ประมง หนุนใช้ ‘ผำ-หญ้าเนเปียร์’ เลี้ยงปลาตะเพียนแบบเกษตรอินทรีย์

ปัจจุบัน ปลาตะเพียน ใน จ.ยโสธร ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นต้องหาซื้อมาจากภาคกลาง กรมประมงจึงเข้าปรับเปลี่ยนแนวคิด และพฤติกรรมการเลี้ยงปลาตะเพียนให้สอดคล้องกับความต้องการ เป็นการเลี้ยงปลาตะเพียนแบบเกษตรอินทรีย์ โดยอาหารแบบอินทรีย์คือ ไข่น้ำ หรือที่ภาคอีสาน เรียกว่า ผำ มาเป็นอาหารปลา ตามนโยบายขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมุ่งใช้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานพัฒนา มีเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี พร้อมนำร่องให้จังหวัดยโสธรเป็นต้นแบบเมืองเกษตรอินทรีย์ หรือ ยโสธรโมเดล

ไข่น้ำ (ผำ)

น.ส. ชื่นดวงใจ คงบาล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ไข่น้ำ (ผำ) มีโปรตีนสูง 40% ของน้ำหนักแห้ง จากรายงานผลวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของไข่น้ำ พบว่า ใน 100 กรัม น้ำหนักแห้ง ให้พลังงานต่อร่างกาย 8 กิโลแคลอรี เส้นใย 0.3 กรัม แคลเซียม 59 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม เหล็ก 6.6 มิลลิกรัม และยังมีวิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด เช่น ลิวซีนวาลีน ฟีนิวอลานีน ฯลฯ เป็นต้น การใช้ไข่น้ำหรือผำมาให้เป็นอาหารปลากินพืชจึงเป็นทางเลือกในการเดินเข้าสู่แนวทางเบื้องต้นของการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเกษตรอินทรีย์

เลี้ยงสัตว์น้ำระบบเกษตรอินทรีย์

นายคำเส็ง องอาจ กล่าวเพิ่มเติมในฐานะเกษตรกรที่ทดลองเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเกษตรอินทรีย์ว่า เดิมทีที่บ้านทำนาข้าวปลูกข้าว แต่เมื่อ ปี 2559 ทางสำนักงานประมงจังหวัดยโสธร ได้เข้ามาส่งเสริมให้ขุดบ่อเลี้ยงปลา พร้อมหาตลาดในการจำหน่ายปลาให้ แต่เนื่องจากตัวผมไม่ค่อยจะมีความรู้ด้านการประมงมากเท่าที่ควร จึงยังไม่กล้าที่จะลงทุนเลี้ยงปลาอย่างเต็มตัว ทางกรมประมงจึงเริ่มให้ทดลองเลี้ยงปลาตะเพียนในนาข้าวไปก่อน โดยใน ปี 2559 สามารถจับปลาขึ้นขายได้กำไร ประมาณ 30,000 บาท

เมื่อเริ่มมีผลกำไรให้เห็น จึงได้ทำบ่อ ขนาด 600 ตร.ม. เพื่อทดสอบการเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์และได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงบ่อเลี้ยง ในวันที่ 12 พ.ค. 2560 โดยได้เลือกปล่อยพันธุ์ปลากินพืช จำนวน 1,000 ตัว ได้แก่ ปลาตะเพียน 750 ตัว ปลานิล 200 ตัว และปลาไน 50 ตัว ขนาดตั้งแต่ 4.5-5.0 ซ.ม. และใช้ไข่น้ำหรือผำ และหญ้าเนเปียร์ บดให้เป็นอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ครั้งละประมาณ 20 กก. (น้ำหนักเปียก) ปัจจุบันพบว่าปลาดังกล่าวโตเร็ว อีกทั้งขนาดของปลายังมีขนาดเท่าๆ กัน

 

พร้อมกันนี้ ยังมีการนำปลาตะเพียน จำนวน 30,000 ตัว และปลานิล จำนวน 7,500 ตัว ไปปล่อยเสริมลงในนาข้าวส่วนที่เหลืออีก 15 ไร่ ใช้เวลาการเลี้ยงประมาณ 6 เดือน  สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 1 ตัน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ เผยแพร่ทางระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่  3 ก.พ. 2020