ที่มา | เทคโนโลยีประมง |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
เห็นชื่อเรื่องแล้วหลายคนคงอดสงสัยว่า กบ ที่คุณรุ่งเพชร แหลมสิงห์ อดีตนักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังเจ้าของเพลง “ฝนเดือนหก” เป็นชนิดเดียวกันกับที่ชาวบ้านนำไปเลี้ยงแล้วมีรายได้เป็นล้านหรือไม่ คำตอบคือ ใช่
จากเคยเป็นเพียงอาหารธรรมดาของชาวบ้านตามหมู่บ้านท้องถิ่น ตอนนี้กบกลายเป็นเมนูแสนอร่อยของคนทุกเพศทุกวัยไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กบทอด ยำกบ ผัดพริกกบ ฯลฯ จนทำให้ตลาดผู้บริโภคมีความต้องการมาก ขณะที่ได้เกิดอาชีพเลี้ยงกบกันอย่างแพร่หลายแล้วเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงนับได้ว่ากบเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน
ถึงแม้กบจะเลี้ยงไม่ยาก แต่การเลี้ยงกบให้มีคุณภาพเพื่อเกิดรายได้ดีจำต้องมีเทคนิคควบคู่ไปด้วย เช่นเดียวกับชาวบ้านที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รวมกลุ่มกันเลี้ยงกบแบบครบวงจร ส่งขายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มีรายได้กันเป็นแสนเป็นล้านบาทต่อปี แล้วยังถือเป็นแหล่งเพาะ-ขายพันธุ์กบแห่งใหญ่ของประเทศด้วย
แต่อะไรคือเหตุผลที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ถึงได้มีศักยภาพในการเลี้ยงกบจนได้โกอินเตอร์เช่นนี้
คุณวรมิตร ศิลปชัย นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บอกเล่าความเป็นมาว่า อดีตชาวบ้านอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่บริเวณอำเภอพนมสารคามบางแห่งมีความเดือดร้อนในเรื่องการทำมาหากินอย่างมาก เนื่องจากสภาพทางธรรมชาติไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม ขาดแคลนแหล่งเก็บน้ำถาวร เพราะเป็นดินทราย มีน้ำใช้เฉพาะหน้าฝน คงปลูกได้เพียงมันสำปะหลังเป็นหลัก
ดังนั้น การเข้ามาช่วยเหลือของประมงคงต้องเลือกอาชีพเฉพาะที่ใช้น้ำน้อยเป็นหลัก อย่างการส่งเสริมให้เลี้ยงกบ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้คราวละจำนวนมาก โดยใช้กบนาที่ผ่านการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาดคือ มีขนาดใหญ่ ทนต่อโรค ให้ผลผลิตดก มีสีเหลืองทอง ทั้งนี้ได้ส่งเสริมมาสัก 10 ปี ชาวบ้านเลี้ยงกันแพร่หลาย ประมาณ 100 ราย แต่ละรายใช้พื้นที่ไม่ถึงไร่ก็สามารถสร้างเงินได้เป็นแสนบาท แต่บางรายทำได้ดีมาก มีรายได้เป็นล้านบาทต่อปี ด้วยเหตุนี้กบจึงเป็นอาชีพเศรษฐกิจของชาวบ้านในพื้นที่
กบที่ชาวบ้านเลี้ยงกันอย่างจริงจัง มีเพียง 3 ตำบลหลักในอำเภอพนมสารคาม ได้แก่ เขาหินซ้อน เกาะขนุน และบ้านซ่อง มีรายใหญ่ที่ทำจริงจัง ประมาณ 10 ราย นอกจากนั้นเลี้ยงกันแบบครอบครัวไว้บริโภคและส่งขายตามตลาดสดท้องถิ่น แต่ถ้าเป็นรายใหญ่จะทำแบบครบวงจร พร้อมกับส่งกบเนื้อขายที่ฮ่องกงด้วย โดยการเลี้ยงส่งออกจะเน้นคุณภาพ และขนาดไม่ใหญ่นัก
“ดังนั้น ถือว่าที่นี่เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกบแห่งใหญ่ของประเทศ เพราะมีลูกค้าเกือบทุกจังหวัดมาหาซื้อพันธุ์กบเพื่อไปเลี้ยงขายต่อด้วย จนผู้เลี้ยงบางรายมีรายได้ถึงปีละกว่าหลายล้านบาท สร้างรายได้อย่างดีให้เกษตรกร ทำให้มีฐานะการเงินที่มั่นคง” คุณวรมิตร กล่าว
ราคามันสำปะหลังต่ำ หันมาเลี้ยงกบ รายได้ดี
คุณสำเริง วงษ์สุรินทร์ ชาวบ้านที่พักอยู่เลขที่ 364 หมู่ที่ 13 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงกบเป็นอาชีพ ภายใต้หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง สามารถพัฒนาคุณภาพกบได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ จนมีจำนวนจำหน่ายไม่พอ จึงต้องจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงกบทองบ้านดอนขี้เหล็กขึ้น ช่วยทำให้ชาวบ้านมีรายได้ สร้างฐานะความมั่นคงอีกหลายครัวเรือน
เดิมคุณสำเริงทำไร่มันสำปะหลังเป็นหลัก จำนวน 50 ไร่ แล้วประสบปัญหาด้านราคาขาย จนเมื่อ ปี 2539 ได้เข้าไปที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่ออบรมการเลี้ยงกบ โดยเริ่มจากทุนจำนวนน้อยด้วยการสร้างบ่อซีเมนต์เลี้ยงเพียงบ่อเดียว กับแม่พันธุ์ จำนวน 8 ตัว กระทั่งได้ผลผลิตถึง 800 กิโลกรัม
การยึดอาชีพเลี้ยงกบของคุณสำเริงได้ยึดมั่นและน้อมนำหลักคิดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาตลอด ดังนั้นในทุกย่างก้าวจะค่อยๆ ขยับขยายอาชีพเลี้ยงกบตามกำลังทรัพย์ที่ตัวเองมีเท่านั้น
คุณสำเริง แสวงหาความรู้การเลี้ยงกบมาจากฟาร์มกบชื่อดังที่มีคุณภาพมาตรฐานหลายแห่ง จากนั้นจึงนำมาประยุกต์เพื่อให้สอดคล้องกับการเลี้ยงในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็พัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาด ยังเป็นหัวใจสำคัญของอาชีพนี้
คุณสำเริง ประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงกบทุกรุ่น โดยจะมีกำไรในแต่ละคราวไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท จากนั้นจึงนำเงินทุนที่ได้ไปขยายจำนวนบ่อเพิ่มอีก จำนวน 8 บ่อ แล้วเริ่มหันมาเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ มาเพาะเองโดยไม่ต้องไปซื้อลูกกบมาเลี้ยง
อย่าปล่อยให้กบจำศีล เพาะนอกฤดู มีรายได้ตลอดปี
กระทั่งเวลาผ่านไป 20 ปี ตอนนี้ฟาร์มคุณสำเริงมีบ่อเลี้ยงกบอยู่ จำนวน 30 บ่อ ซึ่งทุกบ่อใช้สำหรับเพาะ-เลี้ยงกบในทุกระยะ ภายหลังจากจับกบขายหมดบ่อแล้วจะเริ่มเพาะ-เลี้ยงรุ่นใหม่ นอกจากนั้น ยังสามารถเพาะ-เลี้ยงกบในช่วงนอกฤดูได้ด้วยการสร้าง “บ่ออบแม่พันธุ์กบ สำหรับเพาะนอกฤดู” ขึ้น เพื่อช่วยทำให้เกิดการผสมและวางไข่ในช่วงอากาศหนาวเย็นได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ผลผลิตที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นลูกอ๊อด ลูกกบ หรือกบเนื้อ ล้วนมีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศมาจับจอง โดยมีการบริหารจัดการหมุนเวียนการผลิตและมีรายได้ตลอดทั้งปี
เจ้าของฟาร์มกบบอกว่า การเลี้ยงกบสมัยนี้สะดวก สบาย กว่าในอดีตมาก ใช้อาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงกบทุกรุ่น หากพบปัญหากบเป็นโรคก็มียาปฏิชีวนะรักษาได้ไม่ยาก ส่วนตลาดก็ไม่ต้องกังวล เพราะขายได้ทุกแห่งแม้ในมือถือ
สำหรับอาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยง ถ้าเป็นในช่วงลูกอ๊อดจะใช้เป็นไฮเกรด (ถุงสีดำ) มีโปรตีนสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเริ่มให้ตั้งแต่ลูกอ๊อดมีอายุวันที่ 4 ไปจนมีขาออกมาแล้วปีนขึ้นแผ่น จากนั้นเปลี่ยนเป็นอาหาร เบอร์ 1 แล้วพอมีขนาดตัวประมาณผลมะนาวจึงเปลี่ยนมาใช้อาหาร เบอร์ 2 แล้วพอมีขนาดเท่ากับไข่ไก่จึงเปลี่ยนมาเป็นอาหารเบอร์ 3
คุณสำเริง บอกว่า นอกจากยึดอาชีพเลี้ยงกบแล้ว ที่บ้านพักยังทำเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงกบบ้านดอนขี้เหล็กสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริ มีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 13 ราย แต่ละรายมีรูปแบบการเลี้ยงทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ โดยชาวบ้านที่ยึดอาชีพเลี้ยงกบมีทั้งเลี้ยงเฉพาะลูกอ๊อด เลี้ยงกบเล็ก และกบเนื้อ ซึ่งแต่ละรายอาจมีการเลี้ยงแบบใดแบบหนึ่ง หรืออาจเลี้ยงทั้งหมดครบวงจร
เป็นแหล่งใหญ่ เพาะ-ขาย ในประเทศ พร้อมโกอินเตอร์ มีรายได้หลักแสน-ล้าน
คุณสำเริง ชี้ว่าผู้เลี้ยงควรรู้จักปรับอาหารให้เหมาะสม อาจไม่จำเป็นต้องยึดวิธีการให้อาหารตามที่ทางผู้ผลิตอาหารแนะนำ เพราะที่ผ่านมาจากประสบการณ์สามารถขายกบได้ในเวลาเพียง 60 วัน กบเนื้อมีรูปร่างใหญ่สมบูรณ์พร้อมขาย แทนที่จะต้องรอไปถึง 90 วัน ดังนั้น รวมเวลาตั้งแต่วันเพาะไปจนกระทั่งขายได้ใช้เวลาเพียง 3 เดือน กับ 10 วัน เท่านั้น
ขนาดกบที่ตลาดต้องการคือ ขนาดน้ำหนัก 3 ตัวกิโล เป็นไซซ์ที่เหมาะกับขายภายในประเทศ เพราะลูกค้าชอบมาก อีกทั้งคนขายก็กำไรดี และตลาดรับซื้อส่วนมากเป็นตลาดขนาดใหญ่อย่าง ตลาดไท ตลาดที่ปทุมธานี ตลาดมีนบุรี โดยแต่ละครั้งที่มาจับได้น้ำหนักถึงกว่า 2 ตัน ตลาดผู้บริโภคนำกบไปประกอบอาหารประเภทยำ ผัดพริก ทอด ทำแกงคั่ว คุณสำเริงชี้ว่าตลาดผู้บริโภคเนื้อกบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับลูกค้าที่มาซื้อลูกอ๊อดไปเลี้ยง ส่วนใหญ่มาจากแถวอีสาน นครปฐม สุพรรณบุรี กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่มาซื้อลูกกบจะมีอยู่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ลูกอ๊อดและลูกกบจะมีราคาสูงในราวเดือนธันวาคม เนื่องจากชาวบ้านนิยมซื้อไปเลี้ยงให้โตเพื่อหวังขายได้ราคาดีในช่วงเดือนเมษายน
นอกจากนั้น ยังมีชาวบ้านบางรายเลี้ยงกบเพื่อส่งขายตลาดฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อมาก แล้วที่ไม่นิยมกบขนาดใหญ่มาก นอกจากนั้น ยังมีตลาดประเทศเพื่อนบ้านด้วย ฉะนั้นผู้เลี้ยงกบในกลุ่มนี้จึงมีรายได้ปีละแสนกว่าบาทบ้าง หรือรายใหญ่ปีละประมาณล้านกว่าบาท
อยากได้กบดีมีคุณภาพ ต้องหมั่นคัดสายพันธุ์บ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงกบให้ได้คุณภาพสมบูรณ์ควรมีการคัดพ่อ-แม่พันธุ์ไว้ทุกรอบ แต่จะสลับกัน ถ้าคราวใดเก็บแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ไว้ก็จะไปหาพ่อพันธุ์จากฟาร์มอื่นมาผสม ขณะเดียวกันถ้าคราวใดมีพ่อพันธุ์ที่สมบูรณ์จะไปหาแม่พันธุ์มาผสม โดยใช้อัตรา ตัวเมีย 30 ตัว ตัวผู้ 50 ตัว
โดยวิธีคัดแม่พันธุ์จะเลือกเฉพาะตัวที่มีท้องสีขาว ไม่ควรเลือกคางลาย ท้องลาย เพราะมีลักษณะกบนามากเกินไป ควรเลือกขนาดปานกลางที่มีท้องสีขาวนวล คางสีขาว ส่วนวิธีคัดพ่อพันธุ์จะเลือกตัวที่มีคางสีดำ คอย่น ทั้งนี้ความสมบูรณ์เมื่อต้องการผสมพันธุ์คือ เมื่อตัวเมียมีอายุ 8-9 เดือน ส่วนตัวผู้ควรมีอายุ 6 เดือน
คุณสำเริง ยึดอาชีพทำธุรกิจเลี้ยงกบกับภรรยาเพียงสองคน จะจ้างแรงงานในบางคราวที่จำเป็น ดังนั้น ทั้งคู่จึงมีงานทำตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่าถ้ามีการบริหารจัดการอย่างดีแล้วไม่จำเป็นต้องใช้คนมาก แถมยังไม่เหนื่อยด้วย แต่สิ่งสำคัญมากคือ ต้องขยัน อดทน และใส่ใจ ทุ่มเทสักหน่อยแล้วเงินล้านก็จะมาเองโดยไม่ยาก
“ถือว่าการเลี้ยงกบของชาวบ้านในพื้นที่สามารถตอบโจทย์อาชีพเกษตรกรรมที่ใช้น้ำน้อยได้อย่างตรงเป้า เพราะอาชีพนี้ลงทุนไม่มาก ดูแลไม่ยุ่งยาก เพียงขอให้ขยันและเอาใจใส่เท่านั้น ส่วนตลาดคงไม่ใช่ปัญหา เพราะแนวโน้มการบริโภคเนื้อกบมีเพิ่มขึ้น ดังนั้น การเลี้ยงกบของชาวบ้านในพื้นที่ถือเป็นอาชีพหลักที่ไม่ต้องง้ออาชีพเกษตรกรรมอื่นอีกต่อไป เพราะทำให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนมีรายได้อย่างดี” คุณสำเริง กล่าว
สอบถามรายละเอียดเรื่องการซื้อกบหรือต้องการเข้าเยี่ยมชมฟาร์ม ติดต่อ คุณสำเริง วงษ์สุรินทร์และภรรยาได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ (084) 362-0658 หรือ (081) 899-6253
………………………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2563