ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง แจกฟรีไข่น้ำ (ผำ) ให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงเป็นอาหารปลา

วันที่ 23 ตุลาคม 2565 นางสุวรรณดี ขวัญเมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง นำผู้สื่อข่าวไปชมการเพาะเลี้ยงไข่น้ำ หรือผำ ที่สามารถนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาได้

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง เลขที่ 10 หมู่ที่ 4 ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ไข่น้ำ และนำมาใช้เลี้ยงลูกปลา และปลาโตเต็มวัย เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารปลาที่ปรับราคาสูงขึ้นข้อดีของการนำไข่น้ำหรือผำไปใช้เลี้ยงปลา คือ ช่วยให้ปลาโตเร็วแข็งแรง เพราะไข่น้ำ มีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 42.03 น้ำหนักแห้ง (ข้อมูลจากกลุ่มวิจัยสัตว์น้ำกรมประมง)

หลังจากเพาะขยายพันธุ์ไข่น้ำได้เป็นจำนวนมาก ทางศูนย์วิจัยฯ ตรัง ได้แจกจ่ายไข่น้ำให้เกษตรกรฟรี เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เป็นอาหารปลาที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ โครงการนี้ ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี เพราะช่วยประหยัดต้นทุนค่าอาหารปลาชนิดสำเร็จรูปลงได้มาก

สำหรับเทคนิคการเพาะเลี้ยงไข่น้ำ (ผำ) ทำได้ง่าย มีขั้นตอนดังนี้ 1. กรณีเลี้ยงไข่น้ำในระยะยาวแบบต่อเนื่อง ควรเลี้ยงในถังซีเมนต์กลม กะละมัง บ่อพลาสติก หรือบ่อเลี้ยงปลาขนาดเล็ก ตั้งในบริเวณที่ร่มใต้ต้นไม้หรือบริเวณที่มีแสงรำไร ควรพรางแสงแดดด้วยซาแรน 50% ควบคุมปริมาณธาตุอาหารให้เพียงพอโดยใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในน้ำ ไข่น้ำแตกหน่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ สามารถเก็บผลผลิตและเลี้ยงต่อเนื่องได้ทั้งปี

2. กรณีเลี้ยงไข่น้ำในบ่อดิน ให้เตรียมบ่อเหมือนกับการเลี้ยงปลาโดยใส่ปูนขาวปรับสภาพดินตากบ่อให้แห้ง 7 วัน กำจัดศัตรู เช่น ปลา หว่านปุ๋ยมูลสัตว์แห้งหรือใส่กระสอบมัดใส่มุมบ่อกรองน้ำเข้าบ่อ ปล่อยพันธุ์ไข่น้ำ 10 กิโลกรัม ต่อไร่ ไข่น้ำจะแตกหน่อเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ สามารถเก็บผลผลิตครั้งแรกในวันที่ 12-15 หลังปล่อยเลี้ยงและเก็บผลผลิต 50% ทุกๆ 6 วันได้ตลอดทั้งปี

กรณีเลี้ยงไข่น้ำในถังไฟเบอร์ ขั้นแรกควรกรองน้ำให้สะอาดใส่ในถังไฟเบอร์เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 เมตร ระดับน้ำสูง 20-30 เซนติเมตร ให้อากาศเล็กน้อย เพื่อให้ปุ๋ยและไข่น้ำกระจายตัวได้ดี  ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 จำนวน 100 กรัม มาละลายน้ำแล้วเทลงในถังไฟเบอร์ก่อน จึงนำพันธุ์ไข่น้ำหรือผำ 100 กรัม ใส่ลงไปถังไฟเบอร์

เมื่อไข่น้ำเพิ่มจำนวนจนเต็มบ่อ สามารถนำไปผสมกับรําละเอียดหรือปลาป่นเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงลูกปลาขนาดเล็ก ช่วยลดต้นทุนการผลิต สามารถเก็บเกี่ยวไข่น้ำบางส่วนได้ หลังจากขยายพันธุ์ 6-10 วัน เพ่ื่อให้ไข่น้ำส่วนที่เหลือเจริญเติบโตต่อไปวิธีนี้สามารถเก็บผลิตต่อเนื่องได้ แต่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มเติมระหว่างการเลี้ยง หากเก็บเกี่ยวครั้งเดียวในระยะเวลา 1 เดือน จะได้ไข่น้ำประมาณ 4 กิโลกรัม

ไข่น้ำ (ผำ) เป็นอาหารเสริม ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารปลานํ้าจืด หากใช้ไข่น้ำ เป็นอาหารเสริมเลี้ยงลูกปลาขนาดเล็ก โดยใช้ไข่น้ำ ผสมกับรําละเอียดในอัตราส่วน 2:1 คนให้เข้ากันและปั้นเป็นก้อนนำไปหว่านให้ลูกปลากิน

นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถใช้ไข่น้ำเป็นส่วนผสมหลักในอาหารสัตว์ประเภท หมู เป็ด ไก่ และใช้เลี้ยงปลากินพืช เช่น ปลานิลปลาตะเพียนขาว ได้อีกด้วย (ข้อมูลประกอบจากกลุ่มอำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง)