรูปให้ปลากินได้ เราจึงได้เรียนรู้การเพาะเลี้ยงแหนแดง โดยศึกษาจากเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงที่เข้ามาอบรม พร้อมทั้งเรียนรู้จากสื่อออนไลน์ต่างๆ จึงทำให้แหนแดงที่เราเพาะเลี้ยงสามารถนำมาผสมกับอาหารเม็ดที่เราใช้เลี้ยงปลาได้ ช่วยให้ต้นทุนการผลิตเราลดลง ใช้อาหารเม็ดไม่มากเหมือนสมัยก่อน จากเดิมที่ให้ปลากินอาหารเม็ดวันละ 1 กิโลกรัม พอมาผสมให้กินกับแหนแดง เราใช้อาหารเม็ดเพียง 200 กรัมเท่านั้น แต่ปลาก็ยังโตสมบูรณ์ดี จึงทำให้แหนแดงเป็นอาหารทางเลือกที่ลดต้นทุนการเลี้ยงปลาเราได้เป็นอย่างดี” คุณบัญชา บอก

หลักการเพาะพันธุ์แหนแดงมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก คุณบัญชา บอกว่า หากไม่มีบ่อน้ำ สามารถใช้บ่อพลาสติกเพาะเลี้ยงได้ โดยขนาดของบ่อพลาสติกสีดำ ใช้ขนาดอยู่ที่ 3×5 เมตร พร้อมกับใส่น้ำให้มีระดับอยู่ที่ 15-20 เซนติเมตร โดยหลักการเพาะพันธุ์แหนแดงด้วยวิธีง่ายๆ คือ หลังจากใส่น้ำลงภายในบ่อพลาสติกแล้ว จะนำปุ๋ยคอก จำนวน 1 กระสอบ มาใส่ลงไปภายในบ่อ จากนั้นนำแหนแดงที่เตรียมไว้ใส่เลี้ยงภายในบ่อได้ทันที

ใส่ลงบ่อให้ปลาที่เลี้ยงไว้กิน

หลังจากนั้นประมาณ 4-5 วัน แหนแดงที่ใส่ลงไปเลี้ยงภายในบ่อพลาสติกจะเริ่มขยายตัวออกมา เมื่อเห็นว่ามีความหนาแน่นมากขึ้น ก็จะย้ายไปเลี้ยงภายในบ่ออื่นๆ ที่เตรียมไว้จนเต็ม พอเห็นมีจำนวนที่มากจนไม่สามารถขยายได้แล้วก็จะเตรียมเก็บและส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าที่ต้องการซื้อได้ทันที

“พอเกษตรกรรายอื่นเห็นว่าแหนแดงค่อนข้างมีประโยชน์ ก็จะติดต่อเข้ามาขอซื้ออยู่เรื่อยๆ เพราะนอกจากเป็นอาหารปลาได้แล้ว ยังสามารถจำหน่ายเกิดรายได้อีกด้วย แหนแดงหลังจากขยายพันธุ์เต็มที่แล้ว ก็จะเก็บขายได้ประมาณ 3-4 รอบ การดูแลก็ไม่ยุ่งยาก หากปุ๋ยคอกไม่เพียงพอก็จะนำปุ๋ยเคมีละลายน้ำเล็กน้อยเลี้ยงเสริมได้ ส่วนบางช่วงถ้ามีแมลงมากัดกินใบ ก็อาจจะใช้น้ำส้มควันไม้เข้าฉีดพ่นบ้าง ก็จะช่วยให้แหนแดงมีคุณภาพสามารถขายเป็นอาหารให้สัตว์หรือจะขายสายพันธุ์ให้เพื่อนเกษตรกรอื่นๆ ไปเพาะขยายพันธุ์ต่อได้” คุณบัญชา บอก

เกษตรกรที่สนใจการเพาะเลี้ยงเข้ามาดูงาน

สำหรับการจำหน่ายแหนแดงนั้น คุณบัญชา บอกว่า จุดประสงค์ของการขยายพันธุ์คือ ส่วนใหญ่จะนำมาเป็นอาหารให้ปลาภายในบ่อที่เลี้ยงไว้กิน เพื่อเป็นการลดต้นทุนในเรื่องของอาหารเม็ด ต่อมาเมื่อมีแหนแดงเข้ามาช่วยลดต้นทุนแล้วก็ทำให้ซื้ออาหารเม็ดจำนวนน้อยลง และส่วนที่เกินจำเป็นสำหรับเลี้ยงปลาภายในบ่อยังสามารถนำมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับเขาได้อีกด้วย

ซึ่งการจำหน่ายแหนแดงจะทำการคัดเลือกอยู่ 2 ประเภท คือ ถ้าลูกค้าซื้อไปเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงปลาหรือสัตว์อื่นๆ สามารถใช้ได้ทุกไซซ์ ทุกขนาด แต่ถ้ามีลูกค้าต้องการซื้อไปเพื่อขยายพันธุ์เองจะทำการคัดต้นที่มีความสมบูรณ์ ทรงใบใหญ่ให้ลูกค้าได้ต้นที่ดีนำไปขยายพันธุ์สร้างรายได้ต่อไปได้ โดยราคาจำหน่ายแหนแดงอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท

มีลูกค้าที่สนใจมาซื้อถึงแหล่งปลูก

“ตอนนี้เรียกได้ว่าพอได้แหนแดงเข้ามาช่วย ทำให้อาหารเม็ดที่เราเคยให้ปลากินเพียงอย่างเดียว ก็ให้จำนวนที่ไม่ต้องมากเหมือนสมัยก่อน ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงผมถูกลง เรามีผลกำไรจากการขายปลาในบ่อมากขึ้น นอกจากนี้ แหนแดงยังทำรายได้ให้กับผมในเวลาเดียวกัน” คุณบัญชา บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเพาะเลี้ยงแหนแดง ต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ คุณบัญชา ศรีษาคำ หมายเลขโทรศัพท์ 086-221-2816

 

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2564