เกษตรกรวัยเกษียณ เลี้ยงปลาบ่อรวม เน้นผสมผสาน ไม่เหนื่อยมาก แต่มีรายได้

ในช่วงนี้อาจได้ยินในเรื่องของประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอยู่เสมอ ทำให้เริ่มมีการเตรียมตัวปรับตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะเกษียณจากงานประจำก็มักมองอาชีพทางการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลังเกษียณ จึงมีการจัดเตรียมตัวอย่างเป็นระบบ เพื่อหาอาชีพทำในวัยเกษียณ อย่างน้อยเพื่อให้มีกิจกรรมทำและสามารถเกิดรายได้ยามว่างได้เป็นอย่างดี

คุณสมใจ ไวทยกุล (ซ้าย)

คุณสมใจ ไวทยกุล อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 5 ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี หญิงวัยเกษียณที่มากด้วยความสุขจากสิ่งที่เธอทำ คือการเลี้ยงปลา ซึ่งภายใน 1 บ่อ จะปล่อยปลามากกว่า 3 ชนิด ปลาสามารถเจริญเติบโตได้ดี การเลี้ยงของเธอทำให้อัตราการรอดของปลาค่อนข้างสูง เน้นให้อาหารที่หาได้จากชุมชน และที่สำคัญเมื่อปลาโตจำหน่ายได้ราคา

คุณสมใจ เล่าให้ฟังว่า ไม่คิดไม่ฝันว่าชีวิตจะได้มาเลี้ยงปลาแบบที่เป็นอยู่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ดำรงชีวิตเป็นแม่บ้าน แต่เนื่องจากพี่ชายของเธอมาขอยืมที่ดินเพื่อเลี้ยงปลา ต่อมาพี่ชายเสียชีวิตเธอจึงได้หันมาประกอบอาชีพนี้โดยตรง

“ช่วงแรกประมาณปี 54 หลังจากที่ต้องมาเลี้ยงต่อจากพี่ชาย ช่วงนั้นไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมากนัก ปลาก็จะต้องหากินเอง เรียกง่ายๆ ว่า ยังไม่มีความพร้อมทำด้านนี้มากนัก พออายุปลาครบกำหนดจำหน่ายได้ก็ให้เขามาจับไปทั้งบ่อ คราวนี้เราก็เลยเริ่มที่จะมาทำด้านนี้เต็มตัว โดยเริ่มตั้งแต่เรียนรู้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่เริ่มปล่อยลูกปลาขนาดเล็กๆ ไปเลย” คุณสมใจ บอก

บ่อขนาด 15 ไร่

ในขั้นตอนแรกเป็นเรื่องของการเตรียมบ่อ คุณสมใจ บอกว่า ที่ดินทั้งหมดมีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ โดยแบ่งขุดเป็น 2 บ่อ ให้มีขนาดบ่อละ 15 ไร่ ความลึกของบ่อมีตั้งแต่ 1.50-2 เมตร ให้มีระดับที่แตกต่างกันไป

“พอเราเตรียมบ่อเสร็จ ก็เตรียมโรยปูนขาวให้ทั่ว จากนั้นวิดน้ำใส่ให้เต็ม และที่สำคัญต้องเตรียมหาขี้ไก่มาลงในบ่อด้วย เพราะว่าเราต้องเตรียมน้ำให้พร้อม เพื่อให้มีอาหารตามธรรมชาติให้กับลูกปลา ประมาณอาทิตย์หนึ่งก็จะเกิด พวกไรแดง เป็นอาหารได้ดีมากในช่วงนั้น” คุณสมใจ บอก

เมื่อบ่อพร้อมสำหรับเลี้ยงปลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณสมใจ บอกว่า จะเตรียมปล่อยปลาทุกชนิดลงไปพร้อมกันหมด ไม่มีเว้นระยะ โดยแหล่งปลาที่ซื้อต้องมีความน่าเชื่อถือพอสมควร ปลาแต่ละชนิดที่ซื้อมาปล่อย อยู่แต่ละจังหวัดที่แตกต่างกัน

โดยบ่อขนาด 15 ไร่ เลี้ยงปลาแบบรวม จะปล่อยปลานิล จำนวน 5 หมื่นตัว ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ ปลาจีน และปลาสวาย อย่างละ 1 หมื่นตัว เลี้ยงรวมกันทั้งหมดภายในบ่อเดียว ในระยะแรกลูกปลาทั้งหมดจะกินอาหารจากธรรมชาติที่เตรียมไว้ จากนั้นผ่านไปประมาณ 7 วัน จึงจะให้อาหารในรูปแบบอื่นบ้าง เช่น รำข้าว มะละกอสุก กล้วยสุก ซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้องให้วันละกี่ครั้ง แต่จะดูจากอาหารที่หามาได้เสียมากกว่า

คุณสมใจ โปรยรำให้อาหารปลา

“เศษอาหารที่จะให้ปลาก็จะเป็นกากถั่วเหลือง พวกขนมปัง เศษขนมอะไรพวกนี้ ดูตามความเหมาะสม ถ้าวันไหนมีเราก็จะให้ วันไหนไม่มีมาปลาก็อดไป คือเรียกว่าหาอะไรในบ่อกินเอาเอง ซึ่งจากที่ศึกษามา กากถั่วเหลืองนี่ จะให้เปอร์เซ็นต์โปรตีนประมาณ 11-12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถึงจะน้อยกว่าอาหารทั่วไปแต่ดูแล้วมันคุ้มค่า เพราะว่าเราก็ติดต่อขอมาฟรี ต้นทุนเราก็จะถูกลง ไม่เน้นเลยอาหารเม็ด” คุณสมใจ กล่าวถึงการให้อาหาร

สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดในการเลี้ยงปลาของคุณสมใจคือ ตัวเงินตัวทอง และนก เพราะชอบมากินปลาในบ่อ ส่วนเรื่องการตายก็อาจมีเกิดขึ้นบ้างถือเป็นเรื่องปกติ เพราะบางครั้งที่วิดน้ำเพิ่มเข้ามาภายในบ่อปลาปรับตัวไม่ทันก็ตายได้เช่นกัน

ปลาตะเพียน

เรื่องตลาดส่งจำหน่าย ยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่าที่ควร เมื่อถึงเวลาจะมีคนมารับซื้อถึงหน้าบ่อเลี้ยง ซึ่งเธอจะต้องเป็นผู้เช็กราคาอยู่เสมอว่าช่วงนี้ราคาปลาอยู่ที่เท่าไหร่ หากพอใจก็สามารถสั่งให้เขามารับซื้อได้เลยถึงที่

คุณสมใจ บอกว่า จากการเลี้ยงด้วยวิธีนี้ยังถือว่าราคาปลายังดีอยู่ เพราะได้ราคาที่หลากหลายเมื่อเทียบกับปลาที่เลี้ยงแบบเดี่ยวๆ ซึ่งปลาที่จับจำหน่ายก่อนช่วง 6 เดือน อาจจะเล็กหน่อย แต่ก็คือเงินต้นทุนที่ลงไปในครั้งแรก ส่วนปลาที่เหลือที่เลี้ยงให้ครบ 1 ปี ขนาดไซซ์ก็ใหญ่ขึ้นซึ่งผลกำไรทั้งหมดจึงอยู่ที่การจับในครั้งที่ 2

กากถั่วเหลือง

คุณสมใจ บอกว่า บ่อปลาที่ได้มาลงมือทำนั้นตัวเธอเองก็ไม่ได้คิดที่จะทำ ถ้าจะให้คนอื่นเช่าทำต่อก็ใช่ว่าจะได้เงินมากนัก จึงตัดสินใจลองเลี้ยงดูก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย แต่ ณ เวลานี้กลับกลายเป็นสิ่งเพลิดเพลินและหลงรักไปเสียแล้ว

“พอได้มาทำตรงนี้ ตั้งแต่เช้าก็จะออกมาให้อาหารปลาเองตลอด ก็ให้ไปเรื่อยๆ ให้ปลาได้กินทุกตัว อย่างมะละกอ 1 ลูก นี่ปลานั่งได้เป็นชั่วโมง เหมือนเราชอบในทุกๆ วัน ว่าต้องมานั่งให้อาหาร รู้สึกมีความสุขมากมันเพลินดี ซึ่งจากการที่ได้มาสังเกตุทุกวัน มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องให้อาหารปริมาณเท่าไหร่ เพราะเราไม่ให้มากเกินไป มันก็เลยทำให้น้ำในบ่อสะอาด เพราะไม่มีของเสียมากเกินควร ณ เวลานี้บอกเลยทำอย่างนี้เราอยู่ได้ แล้วก็มีรายได้มีเงินเป็นก้อนด้วย” คุณสมใจ บอก

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมใจ ไวทยกุล หมายเลขโทรศัพท์ 081-255-5422