ปลาชะโดอาละวาดหนัก! ชาวบ้านเดือดร้อน ปลาในกระชังถูกกัดตายรายวัน

ปิศาจลำแชะ ปลาชะโดอาละวาดหนักเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังต้องหาวิธีการป้องกันหลังปลากระชังถูกกัดตายรายวัน

นครราชสีมา วันนี้ (15 ต.ค. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในเขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เกือบ 100 ราย กำลังประสบกับปัญหาถูกปลาชะโดคุกคามอย่างหนัก เนื่องจากมีการรวมฝูงคอยเฝ้าดักกินปลาในกระชังของเกษตรกร โดยใช้วิธีการกัดกระชังปลาของเกษตรกรให้ขาด จากนั้นจะเข้าไปไล่กัดกินปลาในกระชัง

เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาต้องใช้ตาข่ายซ้อนกันถึง 3 ชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาชะโดเข้าไปกัดกินปลาที่เลี้ยงเอาไว้ได้ แต่ก็ยังมีปลาชะโดบางส่วนหลุดรอดเข้าไปกินปลากระชังได้ เรียกได้ว่า ปลาชะโดคือปิศาจแห่งลุ่มน้ำที่ชาวบ้านแถวนี้กลัวมากเลยทีเดียว

เกษตรกรส่วนหนึ่งจึงต้องใช้วิธีการนำเบ็ดเกาะหลังลูกปลาที่เลี้ยงไว้เพื่อล่อให้ชะโดกินเบ็ดบริเวณโดยรอบกระชัง เพื่อช่วยกำจัดปลาชะโดอีกทางหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ผลมากนักแต่ก็ถือเป็นการลดจำนวนปลาชะโดอีกทางหนึ่ง ซึ่งแต่ละวันก็จะมีทั้งเจ้าของกระชัง และชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยกันแขวนเบ็ดและตกปลาชะโดได้วันละนับสิบตัวเลยทีเดียว

นายธนนชัย สืบพรหม ประมงอำเภอครบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีรายงานการพบปลาชะโดภายในเขื่อนลำแชะเป็นจำนวนมาก และคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังพบมีมีปลาน้ำจืดหลากหลายชนิดถูกปลาชะโดรวมถึงปลาล่าเนื้อชนิดอื่นๆ ไล่กัดเป็นบาดแผลลอยตายเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งจะพบเห็นได้ทั่วไปในเขื่อนลำแชะ

อีกทั้งปลากระชังที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ก็ถูกปลาชะโดเข้าไปรบกวนสร้างความเสียหายอยู่เป็นประจำ ดังนั้นเชื่อได้ว่าปลาชะโดในเขื่อนลำแชะ มีจำนวนมากเกินไปและส่งผลต่อระบบนิเวศน์ในแหล่งน้ำและอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อจำนวนประชากรปลาชนิดอื่นที่อาจจะถูกล่าและลดจำนวนลง ซึ่งจะส่งผลต่อวิถีชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงที่ต้องหาสัตว์น้ำมาเลี้ยงดูครอบครัว ที่อาจจะหาปลาได้ยากขึ้นในอนาคต

ดังนั้นจึงอยากฝากไปถึงผู้ใดก็ตามที่สามารถจับปลาชะโดภายในเขื่อนลำแชะ หรือลำน้ำอื่นๆได้ ขอให้นำขึ้นมากำจัดเสีย ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใดก็ตาม ไม่อยากให้ปล่อยลงลำน้ำกลับคืน เพราะปลาชะโดมีนิสัยดุร้ายมาก หวงถิ่นเป็นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูผสมพันธุ์ปลาตัวผู้ซึ่งเป็นผู้ดูแลไข่และลูกอ่อน จะกัดและทำร้ายสัตว์ทุกชนิดที่ผ่านเข้ามาใกล้รัง ไม่เว้นแม้กระทั่งมนุษย์

การเลี้ยงลูกอ่อนที่เรียกกันว่า ลูกครอกชะโด ของแม่พ่อปลา ลูกครอกในแต่ละฝูงนั้นจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 100 ตัว และเนื่องจากพ่อแม่ชะโดที่ดูแลลูกครอกเหล่านี้ดุร้าย และจะกัดขย้ำทุกสิ่งที่เข้ามากวนลูกครอก ทำให้มากกว่า 90% ของจำนวนลูกครอกสามารถอยู่รอดและขยายพันธุ์ต่อไป เป็นผลให้ปลาชนิดนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในแต่ละปี และเป็นผลทำให้ระบบนิเวศน์ของสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำนี้ขาดความสมดุล