2 สาวเกษตรกรประมงรุ่นใหม่ หันเลี้ยงกุ้งออสเตรเลียน้ำจืด สีสันสวยงามแถมกินได้

ใช่ว่าแต่คนเท่านั้นที่ข้ามเส้นพรมแดน สรรพสัตว์ก็ข้ามแดนไปมาไม่รู้กี่ยุคสมัยมาแล้ว การข้ามแดนของพืชและสัตว์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ด้วยสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันอาจทำให้ยังชีวิตอยู่ไม่ได้ หรือทำให้สัตว์กลายพันธุ์ รวมทั้งอาจผสมข้ามพันธุ์ส่งผลให้สัตว์และพืชท้องถิ่นกลายพันธุ์ได้

กระนั้นอีกมุมหนึ่งสัตว์และพืชที่ข้ามแดนมาอาจเจริญเติบโตได้ดี กระทั่งนานไปก็กลายเป็นหนึ่งในเผ่าพันธุ์ประจำถิ่นไปโดยปริยาย

เรื่องราวของสัตว์ข้ามแดนผนวกกับเรื่องของหญิงสาวรุ่นใหม่ 2 คน ที่อยู่ในวัยทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว ทำให้ฉันสนใจสัตว์น้ำนามว่า กุ้ง ซึ่งไม่ใช่แค่กุ้งที่เห็นๆ กินๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อย่างที่เรารู้จักกันในนามกุ้งชีแฮ้ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วยประมาณนี้ แต่กุ้งที่ว่านี้มีชื่อแปลกหูและรูปทรงแปลกตา เป็นกุ้งสัญชาติต่างประเทศที่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย เป็นกุ้งน้ำจืด สวยงามและกินได้ด้วย

ฉันได้รับรู้เรื่องราวของกุ้งที่เดินทางไกลข้ามน้ำข้ามมหาสมุทรมาสู่ดินแดนอุษาคเนย์ จนอดรนทนไม่อยู่ต้องตามหา 2 สาว นักเลี้ยงกุ้งมาคุยด้วย ไม่ใช่แค่กุ้งที่น่าสนใจ หากว่า 2 สาว ก็น่าสนใจในแง่ของเกษตรกรประมงรุ่นใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องถือแหลากอวนออกไปล่าสัตว์ทะเล หนำซ้ำเป็นเกษตรกรประมงที่หน้าตาดีด้วยซิ

อรวรรณ กลั่นบุศย์ และ ทองกร พรหมถาวร เป็นเพื่อนสนิทชิดเชื้อที่เคยทำงานในบริษัทเดียวกันมาก่อน คนหนึ่งจบมหาวิทยาลัยด้านการเงิน คนหนึ่งจบด้านการโรงแรม แต่วันนี้หยุดการทำงานประจำหันมาเลี้ยงและศึกษาเรื่องกุ้ง

ทำไม หันมาเลี้ยงกุ้ง ฉันโยนคำถามในบ่ายวันหนึ่งที่เรานัดพบกัน ทองกร สาวร่างอวบพยักพเยิดให้เพื่อนสาวเป็นคนตอบ ในฐานะที่เป็นคนริเริ่มและศึกษาเรื่องกุ้งมาก่อน

“คืออย่างนี้ค่ะ” เธอเริ่มต้น “เมื่อประมาณต้นปี 2558 กระแสกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืดมาแรงมากในบ้านเรา จากการที่บังเอิญเลี้ยงอย่างไม่ได้ดูแลอะไรมาก แต่เวลาผ่านไปกุ้งตัวใหญ่ที่อยู่ในตระกูลเครย์ฟิชก็โตจนสามารถทานได้ ซึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงนำมาพัฒนาในโครงการหลวงทางภาคเหนือ แต่หลังจากนั้นเรื่องกุ้งนี้ก็เงียบไป ไม่เป็นกระแส”

ต่อมากุ้งที่ว่านี้ได้กลับมาคึกคักอีกครั้งในกลุ่มคนเลี้ยงกุ้งสวยงาม เห็นการเจริญเติบโตที่รวดเร็วจนสามารถทำเพื่อการค้าได้จริงจัง จึงเกิดสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ชื่อว่า กุ้งก้ามแดง

“ทางกลุ่มเราก็มองเห็นโอกาสในการพัฒนากุ้งเนื้อที่มีขนาดและคุณภาพที่ดีขึ้น” เธอเล่าต่อ “ในกุ้งเครย์ฟิชกลุ่มเดียวกันกับก้ามแดงนี้ ยังมีตัวที่ใหญ่กว่าก้ามแดงอีกคือ เดสทรัคเตอร์และมารอน ทั้งหมดล้วนมีต้นกำเนิดจากออสเตรเลียตะวันตก เดสทรัคเตอร์ ก็มีคนนำมาพัฒนาแล้ว  เราสนใจนำเข้า กุ้งมารอน ซึ่งมีอยู่ 2 สายพันธุ์ Cherax tenuimanus (hairy Marron) และ Cherax Cainii (Smooth Marron) มาเลี้ยงในไทย เพราะตัวแรกใกล้จะสูญพันธุ์ ส่วนอย่างหลัง Cherax Cainii นั้น มีการทำฟาร์มได้แล้วในออสเตรเลียตะวันตก

สีของกุ้งมารอนมีความหลากหลาย สีสันของกุ้งธรรมชาติก็ออกน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเขียว นานๆ ครั้งจะพบสีน้ำเงินเข้มสวยงาม ซึ่งพัฒนากันในกลุ่มผู้เลี้ยงสวยงาม บางทีก็ได้สีดำสนิท ซึ่งเรียกว่า jet-black หรือมีสีสันลวดลายที่เรียกว่า tiger”

แค่ฟังการเกริ่นนำเรื่องกุ้งก็รู้สึกว่าไม่ธรรมดา เล่นเอาคนที่รู้จักกุ้งอยู่แค่ไม่กี่ชนิดถึงกับอึ้งและทึ่ง สัตว์โลกของเรานี้ล้วนมีความหลากหลาย แค่กุ้งก็มีไม่รู้กี่ชาติพันธุ์กุ้ง กระนั้นการนำกุ้งข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามานั้น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายต่อการฟูมฟักเลี้ยงดู กุ้งต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อสามารถเติบใหญ่แข็งแรงในสภาพแวดล้อมที่แปลกเปลี่ยน สิ่งสำคัญก็คนเลี้ยงนั่นแหละดูแลได้แค่ไหน

“ได้ลองจริงๆ ลองผิดลองถูกสูญเสียมาก็เยอะ ตอนนี้ถือว่าดี เริ่มอยู่ตัว เป้าหมายหลักคือ ให้เขาขยายพันธุ์ให้ได้ในอุณหภูมิปกติของบ้านเรา เพราะจากถิ่นกำเนิดน้ำที่กุ้งอยู่คือ อุณหภูมิราวๆ 20-24 องศา ถ้าร้อนกว่านั้นกุ้งจะเครียดและตายลงในที่สุด” สาวร่างเล็กตอบ ก่อนที่ทองกรจะเสริมต่อว่า

“ตอนนี้เราประสบความสำเร็จในการปรับอุณหภูมิแล้ว ถ้าสามารถขยายพันธุ์ได้เมื่อไหร่ ก็ถือว่าบรรลุจุดประสงค์ ช่วงที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์ก็คือ ช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่บ้านเราไม่มี เราก็ปรับเอาว่าไปก็เหมือนหลอกกุ้ง อากาศประมาณนี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้เขาผสมพันธุ์ได้เร็วขึ้น ตอนนี้ก็มีคนในวงการที่รู้จักสายพันธุ์นี้ ก็มาซื้อและศึกษาพฤติกรรมเพื่อขยายพันธุ์กันอยู่หลายราย”

“เลี้ยงกุ้งก็เหมือนเลี้ยงหมา” ทองกร ว่า เล่นเอาฉันขำและสงสัยว่ากุ้งกับหมามันจะไปเหมือนกันได้อย่างไร อย่างแรกเลยกุ้งต้องอยู่กับน้ำ ส่วนหมากว่าจะจับอาบน้ำได้เจ้าของเหงื่อตกกีบ

“กุ้งก้ามแดงเหมือนหมาวัด เลี้ยงง่าย ส่วนมารอนเหมือนหมาฝรั่ง ที่ต้องประคบประหงม” ทองกร เฉลย

ฉันพินิจดูกุ้งในกล่องพลาสติก เป็นกุ้งที่กำลังแรกรุ่นเจริญศรี ซึ่งเจ้าของผู้นำเข้าข้ามแดนมาต้องกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูอย่างที่เปรียบเปรยได้ว่า ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอมกันเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่เลี้ยงไว้ดูเล่นเพลิดเพลินเจริญตาเท่านั้น เธอทั้งคู่ยังมุ่งหวังที่จะพัฒนากุ้งของเธอให้เติบโตแข็งแกร่ง กระทั่งสามารถขยายพันธุ์ได้มากพอที่จะส่งขายให้แก่คนสนใจ   และถึงที่สุดให้เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้

เรื่องของการเลี้ยงกุ้งน้ำจืดที่ข้ามมหาสมุทรมาสู่ดินแดนอุษาคเนย์ ยังมีรายละเอียดอีกมากที่น่าสนุกต่อการค้นหา ซึ่งฉันจะนำพามาพบกันอีกในตอนต่อไป