ที่มา | เทคโนโลยีการประมง |
---|---|
ผู้เขียน | อภิวัฒน์ คำสิงห์ |
เผยแพร่ |
การส่งเสริมการเลี้ยงปลาแบบพัฒนา ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปตั้งแต่เริ่มอนุบาลไปจนถึงจับขาย เป็นวิธีการเลี้ยงแบบพัฒนาที่ต้องใช้ต้นทุนสูง ส่งผลต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาที่มีต้นทุนน้อย ดังนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงจึงต้องหันมาปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะเลี้ยงใหม่โดยอาศัยธรรมชาติผสมผสานกับวิธีการเลี้ยงแบบพัฒนา เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตแต่ยังคงคุณภาพและปริมาณ
การเลี้ยงปลาในบ่อดินเป็นการเลี้ยงปลาที่คล้ายกับการเลี้ยงปลาปล่อยตามธรรมชาติ ปลาสามารถหาอาหารตามธรรมชาติภายในบ่อเลี้ยงกินได้ ซึ่งมีทั้งวัชพืช ธาตุอาหาร และแพลงตอนมากมายที่เกิดขึ้นอยู่ภายในบ่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยต่อการเติบโตของปลาเป็นอย่างดี
พี่บุญส่ง วงศ์คำภู เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่หันมาทำอาชีพประมงเพาะเลี้ยงปลาเบญจพรรณบ่อดิน ควบคู่กับการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวทั้งระบบปิดและเลี้ยงตามธรรมชาติ เป็นอาชีพหลัก ในพื้นที่ตำบลบางปลาร้า อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยน
พี่บุญส่ง เล่าให้ฟังว่า เดิมตนเองและครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงหมู ปลูกพืช โดยอาศัยใต้ถุนบ้านและพื้นที่รอบๆ บริเวณบ้านเป็นสถานที่ทำกิจกรรมทั้งหมด ทำได้ระยะหนึ่งก็หันมาทำประมง เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพราะเห็นว่าได้ราคาดีกว่า อีกทั้งในช่วงนั้นตลาดมีความต้องการสูง
“ไปขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่จากคนรู้จัก พอดีได้ไปเห็นเขาเลี้ยงกุ้งกุลาดำกัน ได้ผลผลิตและราคาแต่ละครั้งที่จับสูง เลยสนใจมาเลี้ยงดู โดยครั้งแรกที่เลี้ยงผมเริ่ม 2 บ่อ ลองผิดลองถูก ศึกษา สอบถามจากผู้ที่เลี้ยงจนสามารถเพิ่มปริมาณบ่อขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 50 บ่อ ซึ่งต่อจากนั้นมาผมก็เลิกเลี้ยงไก่ หมู และหันมาเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเชิงเดี่ยวแทน”
พี่บุญส่งเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีปัญหาเข้ามารบกวนฟาร์มกุ้งกุลาดำ โดยเฉพาะเรื่องโรคที่เข้ามารบกวนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องหยุดทำการเพาะเลี้ยงลงไป แต่อย่างไรก็ตาม พี่บุญส่งไม่ได้หยุดอยู่ที่กุ้งกุลาดำ ด้วยความเป็นคนที่มีความตั้งใจและไม่ย่อท้อกับอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้น พี่บุญส่งจึงปรับเปลี่ยนบ่อเพาะเลี้ยงกุ้งทั้งหมดเป็นบ่อเพาะเลี้ยงปลาเบญจพรรณแทน
ผสมผสานแนวคิด ปรับใช้สร้างอาชีพใหม่
“ตอนเลี้ยงกุ้ง บ่อพักน้ำจะใช้เลี้ยงปลาควบคู่กันไป จะไม่ปล่อยให้พื้นที่ภายในบ่อว่างเปล่า น้ำบ่อกุ้งจะมีอาหารและแพลงตอนเข้ามาเป็นอาหารให้กับปลา ช่วยให้ปลามีน้ำหนักดี โตเร็ว ได้ผลผลิตต่อครั้งสูง ซึ่งผมมองว่าเป็นสัตว์น้ำอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจเนื่องจากเลี้ยงง่ายและไม่ต้องลงทุนสูง
หลังจากประสบปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้ง บ่อเพาะเลี้ยงทั้งหมด 50 บ่อ ผมจึงปรับโฉม ขุดลอกบ่อใหม่ โดยให้ลึกลงไปประมาณ 1.8-2.0 เมตร ขยายบ่อเลี้ยงให้ใหญ่ขึ้นโดยการขุดคันดินที่กั้นระหว่างบ่อออกให้เป็นบ่อใหญ่ กินเนื้อที่บ่อละ 50 ไร่ต่อบ่อ และใช้เป็นบ่อเพาะเลี้ยงปลา เช่น ปลานิล ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ ปลาะเพียน ปลาสวาย ฯลฯ แทน
แต่ละบ่อเพาะเลี้ยงจะมีอัตรการปล่อยอยู่ที่ 240,000-300,000 ตัว ซึ่งก่อนปล่อยลูกปลาลงไป ทุกๆ ครั้งจะทำการวัด pH ของน้ำเพื่อเป็นการช่วยให้อัตราการรอดของปลาสูงถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์
อัตราการปล่อยปลาแต่ละรอบ จะคำนึงถึงฤดูกาล หากช่วงที่ร้อนอัตราการปล่อยแต่ละบ่อก็จะน้อย แต่หากช่วงฤดูฝนหรือหนาวก็จะปล่อยตามเกณฑ์ที่ได้ตั้งไว้คือ 6,000 ตัวต่อไร่”
สำหรับเรื่องอาหาร พี่บุญส่ง บอกว่า จะให้เป็นมูลไก่ วันละ 1 ครั้ง (เย็น) โดยจะให้ตั้งแต่ปลาที่มีขนาดเล็กไปจนถึงปลาขนาดใหญ่ โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ควบคู่กับเศษมันฝรั่งจากโรงงานและกากปาล์มที่หีบเอาน้ำมันออกเหลือแต่กากเป็นอาหาร
และนอกจากมูลไก่และมันฝรั่ง ก่อนจับปลาขึ้นมาจำหน่ายประมาณ 1-2 อาทิตย์ พี่บุญส่งจะทำการขุนปลาที่เลี้ยงให้อ้วนก่อนโดยการเพิ่มอาหารเม็ดหรือรำในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นการช่วยบำรุงให้ปลามีน้ำหนักดี ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของอาหาร แต่ได้ปลาที่มีคุณภาพ
แต่ละปี พี่บุญส่ง บอกว่า สามารถเลี้ยงปลาเบญจพรรณได้เพียง 1 รอบเท่านั้น เนื่องจากใช้เวลาเลี้ยงที่นานกว่าการเลี้ยงปลาในกระชังและบ่อดินที่ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป แต่อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงปลาด้วยวิธีนี้ค่อนข้างจะใช้ต้นทุนน้อย แต่ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องมือสำคัญ
“ปีหนึ่ง จะมีหลายรุ่น พื้นที่กว่า 3,200 ไร่ ที่เป็นบ่อปลาจะแบ่งเป็นโซนเลี้ยงเพื่อให้มีปลาจับ โดยเฉลี่ยไร่ละ 1 ตัน
เมื่อจับปลาขึ้นจำหน่ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว บ่อเพาะเลี้ยงหากตื้นเขิน จะทำการลอกใหม่ให้มีความลึกที่กำหนดไว้คือ 1.8-2.0 เมตร แต่หากบ่อไหนที่ยังสามารถใช้เลี้ยงได้อยู่ก็จะสูบน้ำเข้า วัด pH ให้อยู่ที่ 6.5 และเริ่มทำการปล่อยลูกปลาเลี้ยงต่อในรุ่นต่อไปโดยที่ไม่ต้องล้างหรือตากบ่อทั้งสิ้น”
ส่วนเรื่องของตลาดและราคาขาย พี่บุญส่ง บอกว่า หลักๆ จะมีพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดไท บางบัวทอง และตลาดคลองสาม เข้ามาเหมารับซื้ออยู่เป็นประจำ โดยราคาขายเหมารวมปลาอยู่ที่ 22-25 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากการเลี้ยงปลาเบญจพรรณแล้ว บริเวณขอบบ่อเพาะเลี้ยง พี่บุญส่งจะไม่ปล่อยพื้นที่ให้หญ้าขึ้นรกเปล่าประโยชน์ จะปรับใช้พื้นที่และนำปาล์มน้ำมันมาปลูกรอบๆ บ่อ ระยะห่างระหว่างต้นและแถว 3 เมตร จำนวน 2 แถว เก็บผลผลิตจำหน่าย อีกทั้งยังเพื่อช่วยป้องกันหน้าดินพังลงบ่อทำให้บ่อตื้นเขิน ซึ่งเป็นการทำการเกษตรที่เกื้อกูลกันระหว่างบ่อปลาและปาล์มน้ำมันที่ใช้น้ำจากบ่อเลี้ยงต้น
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณบุญส่ง วงศ์คำภู โทรศัพท์ 081-940-5284
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2564