ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 9 ตุลาคม ที่บริเวณชายหาดละแม หมู่ที่ 5 ต.ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร นายศุภณัฐ พรหมมาลี อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้น 2 ปี คณะประมง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร เปิดเผยว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 7 ตุลาคม 2560 ขณะที่ตนเดินเล่นอยู่ชายหาดละแม สังเกตเห็นปลาชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายปลาหมอเทศในเมืองไทย และทราบทันทีว่าปลาดังกล่าว คือ “ปลาหมอคางดำ” ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำในเมืองไทยมาก จึงเอาสวิงช้อนจับขึ้นมาได้ 2-3 ตัวก่อนนำไปใส่ขวดแก้วใส่น้ำจืด และปลาหมอคางดำ ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ร่วม 1 วัน หากเป็นปลาทะเลอื่นๆ จะตายทันที เนื่องจากเหงือกแตก
เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดก็ทราบว่า ปลาหมอคางดำ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Sarotherodon melanotheron Ruppell ซึ่งเป็นปลาในแถบทวีปแอฟริกาที่มีอันตรายต่อสัตว์น้ำชายฝั่งทุกชนิดถึงขนาดทำให้สูญพันธ์ได้ วงการประมงจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า “เอเลี่ยนสปีชี่ส์” และเมื่อกลับไปเดินตรวจสอบแนวชายฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตรก็พบปลาหมอคางดำจำนวนมากนับร้อยตัว
นายศุภณัฐ กล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่เป็น นักศึกษาคณะประมง และติดตามการแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทราบว่า อันตรายใหญ่หลวงสำหรับอาชีพประมงชายฝั่งกำลังเกิดขึ้นที่ จ.ชุมพรแล้ว หลังจากเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาพบการระบาดของปลาหมอคางดำสร้างความเสียหายอย่างหนักใน จ.สมุทรสงคราม แต่ข่าวก็เงียบหายไป ตนคาดไม่ถึงว่าจะมาพบปลาหมอคางดำในพื้นที่ อ.ละแม จ.ชุมพร ซึ่งอยู่ห่างจาก จ.สมุทรสงครามเกือบ 500 กิโลเมตร
ปลาหมอคางดำชนิดนี้จะแพร่พันธ์เร็วมาก แม่ปลา 1 ตัว อายุ 2 เดือนออกลูกได้ 100 –1,000 ตัว ในระยะเวลา 4 เดือนจะแพร่พันธ์ได้นับแสนตัว เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งทะเลอ่าวไทย แต่สัตว์น้ำชายฝั่ง ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา จะสูญหายหมด เนื่องจากปลาหมอคางดำจะกิน ตัวอ่อนสัตว์น้ำทุกชนิด เช่น หากหลุดเข้าไปในบ่อกุ้งที่ปล่อยลูกกุ้ง 5 หมื่นตัว เพียง 2 เดือนเท่านั้น บ่อนั้นจะไม่เหลือกุ้งแม้แต่ตัวเดียว มีแต่ปลาหมอคางดำทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ปลาหมอคางดำมีการนำเข้ามาโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอาหารเพื่อหวังพัฒนาให้เป็นแหล่งอาหารของคนไทย แต่ปรากฏว่าเนื้อปลาหมอคางดำกลับเป็นปลาที่มีเนื้อแข็งหยาบ มีเนื้อน้อยกว่าก้าง คาดว่า บริษัทดังกล่าวคงต้องการทำลาย แต่กลับหลุดรอดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลต่อระบบนิเวศ รวมทั้งยังแพร่พันธุ์ในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล และทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตกุ้งทะเลเป็นอย่างมาก
อีกทั้งช่วงนี้ ยังมีชาวประมงบอกว่า ปลา ปู กุ้ง หอย ในธรรมชาติ มีน้อยมาก ทั้งที่มีการอนุรักษ์ และ ปล่อยพันธ์สัตว์น้ำลงไปในทะเลนับล้านๆ ตัว แต่จับได้แต่ปลาหมอคางดำ ซึ่งใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย โดยนายศุภณัฐ กล่าวว่า จะรีบแจ้งเรื่องนี้ต่ออาจารย์ในคณะประมง ม.แม่โจ้ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป แต่ตอนนี้ได้แต่นำ เรื่องไปโพสในเฟซบุ๊กเพื่อเตือนให้ชาวประมงได้รับทราบและช่วยกันทำลายไปพลางๆ