“ปลาย่ำสวาท” เลี้ยงในกระชังอวนแบบธรรมชาติ เกาะช้าง จังหวัดตราด

“ปลาย่ำสวาท” หรือ “ปลากะรังจุดฟ้า หรือปลากุดสลาด” เป็นปลาที่หายาก มีรสชาติอร่อยสุดยอด เป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ ปัจจุบัน ที่เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก จังหวัดตราด บริเวณชายฝั่งทะเลเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะรังจุดฟ้าในกระชังธรรมชาติ 5-6 แห่ง โดยเกาะช้างจะเป็นแหล่งที่เลี้ยงมากที่สุด การเลี้ยงใช้ลูกพันธุ์ธรรมชาติ เพราะการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ลูกปลาเชิงพาณิชย์ทำได้ยาก จึงทำให้ราคาปลาย่ำสวาท สูงถึงกิโลกรัมละ 900-1,200 บาท ด้วยรสชาติความอร่อยของเนื้อปลา โดยเฉพาะปลาดิบ ซาซิมิที่ขึ้นชื่อ ทุกวันนี้มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงหน้ากระชัง และรวมทั้งบรรดาร้านอาหารบนเกาะช้างนำไปทำเมนูรับนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านได้ดีทีเดียว

บ้านด่านใหม่ คลองสน เกาะช้าง
เลี้ยงมานาน ร่วม 30 ปี

ผู้ใหญ่เนรมิตร นพวรรณ หรือ ผู้ใหญ่มิตร อยู่บ้านเลขที่ 47 หมู่ที่ 2 บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด วัย 50 ปี เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 และผู้เลี้ยงปลากะรังจุดฟ้า หรือชาวบ้านมักเรียกกันสั้นๆ ว่า ปลากะรัง เล่าว่า เดิมครอบครัวทำประมงพื้นบ้าน สวนยางพารา สวนมะพร้าว สวนทุเรียน การเลี้ยงปลากะรังจุดฟ้าเป็นอาชีพเสริมตั้งแต่รุ่นพ่อ ส่วนตัวเองเลี้ยงต่อมาร่วม 30 ปี เลี้ยงในพื้นที่เป็นชายฝั่งทะเลเกาะช้างที่บ้านด่านใหม่ (เดิมชื่อ บ้านด่านเก่า) มีพื้นที่บังลม คลื่นลมไม่แรง ปัจจุบันที่เกาะช้างมีชาวบ้านเลี้ยงกัน หมู่ที่ 2 บ้านด่านใหม่ หมู่ที่ 3 บ้านคลองสน 2-3 ราย ที่เลี้ยงกัน 10-30 กระชัง และที่บางเบ้า สลักเพชร เจ๊กแบ๊ เลี้ยงกันไม่มาก 2-3 ราย ด้วยข้อจำกัดที่ พื้นที่เลี้ยงจะจำกัดตามที่เคยเลี้ยงดั้งเดิมกันมาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จะขยายออกไปอีกไม่ได้ ลูกพันธุ์ปลาธรรมชาติมีน้อย การเลี้ยงค่อนข้างยาก และต้องใช้เวลา 12-16 เดือน กว่าจะโตจับขายได้

คุณอิษฎา เสาวรส ผู้อำนวยการ ททท.สนง. จังหวัดตราด

เลี้ยงกระชังอวนธรรมชาติ 12-16 เดือน
น้ำสะอาด ไหลเวียน ดูแลเป็น

ผู้ใหญ่มิตร เล่าว่า เดิมทีเดียวเลี้ยงปลากะรัง 70-100 ตัว เพราะมีทุนน้อย หาปลาเหยื่อมาให้กินเอง พอเริ่มเลี้ยงไปได้ 2 ปี เริ่มมีทุน มีพ่อค้ามาซื้อ จึงขยายกระชังเลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยซื้อลูกพันธุ์ปลา และปลาเหยื่อจากชาวประมงในหมู่บ้าน ปัจจุบันเลี้ยงอยู่ 10 กระชัง ติดกันเป็นแปลงของพี่ชาย 30 กระชัง เป็นพื้นที่ของพ่อเคยเลี้ยงมาก่อน วิธีการเลี้ยงด้วยกระชังอวนนั้นมีส่วนประกอบ 4-5 ข้อ คือ

1) สภาพพื้นที่เลี้ยงชายฝั่งทะเลระยะความลึก ประมาณ 1.5-2 เมตร เพื่อให้กระชังปลาได้อยู่อย่างเหมาะสมกับระดับน้ำขึ้นน้ำลงเป็นบริเวณแหล่งน้ำสะอาด น้ำไหลเวียน แปลงที่เลี้ยงแบ่งเป็นช่องๆ เพื่อแขวนกระชังอวนและเว้นระยะช่องด้านหัวอวนให้เรือเข้าไปให้อาหารปลาได้ทุกกระชัง

กระชังปลา

2) การทำกระชังอวน ขนาด 4×4 เมตร หรือ 4 ลูกบาศก์เมตร ทำหูอวนนำไปมัดแขวนไว้กับเสาปูนแปลงที่เลี้ยงปลา กระชังต้องมีฝาปิดเพราะถ้าหูกระชังขาดปลาจะกระโดดออก กระชังลูกหนึ่งจะมีอายุใช้งานเป็น 10 ปี กระชังใหม่ๆ ก่อนปล่อยลูกปลาต้องนำไปแช่น้ำให้ตะไคร่น้ำเกาะเส้นอวนอ่อนก่อน 3 วัน จะได้ไม่คมบาดลูกปลา

3) การปล่อยลูกพันธุ์ปลากะรัง ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม นำลูกพันธุ์ปลากะรังตามธรรมชาติปล่อยในกระชัง อัตรากระชังละ 100-150 ตัว

ปลาย่ำสวาท หรือกะรังจุดฟ้า

4)การให้อาหาร เหยื่อเป็นปลาแป้น หรือลูกปลาสดๆ ตัวเล็กๆ วันละ 1 ครั้ง เลือกตอนช่วงเวลาน้ำขึ้นเพราะปลาจะลอยตัวมาฮุบเหยื่อ
และ

ปลาเหยื่อ

5) การจับขาย ประมาณ 12-16 เดือน เมื่อปลาโตได้ขนาดตัวละ 7 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม จะจับขาย โดยใช้สวิงช้อนใส่ตะกร้าลอยน้ำลากเข้ามาในฝั่ง พ่อค้าที่รับซื้อจะมีถังน้ำให้ออกซิเจนใส่ปลาเป็นๆ ไป

ปัญหาลูกพันธุ์หายาก
อัตราการตาย 20% เลี้ยงไม่ง่าย

ผู้ใหญ่มิตร เล่าถึงปัญหาการเลี้ยงปลากะรัง ว่า
ปัญหาแรกคือ ลูกพันธุ์หายาก ต้องรับซื้อจากชาวประมงที่ออกไปดักลอบจากทะเลรอบเกาะช้าง หรือบริเวณชายฝั่ง ปลาจะอยู่บริเวณปะการังน้ำตื้น ตามซอกหิน เมื่อดักลอบมาจะมีปลากะรังจุดฟ้าปะปนมาบ้าง ได้ครั้งละ 3-4 ตัว ขนาดตัวละ 2-4 ขีด กิโลกรัมละ 400-500 บาท ต้องแยกใส่กระชังเลี้ยงตามขนาด เพื่อจะได้ทยอยเลี้ยงมีขายตลอดปี

2) การให้อาหาร ปริมาณจะเพิ่มตามขนาดปลา ต้องสังเกตว่าปริมาณแค่ไหนปลาจะอิ่ม ดูจากความไวการฮุบเหยื่อ ถ้าช้า แสดงว่าเริ่มอิ่ม เหยื่อ ใช้ปลาแป้นตัวเล็กๆ สดๆ ที่ชาวบ้านวางอวนแล้วติดมา กิโลกรัมละ 10 บาท นำมาเก็บไว้ในถังน้ำแข็งให้สด

3) ปัญหาน้ำเสีย สังเกตว่าถ้าจับลูกปลาเล็กๆ อายุ 2-3 เดือน บริเวณที่มีแมงกะพรุนเข้ามามาก มาขังไว้ก่อนลงกระชังจะตายง่าย รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้ปลาตายก่อนครบกำหนดจับขายได้เป็นความเสียหายประมาณ 20%

ตะกร้าลอยน้ำ นำปลาจากกระชังส่งให้พ่อค้า

“ปลากะรังไม่ใช่เลี้ยงง่าย ต้องใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านหมั่นคอยสังเกตดูอาการของปลากะรังที่เลี้ยงและแก้ปัญหาไป อย่างการให้อาหารถ้าฮุบเหยื่อเร็วก็ไม่อิ่ม ต้องเพิ่มเหยื่อ หรือบางครั้งปลาโตหัวแข็งเรียกหัวตะกั่ว เวลาแย่งเหยื่อหัวชนกัน ทำให้บาดเจ็บตัวปลาพองลม ต้องคัดออกมาขายไปเป็นๆ ในราคากิโลกรัมละ 300 บาท ลดกว่าราคาปกติกว่าครึ่ง หรือเลี้ยงไปมีตายในกระชังไม่ทราบสาเหตุเราต้องรีบเก็บออกไปหมักทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ไว้ 1 ปีไว้ใช้เอง ให้ปุ๋ยผลไม้ดีมาก เปรียบเทียบการตายเลี้ยง 1,000 ตัว จะจับขายได้ 800 ตัว คือสูญเสียไป 20% ถ้าเสียหายตอนตัวใหญ่รายได้จะเหลือน้อย” ผู้ใหญ่มิตร กล่าว

ราคากิโลกรัมละ 900-1,200 บาท

ผู้ใหญ่มิตร เล่าถึงราคาปลากะรังจุดฟ้า ว่า เป็นราคาที่สูงตั้งแต่กิโลกรัมละ 900 บาท เคยพุ่งสูงถึง 1,200 บาท เพราะกลุ่มลูกค้าที่บริโภคเป็นกลุ่มคนมีเงิน ทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งระยะหลังๆ มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ร้านอาหาร โรงแรม มีการซื้อไปทำเมนูอาหารปลาดิบซาซิมิ หรือเมนูอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวทาน จึงขายให้ในท้องถิ่นบ้างแต่แค่ร้านละ 3-4 ตัว แต่ช่วง 1-2 ปี มีปัญหาโควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างประเทศเข้ามาไทยและในเกาะช้าง รวมทั้งคนไทยเข้ามาเที่ยวเกาะช้างด้วย ทำให้ราคาลดลงบ้างเหลือกิโลกรัมละ 900-950 บาท ซึ่งราคาต่ำกว่านี้จะขาดทุน ต้นทุนจากกระชังอวน ตกลูกละ 2,000-3,000 บาท ต้องลงมือทำเอง อายุการใช้งาน 10 ปีขึ้นไป แต่ต้องดูแลซ่อมตลอด การลงทุนแต่ละงวดใช้ต้นทุนประมาณกระชังละ 10,000 บาท มีค่าใช้จ่าย ค่าลูกพันธุ์ปลากิโกรัมละ 500 บาท ลูกปลาแป้นที่ให้อาหาร กิโลกรัมละ 10 บาท และต้องมีเวลาดูแลให้อาหารวันละ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 2 ชั่วโมง เป็นต้นทุนที่สูงและมีอัตราการตายถึง 20% ใช้เวลานานปีเศษจึงจะโตขายได้ ต้องเลี้ยงป็นรายได้เสริมจากอาชีพหลักทำสวน ทำประมง ทำกันได้เพราะมีพื้นที่ทำประมงอยู่ด้วย และอาศัยชาวประมงในหมู่บ้านหาลูกพันธุ์ อาหารเหยื่อได้สะดวก

ลอบดักปลาที่ได้ลูกปลากระรัง

ตลาดรับซื้อดี
พ่อค้าคนกลางออเดอร์

ก่อนหน้านี้มีพ่อค้ามาซื้อ 4-5 ราย บางรายมาให้เลี้ยงส่ง แต่เลือกที่ทำการซื้อขายง่ายๆ สบายใจ ถูกใจ ไม่โลภ ตอนนี้มีเจ้าประจำรายเดียว เมื่อมีออเดอร์พ่อค้ามาจะจับตามจำนวนนั้น ปลาในกระชังที่เลี้ยงไว้ 10 กระชัง ประมาณ 800-1,000 ตัว โตไม่เท่ากัน เมื่อมีออเดียวของพ่อค้ามาครั้งละ 100-150 ตัว ต้องเลือกจับปลาที่ได้ขนาดตัวละ 7 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม ที่เหลือเลี้ยงต่อให้โต วิธีการจับต้องใช้สวิงช้อนจากกระชังอวนใส่ตะกร้าอวนลากลอยน้ำเข้ามาฝั่ง พ่อค้าจะเตรียมถังน้ำใส่ออกซิเจนเตรียมขนส่งปลาเป็นๆ ไปส่ง มีบ้างที่ร้านอาหาร โรงแรมบนเกาะช้างมาซื้อไปทำอาหารให้นักท่องเที่ยวในช่วง 1-2 ปี เพราะ ททท.สำนักงานจังหวัดตราด จัดทำประชาสัมพันธ์ แต่มาชะงักไปบ้างช่วงโควิด-19

ทั้งนี้ แนวความคิดการเลี้ยงปลากะรังจุดฟ้าในเชิงพาณิชย์ คุณอรัญญา อัศวอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตราด กล่าวว่า การเพาะขยายพันธุ์ปลากะรังจุดฟ้าเชิงพาณิชย์ ทั้งๆ ที่เป็นปลาอัตลักษณ์ของจังหวัดตราด ปัญหาอยู่ที่การหาพ่อแม่พันธุ์ น้ำหนักขนาด 3 กิโลกรัม มาทดลองเป็นเรื่องยาก ทั้งๆ ที่สภาพพื้นที่จังหวัดตราด เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก อยู่ในสภาพเหมาะสม น้ำไหลเวียนสะดวก ปริมาณน้ำเค็มพอเหมาะ 25 ppt

ผู้ใหญ่เนรมิตร นพวรรณ

ทั้งนี้ แนวความคิดการเลี้ยงปลากะรังจุดฟ้าในเชิงพาณิชย์ คุณอรัญญา อัศวอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตราด กล่าวว่า การเพาะขยายพันธุ์ปลากะรังจุดฟ้าเชิงพาณิชย์ ทั้งๆ ที่เป็นปลาอัตลักษณ์ของจังหวัดตราด ปัญหาอยู่ที่การหาพ่อแม่พันธุ์ น้ำหนักขนาด 3 กิโลกรัม มาทดลองเป็นเรื่องยาก ทั้งๆ ที่สภาพพื้นที่จังหวัดตราด เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก อยู่ในสภาพเหมาะสม น้ำไหลเวียนสะดวก ปริมาณน้ำเค็มพอเหมาะ 25 ppt

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2564