ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปลากดเหลือง เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด ลักษณะลำตัวกลมยาวค่อนข้างแบนเรียว ลักษณะสีของลำตัวเปลี่ยนไปตามอายุและขนาดตัว ซึ่งปลาที่ตัวโตเต็มวัยลำตัวบริเวณหลังมีสีน้ำตาลเข้มปนดำ บริเวณข้างลำตัวมีสีน้ำตาลปนเหลือง และบริเวณท้องมีสีขาว ส่วนฐานครีบอกท้องก้นมีสีเทาเจือชมพู ดวงตามีขนาดปานกลาง เมื่อโตเต็มที่สามารถมีขนาดยาวได้ตั้งแต่ 20-25 เซนติเมตร หรือที่เคยพบมีขนาดใหญ่สุดได้มากกว่า 60 เซนติเมตร ซึ่งปลาชนิดนี้สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู จึงทำให้ได้รับความนิยมในการนำมาบริโภค โดย คุณอุดร อรัญโชติ ได้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการทำตลาดปลากดเหลือง จึงเพาะพันธุ์สร้างรายได้ส่งขายลูกปลาให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
คุณอุดร เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมดเน้นการทำนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยผลผลิตสมัยก่อนได้ไม่มากและต่อปีทำได้ไม่ต่อเนื่อง จึงทำให้มองหาช่องทางการสร้างรายได้จากทางอื่น ได้หันมาเพาะพันธุ์ปลากดเหลืองและปลาอื่นๆ ขาย โดยมองว่าใช้เวลาไม่นานต่อรอบการผลิตไม่เกิน 30 วัน ก็ได้เงินมาใช้หมุนเวียน ได้ไวกว่าการทำนา
“ช่วงนั้นก็ได้เปลี่ยนจากพื้นที่นามาเพาะพันธุ์ปลากด เพราะการเพาะพันธุ์ปลารวมไปถึงการอนุบาลใช้เวลาไม่นาน และที่สำคัญใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไม่มาก ก็สามารถได้ลูกปลาจำนวนมากในการส่งขาย จึงมองว่าการเพาะพันธุ์ปลาน่าจะตอบโจทย์ที่สุด จากนั้นก็จะคัดพ่อแม่พันธุ์ที่แหล่งน้ำธรรมชาติมาเลี้ยงไว้ โดยคัดปีต่อปีสำหรับปลาที่นำมาเพาะพันธุ์” คุณอุดร บอก
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากดเหลืองจะเลี้ยงแยกไว้ภายในบ่อดินที่มีขนาดตั้งแต่ 1-2 งาน โดยปล่อยเลี้ยงรวมกันในบ่อเดียวกันประมาณ 10,000 ตัว ซึ่งอายุของปลาที่จะเพาะพันธุ์ได้ต้องมีอายุ 1 ปีขึ้นไป เมื่อต้องการเพาะพันธุ์จึงจับมาแยกเพศเพื่อฉีดฮอร์โมนให้กับปลา หลังจากนั้นนำพ่อแม่พันธุ์ที่ฉีดฮอร์โมนเรียบร้อยแล้ว มาใส่ลงในบ่อปูนขนาด 3×3 เมตร ปล่อยในอัตราตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 2 ตัว รอประมาณ 1-2 วัน ก็จะได้ไข่ของปลาออกมา รอไปอีกสักระยะไข่จะฟักออกมาเป็นตัวคล้ายๆ ลูกไร เมื่อไข่แดงหน้าท้องยุบจึงย้ายไปอนุบาลในบ่อดินต่อไป
นำลูกปลากดเหลืองลงไปอนุบาลในบ่อดินขนาด 2 งาน ระดับความลึกของน้ำอยู่ที่ 1.50 เมตร โดยในช่วงแรกจะให้กินไข่แดงในช่วงเช้าและเย็นประมาณ 7 วัน จากนั้นเปลี่ยนเป็นอาหารไฮเกรดที่มีโปรตีนอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์ ให้กินในช่วงเช้าและเย็นเหมือนเดิมใช้เวลาขุนประมาณ 15 วัน เพื่อเป็นการเร่งโตให้กับลูกปลากดเหลืองที่อนุบาลอยู่ในบ่อดิน หลังจากนั้นเตรียมขึ้นลูกปลาพร้อมส่งขายได้ทันที
“ตั้งแต่เพาะพันธุ์ปลากดมา ก็ไม่ค่อยพบเจอโรคอะไรที่ทำให้เป็นปัญหา เพราะการเพาะพันธุ์ใช้เวลาเพียงสั้นๆ และที่สำคัญหลังจากที่เราจับลูกปลาขายหมดแล้ว ก็จะมีการเตรียมบ่อใหม่อยู่เสมอ ด้วยการใช้ปูนขาวโรยไปที่ก้นบ่อ และตากแดดทิ้งไว้ 1 วัน จากนั้นก็ใส่น้ำและเตรียมนำลูกปลากดชุดใหม่ลงมาอนุบาลได้เลย ถ้าเรามีการจัดการที่ดี ก็จะทำให้ในเรื่องของการสะสมโรคไม่มีปัญหาสำหรับการเพาะพันธุ์ปลา” คุณอุดร บอก
สมัยก่อนที่เริ่มเพาะพันธุ์ปลาขายใหม่ๆ คุณอุดร บอกว่า เรื่องของการทำตลาดค่อนข้างที่จะลำบากหน่อย เพราะยังไม่ได้เป็นที่รู้จักของลูกค้ามากนัก แต่เมื่อลูกค้ารู้และเห็นว่าลูกปลามีคุณภาพจะบอกกันไปปากต่อปาก จึงทำให้ตลาดเริ่มขยายตัวมากขึ้น และยิ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้การใช้สื่อโซเชียลมีเดียได้รับความนิยม ช่วยการทำตลาดให้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดออกไป ก็สามารถมาสั่งซื้อที่ฟาร์มแห่งนี้ หลักๆ จะเป็นลูกค้าตั้งแต่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน
ลูกปลากดเหลืองที่เพาะพันธุ์ขนาดไซซ์ 1.5-2 นิ้ว ราคาขายปลีกอยู่ที่ 1.50-2 บาท ส่วนถ้าเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการรับไปขายต่อ ทางฟาร์มจะมีราคาขายส่งให้ด้วยในการซื้อปริมาณมาก
“หลักๆ ลูกค้าก็จะซื้อไปเลี้ยงในบ่อดิน และก็มีไปเลี้ยงในกระชังแม่น้ำโขงที่น้ำไหลผ่าน ปลากดเหลืองก็โตได้ดีเช่นกัน แต่สำหรับใครที่สนใจเลี้ยง หากมีบ่อดินก็สามารถเลี้ยงได้ หากคนที่ไม่ได้เลี้ยงเป็นเชิงธุรกิจ แต่อยากเลี้ยงเพื่อเอาไว้กินแบบโตไม่เร่งรีบ ก็สามารถนำไปเลี้ยงในบ่อดินทั่วไปในสวนได้ และเอาอาหารที่เหลือจากครัวเรือนขุนก็ได้ ปลาก็ได้กินอาหารจากสิ่งเหล่านั้น ทำให้ประหยัดต้นทุนอาหาร หลังจากโตแล้วก็สามารถจับขายได้” คุณอุดร บอก
สำหรับท่านใดที่สนใจลูกพันธุ์ปลากดเหลือง หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณอุดร อรัญโชติ ฟาร์มตั้งอยู่ที่ บ้านแห่ใต้ ตำบลแห่ใต้ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม หมายเลขโทรศัพท์ 064-898-4659
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2566