เกษตรกร จ.ตราด ทิ้งสวนยาง! หันเอาดีด้านประมง เปิดฟาร์มเลี้ยงกุ้งขาวระบบปิด ได้ผลดี เลี้ยงน้ำได้ตลอดปี

คุณประเสริฐ อนุเวช เป็นเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตราดอีกหนึ่งคนที่ให้ความสนใจ ปรับเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา มาประกอบธุรกิจทำฟาร็มเพาะเลี้ยงกุ้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 3 ตำบลเขาสมิง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี

คุณประเสริฐ อนุเวช

คุณประเสริฐ เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะหันมาเลี้ยงกุ้งขาวแบบระบบปิด ตนเคยทำสวนผลไม้และทำสวนยาง แต่ด้วยราคาผลไม้ขึ้นๆลงๆไม่แน่นนอน บางปีก็ขาดทุน พอในปี 2533 ได้เข้ามาเป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากธนาคารจึงเปลี่ยนมาทำฟาร์มกุ้งกุลาดำ

จากชาวสวน สู่อาชีพประมง

“เลี้ยงมาได้ประมาณ 10 ปี ก็ต้องประสบปัญหา กุ้งโตช้า ตายง่าย เลี้ยงยาก อีกทั้งสถานที่เพาะเลี้ยงเปิดทำให้เกิดโรคง่าย จึงหยุดเลี้ยงและหันมาเลี้ยงกุ้งขาวระบบปิดในพื้นที่หมู่บ้านรำภูลาย ตำบลเขาสมิง อำเภอเขาสมิง แทน เนื่องวิธีการเลี้ยงและระยะเวลาเลี้ยงได้ผลผลิตที่ไว้กว่า อีกทั้งตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญเราสามารถควบคุมโรคที่มากับน้ำภายนอกได้เป็นอย่างดี  เพราะระบบปิดนี้จะไม่ทิ้งน้ำ แต่จะนำกลับมาบำบัดด้วยสารบีเคแอล เติมแร่ธาตุที่กุ้งจะสามารถนำไปใช้ เช่น แมกนีเชียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปรแทสเซียม โซเดียมไบคาร์โบเนต ซึ่งสารเหล่านี้จะเติมลงไปได้เราจะต้องทำการตรวจเช็คด้วยเครื่องมือวัดคุณภาพน้ำ เพื่อจะได้เติมสารให้ถูกต้องและสามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียนภายในบ่อใช้เลี้ยงเพาะเลี้ยงได้ถึง 3 ครั้ง ก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ”

ระบบเติบอากาศในบ่อเพาะเลี้ยง

ระยะเวลา 5 ปีที่หันมาทำฟาร์มกุ้งขาวระบบปิด คุณประเสริฐสามารถขยายพื้นที่บ่อลี้ยงได้มากถึง 20 บ่อ โดยแต่ละบ่อกินเนื้อที่ 5-6 ไร่ และนอกจากบ่อเลี้ยงแล้วยังมีบ่อพักน้ำไว้สำหรับกักเก็บน้ำทะเลที่หนุนในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งในช่วงระยะเวลา1-4 เดือนนี้คุณประเสริฐจะดึงน้ำมาเก็บไว้ในบ่อพัก เพื่อสำหรับใช้เลี้ยงกุ้งกว่า 30 ไร่ ซึ่งรวมแล้วเนื้อทั้งหมดภายในฟาร์มมีมากถึง 200 ไร่

บ่อเพาะเลี้ยง สารอาหารสมบูรณ์ ได้กุ้งขาวคุณภาพเยี่ยม

บ่อเพาะเลี้ยง ส่วนใหญ่คุณประเสริฐจะสร้างกินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ โดยแต่ละบ่อจะมีพลาสติกที่มีความหนาพอสมควรคลุมบริเวณขอบบ่อเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในช่วงที่ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำเข้าและออก ส่วนด้านล่างบ่อจะเป็นพื้นดินตามธรรมชาติ

ขนาดของบ่อเพาะเลี้ยง ความสูงจะอยู่ที่ 1.80 – 2 เมตร ส่วนความกว้างของบ่อจะขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ แต่ไม่ควรเกิน 5-6 ไร่ เนื่องจากการจัดการและการควบคุ้มจะเป็นไปได้ยากและไม่ทั่วถึง

สำหรับคุณภาพน้ำในบ่อเพาะเลี้ยง ความเค็มควรจะอยู่ระหว่าง 15-17 ppm. ซึ่งต้องวัดความเค็มทุกสัปดาห์ มีความเป็นกรด-ด่าง(ค่าpH)ในปริมาณที่พอเหมาะ โดย ในชาวงเช้าค่า pH ของน้ำในบ่อควรอยู่ที่ 7.3-7.5 และในช่วงเย็นควรอยู่ที่ 8.5 มีแร่ธาตุในอัตราส่วนพอดี

ออโต้ฟีด ระบบพ่นอาหารอัตโนมัติ

การตรวจเช็คแร่ธาตุของน้ำในบ่อเลี้ยงคุณประเสริฐจจะทำทุก 3-5 วัน ส่วนของค่าออกซิเจนในน้ำจะวัดทุกวันในช่วงเช้าตรู่ จนกว่าจะจับขาย ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 90-120 วัน

1 ปี คุณประเสริฐ สามารถเลี้ยงกุ้งได้ถึง 3 รอบ โดยแต่ละบ่อจะจับได้ถึง 20-25 ตัน โดยรวมเฉลี่ยปีหนึ่งๆ สามารถจับได้มากถึง 100 ตัน

และหลังจากที่จับกุ้งขายแล้ว บ่อเพาะเลี้ยงจะทำความสะอาดทุกครั้งด้วยการลอกเอาเลนที่อยู่ภายในบ่อออก จากนั้นก็ปล่อยบ่อตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ เพียงเท่านี้ก็สามารถเริ่มดึงน้ำที่เก็บไว้ในบ่อพักเข้าพร้อมกับปล่อยลูกกุ้ง ซึ่งอัตราการปล่อย บ่อขนาด 5-6 ไร่ จะปล่อยลูกกุ้งประมาณ 9 แสนตัว

คุณประเสริฐยังบอกอีกว่า กุ้งขาวเป็นสัตว์ชอบน้ำที่ค่อนข้างใส บ่อเลี้ยงสะอาด และมีออกซิเจนหมุนเวียนอยู่ตลอด ในส่วนของการให้อาหารจะใช้ระบบ ออโต้ฟีด ด้วยเครื่องจะปล่อยอาหารอัตโนมัติ ทุก 1-2 นาที ตอลด 24 ชั่วโมง

กุ้งขาวจากบ่อ

ส่วนปริมาณอาหารที่พ่นออกมาในแต่ละนาทีขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณของกุ้งภายในบ่อเพาะเลี้ยง ซึ่งโดยเฉลี่ยในแต่ละวันจะใช้ประมาณ 500 กิโลกรัม

ต้นทุนการเลี้ยงแบบระบบปิด แน่นอน จะต้องสูงกว่าการเลี้ยงแบบธรรมดา ทั้งค่าอาหารที่ให้ทุกวัน อาหารเสริม แร่ธาตุต่างๆที่เติมลงไปในน้ำ แต่ด้วยระบบปิดสามารถช่วยป้องกันยับยั้ง ลดความเสียงให้ผู้เพาะเลี้ยงไม่ต้องกังวลกับเรื่องของโรคที่จะเกิดขึ้น

การทำฟาร์มกุ้ง ถ้าเลี้ยงแล้วไม่ตาย ก็ไม่เก่ง ไม่มีประสบการณ์ หากท่านใดสนใจศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงกุ้งขาวสามารถติดต่อได้ที่ คุณประเสริฐ  อนุเวช บ้านเลขที่ 12 หมู่ 3 ตำบลเขาสมิง อ.เขาสมิง จ.ตราด เบอร์โทรศัพท์ 081 -864 1392