50 ปี ปลานิล พระราชทาน สร้างอาชีพมั่นคง

สมาชิกกำลังคัดขนาดปลาเพื่อจำหน่าย

พระราชกรณียกิจที่นับว่าอำนวยประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคในทุกวันนี้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการประมงคือ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลานิล

ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาทิโลเปีย นิโลติกา (Tilapia Nilatica) จำนวน 50 ตัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และได้พระราชทานชื่อปลานี้ว่า “ปลานิล” และได้พระราชทานลูกปลานิล 10,000 ตัว ให้กรมประมง กรมประมงได้ดำเนินการขยายพันธุ์และได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามพระราชประสงค์

ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สำคัญสำหรับเกษตรกรไทยในปัจจุบัน และได้มีการพัฒนารูปแบบการเพาะเลี้ยงในรูปแบบฟาร์มที่ทันสมัยและถูกต้องตามหลักวิชาการ ตลอดถึงการบริหารจัดการกระบวนการผลิตและการตลาดตามรูปแบบสหกรณ์ที่ก่อเกิดความมั่นคงในอาชีพเป็นอย่างดีในทุกวันนี้ ด้วยมีการบริหารจัดการแบบรวมกลุ่ม มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังเช่นที่ สหกรณ์ประมงพาน จำกัด อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่ปัจจุบันนับเป็นสหกรณ์ประมงที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดียิ่ง

นางสาวกาญจนา คำพุฒ ประธานสหกรณ์ประมงพาน จำกัด เปิดเผยว่า “สหกรณ์ประมงพาน จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 2 มิถุนายน 2543 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลา จัดหาสินค้ามาจำหน่ายให้แก่สมาชิก รวบรวมผลผลิตของสมาชิก รวมทั้งให้คำปรึกษาและบริการสมาชิกในด้านการเลี้ยงปลา ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 19,289,629.29 บาท สมาชิก 433 ราย

“สมาชิกแต่ละคนจะมีบ่อเลี้ยงปลา เฉลี่ยคนละ 1-2 บ่อ แต่ละบ่อใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ขณะนี้มีประมาณ
500 บ่อ ในพื้นที่ 1,200 ไร่ โดยสมาชิกมีหน้าที่เลี้ยงปลาตามแผนงานที่ทางสหกรณ์วางไว้ และรับเงินเมื่อถึงกำหนดจับปลา ส่วนการบริหารจัดการ เช่น การลงลูกปลาในบ่อ การใช้อาหาร การกำหนดเวลาจับ การลงมือจับ ตลอดจนการหาตลาด เป็นหน้าที่ของสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด”

ปล่อยลูกปลานิลลงเลี้ยงในบ่ออนุบาล
ปล่อยลูกปลานิลลงเลี้ยงในบ่ออนุบาล

ปัจจุบัน ปลานิลหน้าฟาร์มจะจำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 55-59 บาท ซึ่งการลงลูกปลาแต่ละครั้งจะใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 7 เดือน จึงจะจับเพื่อจำหน่ายได้ โดยขนาดปลา เฉลี่ยอยู่ที่ 4 ขีดขึ้นไป ถ้าหากต่ำกว่านี้จะปล่อยลงบ่อเพื่อเลี้ยงให้เติบโตจนได้ขนาดต่อไป ส่วนรายได้ของสมาชิกหลังหักต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าอาหาร ค่าลูกปลา ค่าแรงงานแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท ต่อบ่อ ทำให้สมาชิกมีรายได้เฉลี่ย ประมาณ 200,000 บาท ต่อปี ต่อจำนวน 2 บ่อ ขณะเดียวกันสมาชิกส่วนใหญ่ก็ยังทำนาปลูกข้าว และอาชีพเสริมอื่นๆ

“16 ปี ที่มีการก่อตั้งสหกรณ์ขึ้นมา สหกรณ์ประมงพาน จำกัด มีความมั่นคงและเข้มแข็ง มีเกษตรกรที่เลี้ยงปลานิลสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเห็นความมั่นคง ความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์ในการบริหารจัดการทั้งการเพาะเลี้ยงและการตลาด สำหรับตลาดปลานิลของสหกรณ์ประมงพานในปัจจุบันจะอยู่ที่ภาคเหนือตอนบน คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน” ประธานสหกรณ์ประมงพาน จำกัด กล่าว

การจับปลานิลในบ่อของสมาชิก
การจับปลานิลในบ่อของสมาชิก

และในปี พ.ศ. 2559 เป็นวาระครบรอบ 50 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพันธุ์ปลานิลให้
กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้เกษตรกรทำการเพาะเลี้ยง พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการด้วยระบบสหกรณ์ ยังผลให้ธุรกิจปลานิลเจริญรุกหน้า ก่อเกิดทั้งรายได้และการมีซึ่งอาหารโปรตีนสำหรับการบริโภคของราษฎรไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตปลานิลไม่น้อยกว่า 200,000 ตัน ต่อปี ทำให้ปลานิลนอกจากจะเป็นปลาที่ชาวไทยบริโภคกันมากแล้ว ยังเป็นปลาที่ทำให้เกิดการมีงานทำแก่ประชาชนกว่าล้านคนในฟาร์มปลานิลที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 2.8 แสนแห่งทั่วประเทศ

ไม่เพียงแต่การหาแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมให้ปวงชนชาวไทยเท่านั้น พระองค์ยังทรงสอนถึงวิธีการจับปลาด้วยว่า ให้จับตัวเล็ก เพื่อที่จะได้มีแม่พันธุ์ไว้ขยายต่อไป เมื่อมีข่าวว่าประชาชนประสบภัย พระองค์จะรับสั่งว่า “ที่ฉันเลี้ยงไว้ เอาไปช่วยได้ไหม” ทรงห่วงใยราษฎรอยู่เสมอ และพระองค์จะเสวยปลานิลเพื่อชิมรสชาติว่ายังคงเป็นปลานิลที่เหมือนเดิมหรือไม่ และทรงสนพระราชหฤทัยในการพัฒนาคุณภาพปลานิลที่ประชาชนจะเลี้ยงและบริโภคให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บ่อเลี้ยงปลานิล ที่สหกรณ์ประมงพาน จำกัด
บ่อเลี้ยงปลานิล ที่สหกรณ์ประมงพาน จำกัด

เมื่อปลานิลขยายพันธุ์รวดเร็วและออกไข่จำนวนมาก ทำให้ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีตัวเล็ก ในปี พ.ศ. 2531 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมง พัฒนาสายพันธุ์ปลานิลให้มีขนาดใหญ่ แข็งแรงมากขึ้น ทำให้มีปลานิลพันธุ์จิตรลดา 1 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าปลานิลทั่วไป ให้ผลผลิตและอัตราการรอดเพิ่มขึ้น ต่อมาพัฒนาเป็นปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 2 ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 3 และปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 4 จากนั้นได้พระราชทานให้เกษตรกรในเวลาต่อมา

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ปลานิลกลายเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมของคนไทย และเมื่อได้มีการบริหารจัดการทั้งระบบด้วยวิธีการสหกรณ์ ยังผลก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกรและประชาชนจวบจนทุกวันนี้