“ศุภกิตติ์ เซียนประเสริฐ” ปรับนามาเลี้ยงปลา/กุ้ง จำหน่าย ที่สมุทรปราการ

การปรับพื้นที่ทำนาเพื่อใช้เลี้ยงปลา เป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ และหญ้า ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพสัตว์น้ำเป็นอย่างดี

คุณศุภกิตติ์ เซียนประเสริฐ หรือ คุณอ้วน อยู่บ้านเลขที่ 102 หมู่ที่ 9 ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โทรศัพท์ 063-328-9962 ได้ปรับพื้นที่จำนวน 16 ไร่ ซึ่งเคยทำนามาเป็นบ่อเลี้ยงปลา/กุ้ง แบบผสมผสานเพียงบ่อเดียว สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี

คุณศุภกิตติ์ เซียนประเสริฐ เจ้าของบ่อปลา

คุณอ้วน เลี้ยงปลาหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นปลานิล ปลาตะเพียน และปลายี่สก รวมอยู่ในบ่อเดียวกัน แต่เลี้ยงปลานิลเป็นหลักเพราะเป็นปลาตลาดที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงต่อเนื่อง สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด จึงทำให้ที่ผ่านมาราคาไม่ค่อยลดต่ำ อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ปลาแปลงเพศที่เหมาะกับการเลี้ยงเพื่อบริโภคทางการค้า เพราะโตเร็ว มีอัตราเนื้อมาก

เหตุผลที่คุณอ้วนเลือกเลี้ยงปลาเพียงบ่อเดียว เพราะง่ายและสะดวกต่อการดูแลบริหารจัดการ อีกทั้งบ่อเลี้ยงขนาดใหญ่ช่วยทำให้ประชากรปลาอยู่อย่างมีความสุขโดยไม่แออัดจนเครียด มีผลทำให้ปลามีสุขภาพดี กินอาหารได้มาก แข็งแรง โตเร็ว จับขายได้ราคาดี แต่ถ้าเป็นบ่อเล็กมีพื้นที่จำกัดทำให้เกิดความแออัด จนทำให้ปลามีขนาดตัวเล็ก ไม่ค่อยสมบูรณ์ หรือหากปล่อยปลาจำนวนน้อยก็ไม่คุ้ม

ผูกรำอาหารปลาไว้กลางบ่อเป็นจุด

ขณะเดียวกัน การเลี้ยงปลาหลายชนิดรวมกันจะทำให้ปลาแต่ละชนิดเกื้อกูลกัน อย่างปลายี่สกมักชอบกินอาหารที่อยู่ใต้บ่อ จึงไม่ต้องกังวลว่าอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ดังนั้น ปลายี่สกจึงเป็นปลาที่สร้างประโยชน์ได้อีก ส่วนปลาตะเพียนมักชอบกินหญ้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบริเวณริมบ่อ ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ช่วยทำให้ประหยัดต้นทุนอาหาร

ในแต่ละรอบมีจำนวนปลาชนิดต่างๆ ที่ปล่อยลงบ่อ ได้แก่ ปลานิล จำนวน 35,000 ตัว ปลาตะเพียนจำนวน 2,000 ตัว และปลายี่สก จำนวน 250 ตัว

คุณอ้วนใช้รำข้าวเป็นอาหารของปลาทุกชนิดที่เลี้ยง เพราะหาง่ายในพื้นที่ มีโรงสีข้าวและมีราคาถูก โดยให้อาหารเพียงครั้งเดียวในช่วง 8 โมงเช้า เพียงแขวนรำขนาดน้ำหนัก 40 กิโลกรัม ไว้กลางบ่อ

เจ้าของบ่อชี้ว่า จะต้องพยายามหาวิธีควบคุมการเลี้ยงเพื่อให้ปลาทุกตัวมีขนาด/น้ำหนัก ตามที่ตลาดต้องการ ทั้งนี้ เพื่อให้ราคาปลาที่ขายเท่ากัน ส่วนอาหารเม็ดใช้เลี้ยงเสริมในเฉพาะช่วงที่ต้องการทำ      น้ำหนักปลา แต่หลังจากปลามีน้ำหนักตามต้องการแล้ว ก็จะเปลี่ยนมาใช้รำเลี้ยงตามปกติ เพื่อให้เกิดการประหยัด แล้วอาหารเม็ดที่ใช้ ประมาณ 1.5 ตัน ต่อรอบ จะเริ่มให้อาหารเม็ดเมื่อปลามีอายุประมาณ     6 เดือน ไม่ควรใช้อาหารเม็ดอย่างเดียว เพราะมีต้นทุนสูงถึง 2 เท่า

กุ้งขาว ที่เพิ่งจับจากบ่อยังไม่คัดแยกขนาด

การเลี้ยงปลาหลายชนิดรวมในบ่อเดียวกัน มีรูปแบบวิธีเฉพาะทางเทคนิคพอสมควร คุณอ้วน บอกว่า จะเริ่มปล่อยปลานิลลงบ่อก่อน จะเลี้ยงปลานิลชนิดเดียวจนมีขนาดตัวประมาณ 4 นิ้ว หรือระยะเวลา 4  เดือน จากนั้นจึงปล่อยปลาตะเพียนและปลายี่สกตาม ทั้งนี้ ปลาตะเพียนกินเร็วมาก การปล่อยโดยเว้นระยะจะช่วยให้ไม่แย่งอาหารปลานิล

สำหรับผู้มารับซื้อมี 2 แบบ คือ แบบรับซื้อปลาสดที่ต้องใช้ออกซิเจนติดไว้กับรถขนปลา หรือปลาอ๊อก เพื่อนำปลาสดไปขายหลายแห่ง คนรับซื้อกลุ่มนี้จะมีคนงานมาลากปลา โดยจะซื้อครั้งเดียวทั้งบ่อ แต่จะแบ่งจับปลาคราวละประมาณ 5 ตัน หรืออีกกลุ่มเป็นคนรับซื้อเป็นปลาน็อกน้ำแข็ง ก็จะวิดบ่อให้แห้งแล้วจับครั้งเดียวเพื่อแช่น้ำแข็งนำไปขาย

ทั้งนี้ การกำหนดราคาปลาทั้งสองชนิดจะต่างกัน อย่างปลาน้ำแข็ง ถ้าเป็นปลาตะเพียนกับปลายี่สกจะมีราคาสูง ส่วนปลาออกซิเจนเน้นจะใช้เฉพาะปลานิลสด จึงทำให้มีราคาสูง ดังนั้น การทำอาชีพนี้ให้ประสบความสำเร็จจะต้องมองให้เห็นถึงช่องทางให้ได้เงินมากกว่า มองให้ทะลุกลไกตลาดอย่างเข้าใจ เพราะคนรับซื้อมีหลายรูปแบบที่ต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง

การจับกุ้งในบ่อเลี้ยง

ขณะเดียวกัน วิธีตีราคารับซื้อปลาของผู้รับซื้อแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างเช่นกัน ในกรณีที่เป็นปลาออกซิเจนจะทอดแหเพื่อสุ่มดูขนาดและความสมบูรณ์ของปลาก่อนกำหนดราคา อย่างเช่น ถ้าสุ่มพบว่าปลารุ่นนั้นมีขนาดน้ำหนักต่อตัวเป็นกิโล ราคาก็จะประมาณ 42 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคานี้ถือว่าพอเหมาะ แต่ถ้าลงมาถึงราคากิโลกรัมละ 38 บาท อาจอยู่ไม่ได้ ส่วนปลาตะเพียนตีราคาให้ กิโลกรัมละประมาณ 25-30 บาท ในกรณีที่เป็นปลาน้ำแข็ง จะตีราคาปลาตะเพียนให้ กิโลกรัมละ 42 บาท

สำหรับน้ำหนักปลาที่ตลาดรับซื้อโดยปกติจะอยู่ที่ 8 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม ดังนั้น อยู่ที่การบริหารจัดการของเจ้าของบ่อปลาที่จะเลือกเลี้ยงปลาชนิดใด แล้วเลี้ยงเพื่อขายให้ใคร

คุณอ้วน ชี้ว่า ราคาซื้อ-ขายปลาจะมีกลไกตลาดคอยกำกับอยู่ หากช่วงใดราคาลดลงมากจะมีกำไรน้อย ผู้เลี้ยงจะต้องหาวิธีปรับสภาพการเลี้ยงให้เหมาะสม จะต้องพยายามลดต้นทุนหรือควบคุมต้นทุนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัวอย่างเช่น อาจจะใช้หญ้าเนเปียร์แทน เพราะมีราคาถูกมาก เพียงตันละ 3,000 บาท ซึ่งถูกกว่ารำที่มีราคาตันละ 9,500 บาท

อย่างไรก็ตาม การหาซื้อหญ้าเนเปียร์ภายในพื้นที่มีเพียงจำนวนจำกัด แล้วถ้าจำเป็นต้องใช้จะต้องเดินทางไปซื้อที่นครนายกเพราะใกล้ที่สุด แต่ถ้าคิดจะปลูกเองคงไม่คุ้มเพราะมีต้นทุนสูง แล้วต้องหาพื้นที่ปลูกเฉพาะ แล้วไม่สามารถนำมาปลูกใกล้บ่อเลี้ยงปลาได้ เนื่องจากความสูงของลำต้นสร้างปัญหาต่อกระแสลมที่พัดเข้าบ่อปลาที่สร้างคลื่นในบ่อที่ช่วยสร้างออกซิเจนในน้ำให้มีมากขึ้น

ระยะเวลาการเลี้ยงปลาจนจับขายประมาณ 9 เดือน อันนี้สำหรับปลาออกซิเจน แต่ถ้าเป็นปลาแช่น้ำแข็งต้องยืดเวลาเลี้ยงไปถึง 11 เดือน จึงเหมาะกับการวิดบ่อ และหลังจากจับปลาขายหมดแล้ว จะพักบ่อเพื่อตากบ่อไว้ประมาณ 3 วัน พร้อมกับหว่านจุลินทรีย์เม็ดใส่ในบ่อเพื่อปรับสภาพดินและฆ่าเชื้อโรคในดิน นอกจากนั้นแล้ว จุลินทรีย์ยังช่วยสร้างแพลงตอนซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติ จากนั้นให้พักทิ้งไว้อีก 3 วัน จึงปล่อยน้ำเข้าบ่อ

นำใส่กล่องเตรียมส่งขายที่แพกุ้ง

ส่วนโรคปลาที่พบมักเกิดจากนกตามธรรมชาติที่บินจากแหล่งอื่นแล้วนำมูลที่มีเชื้อโรคมาปล่อยใส่ในบ่อ ซึ่งแก้ไขยากมาก เพียงแต่ต้องใส่จุลินทรีย์เพื่อพยายามปรับสภาพน้ำให้มีความสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา

กุ้งขาวที่คุณอ้วนเลี้ยง ไปซื้อพันธุ์มาจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ ในราคาตัวละ 4 สตางค์ โดยจะทยอยปล่อยลูกกุ้งลงบ่อเดือนละครั้ง ในจำนวนครั้งละ 100,000-200,000 ตัว การแบ่งปล่อยลูกกุ้งเป็นรุ่น เพราะต้องการจับกุ้งชุดแรกขายก่อนในช่วงเวลา 2 เดือนครึ่ง ถึง 3 เดือน สำหรับอาหารของกุ้งได้จากอาหารปลา

ทั้งนี้ เวลาจับกุ้งขนาดตัวที่ต้องการจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “คอนโดฯ” โดยช่องตาข่ายคอนโดฯ จะมีรูขนาดตัวกุ้งที่ต้องการจับ แต่ถ้ากุ้งตัวเล็กก็จะหลุดออกไป ทั้งนี้ ในทุก 2 เดือนครึ่ง ถึง 3 เดือน จะทยอยจับกุ้งขายเป็นรุ่น จึงทำให้เลี้ยงกุ้งขายมีรายได้ตลอดทั้งปี

สภาพนาข้าว ที่ปรับมาเลี้ยงปลาและกุ้ง

เมื่อจับกุ้งแล้วนำไปขายที่แพรับซื้อที่ห่างจากบ้านไม่ไกล เมื่อไปถึงแพรับซื้อจะต้องคัดแยกออกเป็นขนาดต่างๆ ซึ่งถ้าตัวใหญ่ จะตักออกมาชั่งน้ำหนักว่า ใน 1 กิโลกรัม มีจำนวนกี่ตัว โดยราคากุ้ง จำนวน 50 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 180-200 บาท หรือจำนวนกุ้ง 100 ตัว ต่อกิโลกรัม มีราคา 125 บาท โดยการกำหนดราคารับซื้อ-ขายกุ้งขาวจะมาจากทางตลาดมหาชัย ทั้งนี้ รายได้แต่ละครั้งไม่เท่ากัน เพราะกุ้งที่จับจากบ่อในแต่ละครั้งมีขนาดและน้ำหนักแตกต่างกัน

คุณอ้วน บอกว่า ถ้าถามเรื่องทุนต้องบอกว่าเป็นการขายกุ้งเพื่อเลี้ยงปลา เพราะกุ้งจับขายได้บ่อย จึงนำรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงปลาโดยไม่ต้องควักทุนเดิม ฉะนั้น เมื่อถึงคราวจับปลาขายก็จะเห็นเป็นกำไร แต่ทั้งนี้ก็อาจมีความเสี่ยงตรงกุ้งที่ปล่อยในบ่ออาจจับขายได้ไม่เต็มจำนวนที่ปล่อย อาจเหลือสัก 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะถูกปลาที่เลี้ยงในบ่อกินเป็นอาหารถ้ากุ้งโตช้า แต่อาศัยว่าราคาขายกุ้งสูงกว่าปลาถ้าจับได้จำนวนน้อย แต่ราคายังมีมากพอที่จะไม่ต้องควักทุนเพิ่ม

คุณอ้วน เผยว่า มีแผนจะเลี้ยงกุ้งฝอยในกระชังในบ่อที่เลี้ยงปลา เพราะที่ผ่านมากุ้งฝอยมีราคาดี กิโลกรัมละ 50-60 บาท ทุกวันนี้พอมีขายบ้าง แต่คนรับซื้อต้องมาช้อนเอง ซึ่งก็อาจจะไม่สะดวกนัก ดังนั้น คิดว่าจะต้องสร้างกระชังสำหรับเลี้ยงกุ้งฝอย เมื่อมีคนมาซื้อก็เพียงแต่จับในกระชังออกไปโดยไม่ต้องไปรบกวนปลาที่อยู่ในบ่อจะเครียด

สำหรับคนที่สนใจต้องการซื้อ คุณอ้วน บอกว่า คงขายได้เฉพาะกุ้งขาว เพราะปลาที่เลี้ยงส่วนมากมีพ่อค้าประจำมาเหมาซื้อทั้งบ่อล่วงหน้า

ในยุคการแข่งขันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนในภาคเกษตรกรรมต้องหาวิธีปรับตัวเพื่อให้ทันและรับมือกับการตลาดที่เปลี่ยนแปลง แล้วคงหยุดอยู่กับที่ไม่ได้หากคุณต้องการอยู่รอด

………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

Update 06/07/2021