“นวลจันทร์ทะเล” ปลาของพ่อ เลี้ยงได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม

“ได้ไปที่ประจวบคีรีขันธ์ ที่คลองวาฬ ซึ่งมีสถานีประมงที่คลองวาฬเขาเลี้ยงปลาที่เป็นปลาทะเล เรียกว่า ปลานวลจันทร์ทะเล เขาจับปลานวลจันทร์เล็กๆ ที่อยู่ในทะเลเอามาขาย และสำหรับเลี้ยงในบ่อ ซึ่งถ้าเลี้ยงในบ่อน้ำมันจืดลง ปลานวลจันทร์ทะเลนั้นก็เติบโตได้ เป็นอันว่าจะเป็นอาชีพสำหรับชาวบ้าน ไปซื้อมา เขาไม่ได้ซื้อ เราซื้อให้ไป ซื้อเอามาปล่อยในอ่างเก็บน้ำ และเมื่อปล่อยแล้วมันก็เติบโต เติบโตดีปีหนึ่งมันเติบโตมาขายได้เป็นเงิน เป็นหลายแสน แต่ชาวบ้านก็ไม่ค่อยสนใจ จึงเลิกปลานวลจันทร์ทะเลมันไม่ มันไม่เติบโต เอ้อมันไม่แพร่พันธุ์ในบ่อ ในอ่างมันจะแพร่พันธุ์ได้แต่ในทะเล แต่ก็ยังไงก็จับได้และขายได้ ซึ่งถ้าสมมติว่าไปซื้อมาแล้วมาปล่อยแล้วก็ดูแล และถึงเวลาก็ขาย ก็เป็นอาชีพที่ดี”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2544

ปลานวลจันทร์ทะเล เป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้ทั้งน้ำจืดรวมถึงน้ำเค็ม สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างมากมาย ทั้งยังมีรสชาติที่อร่อย นำไปประกอบอาหารได้หลายประเภท  เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปลานวลจันทร์ทะเล มีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดย อดีตผู้บริหารกรมประมงเห็นว่า นวลจันทร์ทะเลเป็นปลากินพืช สามารถเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรเอาไปใช้ประโยชน์ได้ โดยใช้เงินทุนเลี้ยงไม่มาก จึงสนับสนุนให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาทะเลชนิดนี้

ปลานวลจันทร์ทะเล เลี้ยงดูง่าย กินผัก กินพืช กินแมลง กินอาหารได้หลายชนิด ในประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว มีการพัฒนาเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ ถือว่าปลานวลจันทร์ทะเลเป็นปลาประจำชาติ เรียกตามภาษาตากาล็อก ว่า บังงุส (Bungus) หรือภาษาอังกฤษ เรียกปลาชนิดนี้ว่า Milk Fish หรือปลาน้ำนม  ด้วยลักษณะที่มีสีขาวเป็นเงินยวง บางประเทศเลี้ยงเป็นอาหารให้กับประชาชน ทำรายได้ดีมากคือ ประเทศไต้หวัน

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดแรกที่สำรวจพบปลานวลจันทร์ทะเล เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศเป็นอ่าว 3 อ่าว มาบรรจบกัน ปลานวลจันทร์ทะเลว่ายวนอยู่ในอ่าว สามารถหลบคลื่นลมได้ เมื่อปลาโตขึ้นก็ออกไปหากินในทะเลลึก ส่วนลูกก็ถูกคลื่นซัดกลับมาอยู่ในอ่าว ชาวบ้านจึงเก็บรวบรวมนำมาเพาะเลี้ยง แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นล่ำเป็นสันแต่อย่างใด เพราะปลาชนิดนี้มีก้างมาก ไม่นิยมบริโภค จึงเพาะเลี้ยงแบบไม่จริงจังเท่าที่ควร

ปี พ.ศ. 2496 กรมประมงได้มีการจัดตั้งสถานีประมงน้ำกร่อยประจวบคีรีขันธ์ เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องปลานวลจันทร์ทะเลโดยเฉพาะ แต่กระแสความนิยมปลานวลจันทร์ทะเลมีไม่มากนัก ประกอบกับตลาดต้องการปลาทะเลชนิดอื่นที่ก้างไม่เยอะเช่น ปลากุเรา ปลาอินทรี ปลาทู ปลากะพงขาว ปลานวลจันทร์ทะเลจึงไม่ได้รับความนิยมจากเกษตรกรในสมัยนั้น

ในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการเลี้ยงลูกปลานวลจันทร์ทะเล ที่สถานีประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันคือ สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดหาปลานวลจันทร์ทะเลไปปล่อยเลี้ยง ณ อ่างเก็บน้ำ บ้านเขาเต่า อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ต่อมา พ.ศ. 2540 กรมประมง ได้เพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลได้เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จึงเป็นปฐมบทแรกทำให้ศูนย์วิจัยประมงคลองวาฬ เป็นศูนย์วิจัยแห่งเดียวที่พัฒนารวมถึงเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลจำหน่าย รวมถึงส่งเสริมความรู้ในการเพาะเลี้ยงให้กับเกษตรกรที่ต้องการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลของศูนย์วิจัยประมงคลองวาฬ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยประมงชายฝั่งคลองวาฬนั้น ได้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาไว้ในบ่อคอนกรีตขนาดความจุ 150 ตัน โดยถ่ายน้ำบ่อละ 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ในอัตรา 80% ของบ่อ และให้อาหารเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูป เป็นโปรตีน ประมาณ 30% ให้ปริมาณ 1% ของน้ำหนักตัวปลา

ช่วงปกติจะให้อาหาร 2 มื้อ คือช่วงเช้ากับเย็น ช่วงฤดูปลาผสมพันธุ์ ลดจำนวนการให้อาหารลงเหลือครั้งเดียวหรือประมาณ 0.5% ของน้ำหนักตัว เพราะไขมันอาจไปสะสมในตัวปลามาก เมื่อปลาฟักไข่แล้วปริมาณไขมันที่ไปแทรกตัวอยู่ในไข่อาจทำให้ไข่เสียได้

 วิธีการขยายพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล

ศูนย์วิจัยฯ นำพ่อแม่พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลที่ได้ขนาดจากบ่อดินย้ายมาไว้ในบ่อพ่อแม่พันธุ์ ในอัตราส่วน ตัวผู้ 1 ตัว ต่อ ตัวเมีย 3 ตัว หรืออัตราส่วน 1:3 โดยใน 1 บ่อมีปลาประมาณ 50 ตัว เป็นตัวผู้ 10 กว่าตัว ที่เหลือเป็นตัวเมียทั้งหมด ปล่อยให้ปลาผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ  ฤดูผสมพันธุ์ของปลานวลจันทร์ทะเล อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม โดยปลานวลจันทร์ทะเลจะเกี้ยวพาราสีแล้วปล่อยน้ำเชื้อกับไข่เข้ามาผสมกัน

ในบ่อพ่อแม่พันธุ์นี้จะมีถุงเก็บไข่ เป็นถุงไนลอนครอบไว้ตรงปากท่อลม เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกรองไข่ของปลานวลจันทร์ทะเล ช่วงเช้าพนักงานเข้ามาเก็บไข่ไปฟัก เนื่องจากปลาชนิดนี้จะวางไข่ช่วงกลางคืนจนถึงเช้ามืด สาเหตุที่ต้องใช้ถุงกรองไข่ปลาแทนการลากอวนกรองไข่ปลานั้น เพราะปลาชนิดนี้ว่ายน้ำเร็ว หากนำอวนไปลากอาจทำให้ปลาว่ายหนีชนขอบบ่อเกิดบาดแผล ทำให้ปลาติดเชื้อโรคได้

ในบ่อพ่อแม่พันธุ์ ต้องดูแลใส่ใจเร่ื่องคุณภาพของน้ำ โดยเฉพาะแอมโมเนีย เป็นพิเศษ ให้ระดับความเค็มอยู่ที่ 30-35 ppt ในช่วงหน้าร้อนน้ำมีความเค็มขึ้นสูงถึง 38 ppt ต้องเติมน้ำจืดลงไปในบ่อ เพื่อช่วยเจือจางความเค็ม หากฝนตกหนักมากในช่วงฤดูฝน ต้องถ่ายน้ำบ่อยขึ้น เพื่อไล่น้ำจืดออกจากบ่อเพราะนวลจันทร์ทะเล เป็นปลาที่สืบพันธุ์ในทะเลลึกจึงต้องรักษาระดับความเค็มที่เหมาะสม ให้ปลาสามารถสืบพันธุ์ได้

ผลการศึกษาพบว่า หากนำปลานวลจันทร์ทะเลไปเลี้ยงในน้ำกร่อยที่มีความเค็ม ประมาณ 25 ppt ปลานวลจันทร์สามารถเติบโตได้สมบูรณ์ที่สุด

อนุบาลปลานวลจันทร์ทะเล ทำได้อย่างไร

หลังลูกปลานวลจันทร์ทะเลฟักออกจากไข่ ในระยะ 1-2 วัน จนถึง 10 วัน ควรใช้ไรน้ำเค็ม (โรติเฟอร์) เป็นอาหาร เมื่อปลา อายุได้ 10 วัน ขึ้นไปแล้ว ควรให้อาร์ทีเมียแรกฟักแทน จนปลามีอายุถึง 1 เดือนครึ่ง เริ่มปรับให้กินอาหารสำเร็จรูปแทน เพื่อลดปริมาณอาร์ทีเมียแรกฟักลง

การให้อาหาร เน้นให้อาหารสำเร็จรูปช่วงเช้าและช่วงเย็น  โดยมีชื่อว่า อาหารอนุบาลลูกปลาทะเลซึ่งมีปริมาณโปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปลาโตอายุ 3 เดือน ปรับให้กินอาหารเม็ดสำเร็จรูปปลากินพืชต่อไป

เดือนพฤศจิกายน-ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่ปลาฟักตัว ต้นเดือนมีนาคม ปลาเริ่มมีการผสมพันธุ์อีกครั้งหนึ่ง ลูกปลาที่นำมาฟักในบ่ออนุบาลเมื่อมีอายุครบ 40 วันสามารถจำหน่ายให้แก่เกษตรกรได้

ปลานวลจันทร์ทะเลที่มีความยาวไม่ต่ำกว่า 1.5-2 เซนติเมตร สามารถนำไปลงในบ่อดินได้ ซึ่งระยะนี้เมื่อเกษตรกรนำไปเลี้ยงแล้ว มีอัตรารอดสูงถึง 80% หากมีการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลให้มีขนาดใหญ่ในบ่อปูนแล้ว อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ ทั้งนี้ มักพบโรคติดเชื้อไวรัสในปลานวลจันทร์ทะเล ในช่วง 1 เดือนแรกหลังจากมีการอนุบาล เนื่องจากมีการว่ายน้ำควงสว่าน ส่วนปรสิตนั้นไม่มีการพบในปลานวลจันทร์ทะเล

ตลาดนิยมรับซื้อปลานวลจันทร์ทะเลขนาด 7-8 ขีด เพื่อนำไปแปรรูปเป็นปลานวลจันทร์ทะเลถอดก้าง หรือปลานวลจันทร์ทะเลแดดเดียว ส่วนปลานวลจันทร์ทะเลที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 1 กิโลกรัม ขึ้นไป นิยมขายเป็นตัวโดยไม่มีการถอดก้างหรือควักไส้ปลาออก ห่อด้วยพลาสติกห่ออาหาร ส่งห้องเย็นเพื่อส่งขายในต่างประเทศต่อไป

เกษตรกรที่ซื้อพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลจากศูนย์วิจัยไปเลี้ยงต่ออีกประมาณ 7-8 เดือน ก็เริ่มจับปลาขายได้แล้ว ตัวปลาน้ำหนักประมาณ 2 ขีด นิยมนำไปแปรรูปหรือทำปลาทอดกรอบจำหน่าย

ปลานวลจันทร์ทะเล ถูกยกย่องให้เป็นปลาประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบกับเนื้อของปลานวลจันทร์ทะเลมีความอร่อยมาก มีรสชาติคล้ายคลึงกับปลาสำลี โดยเฉพาะส่วนท้องของปลานวลจันทร์นั้นมีความมันเป็นอย่างมาก สามารถนำไปทำได้ทั้งเมนูปลานวลจันทร์ทะเลทอดแดดเดียว ปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็ม ปลานวลจันทร์ทะเลนึ่งมะนาว หรือเมนูนอกเหนือจากนี้ปลานวลจันทร์ทะเลก็สามารถที่จะนำไปประกอบเป็นอาหารได้เช่นกัน

ชาวบ้านตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จึงรับซื้อปลานวลจันทร์ทะเลจากเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงไว้นำมาแปรรูปเป็นปลาสดถอดก้าง ปลานวลจันทร์ทะเลหมักสูตรฟิลิปปินส์ ปลานวลจันทร์ทะเลแดดเดียว ปลานวลจันทร์ทะเลรมควันก้างนิ่ม ปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็มขิง ปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็มผักกาดดอง จำหน่ายให้แก่ผู้สนใจทั่วประเทศ