เกษตรกรสมุทรปราการ เลี้ยงปลากะพง เป็นอาชีพ ทำเงินมากว่า 3 ทศวรรษ

คุณนิธิวัฒน์ วงศ์วิวัฒน์ ประมงอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรในพื้นที่ที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีมากกว่า 2,000 ราย ประกอบไปด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล ปลาสลิด ปลากดคัง และปลากะพง ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลให้ในเรื่องของการจำหน่ายปลากะพงได้รับผลกระทบ เพราะแหล่งที่เคยรับซื้อมีการซื้อขายที่ชะลอตัวลง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงที่มีอยู่ประมาณ 99 ราย ต้องมีการวางแผนการเลี้ยงที่เป็นระบบ และเตรียมตัวรับมือให้เท่าทันกับสถานการณ์ เพื่อให้ปลากะพงสามารถจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่องและเกษตรกรยังมีผลกำไรในช่วงวิกฤตนี้

คุณนิธิวัฒน์ วงศ์วิวัฒน์ ประมงอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

“ช่วงโควิด-19 แรกๆ ที่ผ่านมา ทางสำนักงานประมงอำเภอบางบ่อ ก็ได้รับเรื่องจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานประมงจังหวัดก็ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และนำผลของข้อมูลของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงไปหาประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อจะดำเนินการด้านความช่วยเหลือให้กับเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพง โดยในอนาคตเราก็จะมีแผนดำเนินงาน คือการขึ้นทะเบียนให้กับเกษตรกร เพื่อสร้างเป็นแปลงใหญ่ผู้เลี้ยงปลากะพง ก็จะช่วยให้เกษตรกรเกิดความเข้มแข็งในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการจำหน่ายผลผลิตที่สามารถทำการต่อรองตลาดได้เป็นอย่างดี และมีการแปรรูปที่ได้มาตรฐานในอนาคตต่อไป” คุณนิธิวัฒน์ กล่าว

คุณเดชา พรหมศรี อยู่บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเกษตรกรที่มีความชำนาญในเรื่องการเลี้ยงปลากะพงเป็นอย่างมาก โดยดำเนินการเลี้ยงปลากะพงมาตั้งแต่ปี 2528 ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมามากกว่า 30 ปี จึงทำให้ปลากะพงเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ของเขา และจะยังคงทำต่อไปเพื่อให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงในพื้นที่นี้มีความเข้มแข็งและเป็นอาชีพที่ยั่งยืน

คุณเดชา เล่าว่า ก่อนที่จะมาเริ่มเลี้ยงปลากะพง ช่วงแรกเลี้ยงกุ้งกุลาดำและกุ้มก้ามกรามมาก่อน ต่อมาการเลี้ยงกุ้งค่อนข้างที่จะเกิดปัญหาทำให้ต้องหยุดการเลี้ยงไป ซึ่งในระหว่างที่เลี้ยงกุ้งอยู่มีบ่อสำหรับการเลี้ยงปลากะพงไว้อยู่บ้างภายในฟาร์ม เมื่อตัดสินใจว่าจะเลิกเลี้ยงกุ้งจึงทำให้ได้มีการปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงปลากะพงอย่างเต็มตัว และมีการพัฒนาการเลี้ยงอยู่เสมอ จนสามารถเลี้ยงปลากะพงเป็นอาชีพหลัก บนเนื้อที่มากกว่า 30 ไร่มาถึงปัจจุบัน

คุณเดชา พรหมศรี (คนที่ 1 จากด้านซ้าย)

“สมัยแรกที่ผมเลี้ยงการพัฒนาลูกพันธุ์ปลากะพง ยังไม่เหมือนสมัยนี้ ผมก็มีการปรับตัวและนำมาเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จ โดยปัจจุบันผมเลี้ยงปลากะพงอยู่ประมาณ 14 บ่อ ก็ขยับขยายการเลี้ยงมาเรื่อยๆ ทำให้เรารู้หลักการ และเลี้ยงปลาให้ได้คุณภาพตรงตามตลาดต้องการ ก็จะช่วยให้เกิดรายได้ เป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้” คุณเดชา เล่าถึงความเป็นมา

ในการเลี้ยงปลากะพงจนกว่าจะได้ปลาที่ได้ไซซ์ขนาดที่ตลาดต้องการ คุณเดชา บอกขั้นตอนการเลี้ยงดังนี้ว่า หลังจากที่จับปลากะพงจำหน่ายจนหมดบ่อแล้วจะตากบ่อให้แห้งทันที ถ้าหากบ่อหลังตากแดดแล้วไม่แห้งต้องนำรถแบ๊คโฮมาตักหน้าดินออกเพื่อกำจัดหน้าดินที่เสียออกจากพื้นบ่อให้หมด หลังจากนั้นเมื่อเห็นว่าภายในบ่อแห้งสนิทดีแล้วนำปูนขาวมาโรยให้ทั่ว ปล่อยน้ำเข้าภายในบ่อ ทิ้งไว้ประมาณ 7-8 วัน จึงนำลูกปลากะพงที่ผ่านการอนุบาลมาปล่อยเลี้ยงภายในบ่อได้ทันที

การคัดไซซ์ลูกปลากะพงจากบ่ออนุบาล

ซึ่งการอนุบาลลูกปลากะพงให้ได้เป็นปลาไซซ์นิ้วนั้น จะนำลูกปลากะพงไซซ์ใบมะขามมาอนุบาลในบ่อ ขนาด 2 ไร่ ระดับน้ำภายในบ่อให้มีความสูงอยู่ที่ 80 เซนติเมตร ปล่อยลูกปลากะพงในอัตราส่วน 50,000-70,000 ตัว ต่อบ่อ ใช้เวลาอนุบาลประมาณ 1 เดือน พร้อมทั้งให้ลูกปลากะพงกินอาหาร วันละ 2 มื้อ ในช่วงเช้าและเย็น โดยอาหารมีเปอร์เซ็นต์โปรตีนมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

เมื่ออนุบาลลูกปลากะพงได้ระยะเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นจะนำตะแกรงมาร่อนลูกปลาเพื่อคัดไซซ์ให้ได้ปลากะพงที่มีขนาด 3 นิ้วขึ้นไป โดยนำไปเลี้ยงในบ่อสำหรับเลี้ยงเพื่อสร้างเป็นปลาไซซ์ใหญ่ ปล่อยเลี้ยงอัตราส่วน 10,000 ตัว ต่อบ่อ ขนาด 2 ไร่ ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 5 เดือน โดยในระยะนี้จะให้กินอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ และขนาดของเบอร์อาหารจะใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามขนาดของตัวปลา

“ปลากะพงในเรื่องของการดูแลเราต้องใส่ใจ บางครั้งช่วงที่เราปล่อยเลี้ยงได้ 7 วัน เกิดลูกปลาตายก็มี เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาเราก็ต้องทำการเช็กน้ำ ให้มีความพร้อมสำหรับเลี้ยงอยู่เสมอ พร้อมทั้งมีการใช้เครื่องตีน้ำเข้าช่วย ก็จะทำให้ปลากะพงไม่เกิดปัญหา มีเปอร์เซ็นต์การรอดตาย และเติบโตไปเป็นปลาไซซ์ใหญ่ เป็นปลาที่มีคุณภาพจนสามารถจับขายได้” คุณเดชา บอก

ในเรื่องของการทำตลาดจำหน่ายปลากะพง คุณเดชา เล่าว่า จะมีลูกค้าเข้ามารับซื้อถึงปากบ่อและตีราคาการซื้อขายตามกลไกตลาด โดยลูกค้าจะนำคนเข้ามาจับและทำการคัดไซซ์ ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปกติปลากะพงที่จำหน่ายจะเป็นปลาที่มีขนาดไซซ์ขึ้นจาน น้ำหนักอยู่ที่ 800 กรัม ถึง 1.2 กิโลกรัม ต่อตัว แต่ถ้าสถานการณ์โควิด-19 มีการรับซื้อแบบชะลอตัวไม่มีลูกค้าเข้ามาจับ ก็จะปล่อยเลี้ยงให้เป็นปลาที่มีขนาดไซซ์ใหญ่ อยู่ที่น้ำหนัก 3-5 กิโลกรัม ต่อตัว

โดยราคาปลากะพง น้ำหนัก 600-800 กรัม ราคาอยู่ที่ 100-120 บาท ต่อกิโลกรัม และปลากะพงน้ำหนักอยูที่  3-5 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท จากสถานการณ์โควิด-19 ในระยะนี้ ค่อนข้างส่งผลต่อราคาการจำหน่ายปลากะพงเป็นอย่างมากทำให้ราคาลดลง แต่ถ้าเป็นราคาสมัยก่อนสถานการณ์โควิด ราคาสามารถตามกลไกตลาด สามารถขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 160-180 บาท

ปลากะพงไซซ์ที่ตลาดต้องการ

“ช่วงนี้บอกเลยว่า ราคาค่อนข้างถูก ทำให้เกษตรกรเลี้ยงปลากะพง ต้องมีการวางแผนการเลี้ยงที่ดี เพื่อไม่ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งการเลี้ยงปลากะพงจะให้ประสบผลสำเร็จ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของทุน เพราะปลากินอาหารทุกวัน ถ้าเรามีทุนที่มาหมุนเวียนในฟาร์มที่ดี ช่วงวิกฤติต่างๆ เรายังมีทุนหมุนอยู่ก็จะช่วยได้มาก แต่ถ้าทุนไม่มีช่วงราคาตกและต้องขายในช่วงราคาไม่ดีก็จะทำให้ขาดทุนได้ เพราะฉะนั้นการมีทุนที่ดีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ” คุณเดชา บอก

ปลากะพงไซซ์ใหญ่ น้ำหนักอยู่ที่ 3-5 กิโลกรัม ต่อตัว

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลากะพง หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณเดชา พรหมศรี หมายเลขโทรศัพท์ 065-351-9265