เที่ยวและชิม “สวนเวียงทุเรียนภูเขาไฟ” อร่อย สนุก ได้ความรู้

คุณเวียง สุภาพ บ้านซำขี้เหล็ก เลขที่ 236 หมู่ที่ 10 ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โทรศัพท์ 080-153-4936 เจ้าของ “สวนเวียงทุเรียนภูเขาไฟ” เป็นหนึ่งในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาการผลิตทุเรียน มีจุดเด่นคือการปลูกทุเรียนอินทรีย์

คุณเวียง สุภาพ
มุมสวยไว้สำหรับบันทึกบรรยากาศภายในสวน
ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษอินทรีย์ ปลอดภัย อร่อยด้วย

“สวนเวียงทุเรียนภูเขาไฟ” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่กำลังได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ โดยเปิดบริการให้เข้าชมสวนผลไม้ มีการจัดให้ชิมผลไม้แบบบุฟเฟ่ต์ และจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับมาตรฐานการปลูกไม้ผล GAP

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถเลือกซื้อสินค้าจากตลาดเกษตรชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มไม้ผลทุเรียนภูเขาไฟ ตลอดจนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำสวนทุเรียนกับคุณเวียงได้อย่างเป็นกันเอง ที่สำคัญสวนคุณเวียง ยังได้ปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยมาตรฐาน SHA สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้อย่างเต็มที่

เที่ยวและชิม “สวนเวียงทุเรียนภูเขาไฟ” อร่อย สนุก ได้ความรู้
นักท่องเที่ยวหลายกลุ่มเข้ามาสวนอย่างคึกคัก

สวนทุเรียนคุณเวียง มีเนื้อที่ทั้งหมด 9 ไร่ จัดวางรูปแบบสวนผลไม้ผสมผสานอย่างทุเรียน เงาะ มังคุด ซึ่งในบรรดาผลไม้ทั้งหมดปลูกทุเรียนหมอนทองเป็นหลัก ที่เหลือเป็นพันธุ์อื่นอย่างละเล็กน้อย นอกจากนั้น บริเวณสวนมีลานกว้างเหมาะสำหรับการกางเต๊นท์ จัดแคมปิ้ง พร้อมกับจัดมุมสวยไว้สำหรับบันทึกบรรยากาศภายในสวน

รูปแบบการเข้าเที่ยวในสวนคุณเวียง ทางสวนจะเก็บทุเรียนที่ได้กำหนดเวลา หรือแก่พร้อมทาน พร้อมกับไม้ผลชนิดอื่นมาจัดวางเพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อ หรือหากต้องการถ่ายภาพน่ารักคู่กับไม้ผล ทางสวนจัดมุมสวยๆ น่ารักไว้บริการเพื่อลงในโซเชียล สร้างสีสันความสนุกสนานอีกด้วย

รางวัลสวนทุเรียนอินทรีย์ดีเด่น ที่ได้รับมากมาย
ทุเรียนและไม้ผลชนิดอื่นที่สวนคุณเวียง

คุณเวียง เผยว่า จำนวนผลผลิตทุเรียนในแต่ละปีไม่สามารถกำหนดได้ เพราะการปลูกแบบอินทรีย์มีตัวแปรและปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อการปลูก แต่จากข้อมูลหลายปีที่ผ่านมา ถ้าต้นอายุเก่าแก่จะให้ผล ประมาณ 100 กว่าต่อต้น และจำนวนลดหลั่นลงมาตามอายุต้น

ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ มีรสชาติและคุณภาพแตกต่างจากทุเรียนแหล่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่นที่ไม่ฉุนมาก และหอม เนื้อละเอียด แห้ง ไม่แข็ง มีความหวานพอดี จึงเป็นจุดเด่นของทุเรียนภูเขาไฟ เรียกว่าหากสายทุเรียนแล้วจะรับรู้ถึงความต่างทันที

ทุเรียนและผลไม้ในสวนคุณเวียงไม่สามารถกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้ในแต่ละรอบปี ทั้งนี้ เนื่องจากวิธีปลูกแบบอินทรีย์ที่มีขั้นตอนการผลิตมากมาย อีกทั้งการปลูกทุเรียนแนวปลอดภัยเช่นนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องศัตรูอย่างหนอน แมลง และโรคอย่างแน่นอน ปัญหาเช่นนี้คุณเวียงใช้วิธีสกัดศัตรูเหล่านั้นด้วยสารฉีดพ่นสารชีวภาพ อีกหนึ่งเหตุผลคือเรื่องความผันผวนของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

การเจริญเติบโตของทุเรียนในช่วงเวลาต่างๆ
ภายในบริเวณสวนมีลานสำหรับทำกิจกรรมหลายชนิด

ดังนั้น ลูกค้าที่ต้องการชิมจะต้องจองล่วงหน้า โดยมากเป็นขาประจำ ส่วนขาจรที่แวะมาคงต้องเสี่ยงดูว่าจะมีผลผลิตหรือไม่ จึงทำให้ผลผลิตทุเรียนสวนคุณเวียงใช้เวลาไม่กี่วันก็หมดแล้ว ขายเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาสวนเท่านั้น ไม่ได้ขายส่งทั่วไป

“ลูกค้าสั่งซื้อทางออนไลน์จำนวนมาก กับอีกกลุ่มเป็นขาประจำที่โทรศัพท์มาจองระบุจำนวน บางรายซื้อครั้งละ 500-600 กิโลกรัม อันนี้ยังไม่นับลูกค้าขาจรที่สนใจซื้อครั้งละจำนวนมากอีก”

แม้จะเป็นทุเรียนอินทรีย์ที่หลายคนคิดว่าต้องมีราคาแพงแน่นอน แต่เจ้าของสวนกลับบอกว่า ราคาขายทุเรียนในแต่ละปีมีขึ้น-ลง ขึ้นอยู่กับจำนวนและคุณภาพผลผลิต การตั้งราคาขายทุเรียนอินทรีย์คงไม่สูงกว่าราคาทุเรียนทั่วไป แม้ต้นทุนจะสูงกว่า แต่เห็นว่ากำลังซื้อของลูกค้าไม่ได้มีมากนัก แล้วอยากให้ลูกค้าได้ทานผลไม้อร่อยที่มีคุณภาพปลอดภัย

หอม กรอบ อร่อยจริงค่ะ
แกะเนื้อชิมความอร่อยกันแบบสดๆ

ขณะเดียวกันทางจังหวัดกำลังติดต่อช่องทางขายให้กับลูกค้าในตลาดบน เพราะเห็นว่าเป็นทุเรียนที่ปลูกแบบอินทรีย์ มีความปลอดภัย ลูกค้าตลาดบนน่าจะสนใจ สำหรับราคาขายปีนี้ (2565) กำหนดไว้ระหว่าง 200-300 บาท

“เชิญชวนผู้อ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านที่ชื่นชอบทานทุเรียนและผลไม้อื่นอีกหลายชนิด เข้ามาชมและเลือกซื้อได้ที่สวน “เวียงทุเรียนภูเขาไฟ ศรีสะเกษ” เพราะที่นี่ปลูกไม้ผลอินทรีย์ทุกชนิด มีความอร่อยและปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกท่านเข้ามาศึกษาดูงานอีกด้วย”

จุดขายทุเรียน

สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณเวียง สุภาพ โทรศัพท์ 080-153-4936 หรือติดตามทาง FB:สวนเวียง ทุเรียนภูเขาไฟ

 ขอบคุณ : สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2565