ที่มา | เทคโนโลยีประมง |
---|---|
ผู้เขียน | องอาจ ตัณฑวณิช |
เผยแพร่ |
เมนูปูนิ่มเป็นอาหารทะเลยอดนิยมมาหลายสิบปี สนนราคาค่อนข้างแพง จานหนึ่งตามร้านอาหารอย่างน้อยต้องราคาจานละ 100 บาทขึ้นไป และเป็นอาหารที่หากินได้ไม่ยากนัก เมนูฮิตติดลมบนคือ ปูนิ่มทอดกระเทียมพริกไทย หลายคนคงเคยกินแต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่รู้จักว่าปูนิ่มคืออะไร บ้างครั้งเข้าใจผิดว่าปูนิ่มเป็นปูพันธุ์ใหม่ที่มีเปลือกนิ่มโดยธรรมชาติ
แท้จริงแล้วปูนิ่มคือปูธรรมดานี่แหละครับ แต่ในช่วงการเจริญเติบโตจะมีการลอกคราบเหมือนกุ้ง งู เมื่อลอกครบแล้วตัวจะโตขึ้นกว่าเดิม ในช่วงชีวิตการเจริญเติบโตของปูจะลอกคราบหลายสิบครั้ง หลังลอกคราบตัวจะนิ่มทั้งหมดรวมถึงกระดองด้วย และค่อยๆ แข็งขึ้นเหมือนปูธรรมดาที่เห็นๆ กันอยู่ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังลอกคราบ ในการลอกคราบตามธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาลอกคราบปูก็จะต้องหาที่หลบซ่อนเพื่อให้พ้นจากศัตรูหรือแม้แต่พวกเดียวกันเอง เพราะในช่วงจังหวะนั้นปูจะไม่สามารถต่อสู้หรือหลบหนีศัตรูได้ มีแต่ตกเป็นอาหารของสัตว์อื่นอย่างเดียว
ในสมัยก่อนหากินได้ในธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของปูนิ่ม จึงสามารถนำมาเลี้ยงจนเป็นธุรกิจแพร่หลายไปทั่วประเทศ ในพื้นที่ที่ติดกับทะเลจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเลี้ยงปูนิ่ม การบริโภคก็ง่ายขึ้น ถึงแม้จะราคาแพงก็จริง แต่ปูนิ่มสามารถนำมาทำอาหารได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่งเลย
มีโอกาสได้ไปกระบี่อีกครั้ง ได้พบกับ คุณพรวิรัช เล็กขำ หรือ แป๋ง ปูนิ่ม อยู่ที่บ้านในใส ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มปูนิ่มที่นี่ เล่าให้ฟังว่า เดิมมีอาชีพขายปลาเหยื่อให้กับฟาร์มปูนิ่มอยู่หลายปี โดยไปรับลูกปลา อาทิ ลูกปลาทู ปลาลัง ปลาทูแขก และปลาหลังเขียวจากสะพานปลามาขาย สนนราคาสมัยนั้นกิโลกรัมละ 14-15 บาท ได้มีโอกาสเข้าไปส่งปลาเหยื่อถึงในฟาร์มปูนิ่มอยู่หลายปี จึงเห็นการเลี้ยงปูนิ่มจนมีความเข้าใจดี ทำให้คิดอยากจะเลี้ยงปูนิ่มกับเขาบ้าง
เปลี่ยนอาชีพหลังจากศึกษามานาน
พอดีมีฟาร์มเพื่อนบ้านเซ้งบ่อ จึงได้ถือโอกาสเปลี่ยนอาชีพมาเป็นคนเลี้ยงปูนิ่มสมดังใจ ด้วยราคาเซ้ง 40,000 บาท ซึ่งมีอุปกรณ์และโรงเรือนครบ นอกจากนี้ ยังมีปูที่เลี้ยงอยู่ด้วยแต่จำนวนไม่มาก จึงได้หิ้วกระเป๋าเข้ามาทำฟาร์มปูนิ่ม เปลี่ยนอาชีพเป็นอาชีพใหม่
วิธีการเลี้ยงปูนิ่ม
ปัจจุบันปูทะเลที่รับซื้อมาเลี้ยงในฟาร์มเพื่อทำเป็นปูนิ่ม ส่วนใหญ่จะมาจากอำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน โดยชาวบ้านจะหามาขายกับผู้รับซื้ออีกที เนื่องจากแต่ละรายได้จำนวนปูไม่มากนัก จึงต้องมีผู้รับซื้อผลผลิต ในธรรมชาติปูทะเลหายากมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าขนาดของปูที่นำมาเลี้ยงมีขนาดเล็กลงทุกที ถ้ามีจัดการทรัพยากรที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เสียสมดุลทางธรรมชาติได้ ช่วงน้ำตาย คือวันทางจันทรคติระหว่างวันแรมหรือขึ้น 7-10 ค่ำ น้ำจะลดระดับลงชาวประมงจะไม่ตกปู พอเริ่มน้ำเป็น คือระหว่างวันแรมหรือขึ้น 11-12 ค่ำ และ1-6 ค่ำ จะเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านออกหาปู ในช่วงฤดูฝนชาวบ้านจะสามารถจับปูได้มาก ส่วนราคารับซื้อเมื่อก่อนกิโลกรัมละ 80 บาท ปัจจุบันต้องซื้อในราคากิโลกรัมละ 135-140 บาท
เริ่มจากการล้างทำความสะอาดกล่องเลี้ยงปู แล้วนำปูมาตัดขาออกข้างละ 3 ขา จากข้างละ 5 ขา ถ้าเปรียบกับนิ้วมือคนก็จะตัดนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง ออกครึ่งท่อนบน แล้วปูจะสลัดท่อนที่เหลือครึ่งท่อนล่างของ 3 ขาที่ตัดออกเอง เหลือเฉพาะก้าม และขาใบพาย วิธีนี้อาจจะดูโหดไปหน่อยแต่ แป๋ง ปูนิ่ม ยืนยันว่าเป็นวิธีที่ทำถูกต้องตามมาตรฐานเพราะจะทำให้ปูลอกครอบออกมาโดยไม่ติดเปลือกเลย ปูที่นำมาทำปูนิ่มจะเป็นปูทะเล หรือชาวบ้านที่นี่เรียก ปูดำ ทั้งหมด ถามว่าปูม้าทำได้ไหม ได้คำตอบว่าปูม้าใจเสาะจะตายได้ง่ายในการเลี้ยงในกล่อง ปูนิ่มจึงเป็นปูทะเลล้วนๆ
ขาปูที่ตัดและส่วนที่ปูสลัดออกมาเองก็จะใส่ลงไปในกล่องปูเพื่อเป็นอาหารของปูได้ 2-3 วัน แล้วนำปูที่ตัดขาแล้วลงใส่กล่องละ 1 ตัว มัดกล่องให้แน่น แล้วนำมาหย่อนลงในแพที่จัดทำไว้ หลังจากนั้น 3-4 วัน ก็จะให้อาหาร 1 ครั้ง โดยจะเป็นปลาเหยื่อที่ซื้อมาจากสะพานปลา ปัจจุบันราคาซื้อกิโลกรัมละ 18-19 บาท ถ้าปลาตัวขนาดใหญ่จะต้องหั่นให้เป็นชิ้นขนาดประมาณ 1 นิ้ว เพื่อสะดวกในการกินของปู นอกจากเหยื่อที่เป็นปลาสดแล้ว ตอนปลาขาดแคลนจะต้องใช้อาหารปูสำเร็จรูปแทน ซึ่งมีราคาแพงมาก อาหารปู 1 ถุง น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ราคา 1,100 บาท
น้ำในบ่อเป็นสิ่งสำคัญ
ในการเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วไป น้ำในบ่อเลี้ยงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่สุด ต้องหมั่นสังเกตสีน้ำอยู่เสมอ หากน้ำมีสีคล้ำกว่าปกติแสดงว่าน้ำเริ่มเสีย จำเป็นต้องปล่อยน้ำออกและเปิดน้ำทะเลเข้ามาใหม่ ในการเปิดน้ำทิ้งและเข้าน้ำใหม่จะเปลี่ยนน้ำใหม่หมดทั้งบ่อโดยดูดทิ้งจนแห้งแล้วเอาน้ำใหม่เข้าทั้งหมดเลยก็ได้ ปูจะไม่ช็อกน้ำเหมือนกุ้งกับปลา ที่ต้องค่อยๆ เปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อให้ปรับสภาพ แต่ปูไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น และสัญญาณธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งสำหรับการเลี้ยงปูนิ่มในบ่อ ถ้าน้ำเริ่มเสียและขาดออกซิเจน หอยในบ่อจะขึ้นมาอยู่ใกล้ตลิ่งเป็นจำนวนมาก ก็ต้องรีบเปลี่ยนน้ำทันที แป๋ง ปูนิ่ม บอกว่า ไม่เคยใช้เครื่องวัดค่าพีเอช แต่อาศัยจากสังเกตและธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตามภูมิปัญญาชาวบ้าน
การเก็บปูนิ่ม
ปูจะใช้เวลาสิบกว่าวันในการลอกคราบ ดังนั้น เมื่อปล่อยปูไปแล้วสิบกว่าวันจึงจะเริ่มดูปูว่ามีการลอกคราบหรือไม่ ในการเลือกปูนิ่มขึ้นมาแต่ละวัน จะใช้ตะขอเกี่ยวปูเลื่อนมาดูทีละกล่อง ถ้ากล่องไหนลอกคราบก็จะจับขึ้นมา แต่ละวันจะต้องดูถึง 3 รอบ คือตอนเช้าแปดโมง ตอนเย็นสี่ถึงห้าโมงเย็น และตอนค่ำช่วงห้าทุ่ม ปูที่นำมาเลี้ยงเพื่อเป็นปูนิ่มจะมี 3 เพศ สังเกตจากฝาปิดใต้กระดองหรือเรียกว่าตะปิ้ง ถ้ามีขนาดใหญ่จะเป็นปูตัวเมียซึ่งจะไม่ค่อยลอกคราบ ส่วนฝาปิดใต้กระดองมีขนาดเล็กจะเป็นปูตัวผู้ ส่วนปูที่มีฝาปิดกระดองขนาดกลางจะเป็นปูกะเทยซึ่งจะลอกคราบบ่อยกว่าเพศอื่น
ปัจจุบันฟาร์มเลี้ยงปูนิ่มของแป๋ง ปูนิ่ม เลี้ยงปูได้แค่ 2,000-3,000 ตัว เนื่องจากปูทะเลจากธรรมชาติที่จะนำมาเลี้ยงค่อนข้างหายาก จากจำนวนที่เลี้ยงได้เต็มที่ในฟาร์มถึง 15,000 ตัว
เมื่อนำปูนิ่มขึ้นมาก็จะแช่น้ำจืดไว้สักพัก แล้วนำมาเรียงไว้ในตะกร้าเพื่อรอส่ง 3-4 วันจึงจะนำไปส่งที่รับซื้อครั้งหนึ่ง ซึ่งปูยังไม่ตายและคงสภาพนิ่มอยู่ไม่แข็งเพราะไม่ได้อยู่ในน้ำเค็ม ในช่วง 15 วันจะมีผลผลิตปูนิ่มประมาณ 70-80 กิโลกรัม ราคาที่รับซื้อคละขนาดกิโลกรัมละ 300 บาท เป็นเงินรายได้ประมาณ20,000 กว่าบาท หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลืออยู่ 7,000-8,000 บาท เนื่องจากช่วงที่ไปทำข่าวเป็นช่วงแล้งไม่มีปู แต่ในช่วงที่มีปูมาก 15 วันสามารถผลิตปูได้ถึง 400 กิโลกรัม ทำเงินต่อ 15 วัน ได้ถึง 12,0000 บาท ลองคำนวณดูเงินเหลือเอาเอง
ผู้เขียนได้เข้าไปถ่ายรูปในฟาร์มรู้สึกทึ่งกับธรรมชาติที่สร้างสรรค์มามาก โดยเฉพาะก้ามปูที่ถอดออกมาใหม่ไม่ได้ทำให้ก้ามเก่าแตกสลายเลยยังคงรูปอยู่เหมือนปกติ ตอนที่ปูนิ่มในกล่องขึ้นจากน้ำ ผู้เขียนเห็นเป็นปูสองตัว นึกว่าอีกตัวยังไม่ลอกคราบ แต่จริงแล้วเป็นคราบเก่ากับปูใหม่ที่ลอกคราบมา ดูตามรูปถ้าผู้เขียนไม่เปิดกระดองคราบเก่าให้ดูก็จะเห็นเหมือนปูสองตัว
แต่เป็นที่น่ากังวลว่าปัจจุบันปูทะเลหรือปูดำในธรรมชาติเริ่มหายากขึ้นเรื่อยๆ โดยปูที่นำมาทำปูนิ่มมีขนาดเล็กลง หากว่ามีการนำปูในธรรมชาติมาทำอย่างนี้ต่อไปโดยไม่มีการจัดการให้เหมาะสม อนาคตย่อมเสี่ยงกับการสูญพันธุ์ แต่จะทำอย่างไรได้กับห่วงโซ่อาหาร นอกจากกิน หวังเพียงว่าสามารถจัดการอย่างเหมาะสม สนใจปูนิ่มติดต่อได้ที่ แป๋ง ปูนิ่ม โทรศัพท์ (098) 369-6952