เลี้ยงกุ้งกุลาดำ แบบระบบอินทรีย์ ที่สมุทรปราการ ต้นทุนต่ำ รายได้สูง คุณภาพส่งออก

กุ้งอินทรีย์ คือกุ้งปลอดสารพิษ เป็นมิตรต่อผู้บริโภค ในปัจจุบันค่อนข้างหารับประทานยาก เพราะการเลี้ยงกุ้งระบบอินทรีย์มีข้อจำกัด และกฎระเบียบที่เข้มงวด ดังนี้

  1. การเลี้ยงต้องไม่มีการใช้สารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง
  2. 2. ต้องไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO)
  3. ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร สามารถปล่อยกุ้งได้ไม่เกิน 15 ตัว
  4. ต้องรักษาสิ่งแวดล้อม และอาหารที่ใช้ต้องเป็นอาหารจากธรรมชาติ จะใช้อาหารเม็ดที่ซื้อจากตลาดไม่ได้ ต้องมีการสร้างระบบห่วงโซ่อาหารโดยธรรมชาติรอบบ่อที่เลี้ยง

ด้วยข้อจำกัดที่เข้มงวด ทำให้เกษตรกรถอดใจกันไปหลายราย แต่ยังมีเกษตรกรที่ยังมุ่งมั่นและประสบผลสำเร็จสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากระบบการเลี้ยงกุ้งอินทรีย์

คุณสุรกิจ ละเอียดดี เจ้าของสุรกิจฟาร์มกุ้งอินทรีย์ เลขที่ 200/1 หมู่ที่ 13 ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เล่าว่า ครอบครัวประกอบอาชีพทำประมงอยู่แล้ว ตนเป็น รุ่นที่ 4 ของตระกูล แต่ก่อนที่จะเริ่มหันมาจับธุรกิจประมงอย่างจริงจัง ตนได้ทำงานบริษัทของน้า กว่า 10 ปี เวลาผ่านไปเริ่มรู้สึกว่างานที่ทำมันไม่ใช่ตัวเรา จึงตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจที่บ้าน เลี้ยงสัตว์น้ำแบบระบบพัฒนามาหลายอย่าง สุดท้ายมาประสบผลสำเร็จที่การเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบอินทรีย์ จำนวน 60 ไร่

คุณสุรกิจ ละเอียดดี เจ้าของสุรกิจฟาร์มกุ้งอินทรีย์

เลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบอินทรีย์ ไม่ยากอย่างที่คิด

การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้เลี้ยงไปเรื่อยๆ ใจเย็นๆ คุณสุรกิจ บอกว่า จริงๆ แล้วการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเลี้ยงง่าย มีข้อดีหลายอย่าง ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ สร้างระบบห่วงโซ่อาหารธรรมชาติ ให้กุ้งหาอาหารกินเอง โรคระบาดเกิดขึ้นน้อย

กุ้งที่สุรกิจฟาร์มเลี้ยงเป็นกุ้งกุลาดำ ลูกพันธุ์ที่นำมาอนุบาลต้องได้มาจากฟาร์มมาตรฐานรับรองจากกรมประมง โดยนำลูกพันธุ์ ขนาด P15 มาเลี้ยงอนุบาลในบ่อ ใช้ระยะเวลา 1 เดือน เมื่อครบให้ย้ายกุ้งลงบ่อดิน ปล่อยลูกกุ้งทุกๆ 1เดือน จำนวนครั้งละ 300,000 ตัว ในบ่อขนาด 30 ไร่ ที่นี่จะจับกุ้งขายได้ทุกอาทิตย์ เพราะมีระบบจัดการที่ดี จึงจับได้ตลอด ถ้า 3 เดือน ปล่อยกุ้ง 1 ครั้ง จะขาดตอน เพราะกุ้งชุดใหญ่ออกไปแล้ว จึงต้องปล่อยเดือนละครั้ง ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนาน 3 เดือน ค่อนข้างนานต่างจากบ่อพัฒนา ที่ใช้เวลาเลี้ยง 100 วัน แต่มีต้นทุนสูงมาก

การดูแล

ง่ายมาก เพียงหมั่นดูแลประตูน้ำอย่าให้พัง คันดินอย่าให้ทะลุหรือรั่วไหล ถ้าน้ำดี ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง ถัดมาคือดูหน้าดินต่อว่าดินที่บ่อเน่าเสียหรือไม่ ถ้าตรงไหนเน่าเสียให้เอาจุลินทรีย์เข้าไปช่วย เอาปูนโดโลไมท์ไปใส่ เพราะถ้าดินเสียจะส่งผลต่อกุ้ง คือกุ้งจะป่วย หรือให้แก้ปัญหาโดยการใช้เรือดูดเลนที่เน่าเสียทิ้ง เลี้ยงระบบอินทรีย์ปัญหาเรื่องโรคเกิดขึ้นน้อย แต่ถ้าเกิดขึ้นเราจะใช้วิธีธรรมชาติบำบัด เมื่อกุ้งป่วยปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อเดียวกันจะกินตัดวงจรหรือถ้าลอยติดริมตลิ่งพวกนกกระยางจะมาจิกกินเอง วิธีสังเกตเมื่อกุ้งเกิดโรคดูง่ายๆ คือ วังไหนมีนกนางนวลบินวน ให้วิเคราะห์ได้เลยว่าวังนั้นมีกุ้งป่วย

เตรียมบ่อ

ความลึกพื้นบ่อปกติ 1.50 เมตร รอบๆ ขาวังเป็นดินชันสูง เราจะใช้แบ๊กโฮตักให้ลึก ประมาณ 3-4 เมตร กว้าง 4 เมตร แบบธรรมชาติ ที่นี่เป็นระบบอินทรีย์ ความเข้มงวดจะต่างกับการเลี้ยงกุ้งบ่อพัฒนาทั่วไป จะใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ พด.6 และ ปม.1 ใช้สลับกัน ช่วยในเรื่องของการเลี้ยง และบำบัดระบบน้ำและดิน ที่นี่จะไม่ตากพื้นเพราะที่นี่เป็นพื้นที่ติดน้ำคันบ่อไม่ใหญ่ เมื่อน้ำทะเลขึ้นสูงถ้าตากนานๆ บ่อข้างเคียงอาจจะถล่มมาหาได้ จึงใช้น้ำหมักจุลินทรีย์เข้าช่วย ส่วนปูนใช้บ้างคือปูนโดโลไมท์ เพื่อช่วยปรับสภาพดิน โดยกรมพัฒนาที่ดินมาส่งเสริม

บ่อดินระบบอินทรีย์ ปลูกต้นไม้สร้างห่วงโซ่อาหาร

ระบบน้ำ

มีคลองส่งน้ำระยะจากทะเล มีระยะการทำประมงประมาณ 50 กิโลเมตร

เทคนิคลดต้นทุน สร้างห่วงโซ่อาหารด้วยธรรมชาติ

“ทั่วไปๆ จะเห็นบ่อกุ้งที่โล่งเตียน ที่ฟาร์มจะปลูกต้นไม้เยอะ ให้พึ่งพาระบบธรรมชาติได้เอง ทำยังไงให้ย้อนยุคเป็นธรรมชาติที่สุด ของคนอื่นจะโล่งๆ เขากลัวรก ของพี่มีแต่ปลูกป่าเพิ่มให้เหมาะสมกับพื้นที่ อยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ สร้างระบบนิเวศให้เขาอยู่สบาย แล้วปล่อยกุ้งอัตราไม่หนาแน่น เพราะเราไม่ได้เลี้ยงกุ้งอย่างเดียว เพราะเราจะสร้างระบบห่วงโซ่อาหารโดยธรรมชาติคือ

  1. เป็นแหล่งหลบซ่อนของสัตว์น้ำวัยอ่อน
  2. สร้างระบบนิเวศ ทำให้เกิดห่วงโซ่อาหาร เกิดแพลงตอน จากต้นจากกับต้นลำพู ต้นลำพูจะมีผล เมื่อผลร่วงก็สามารถเป็นอาหารของกุ้งและปลาได้ ต้นจากปลูกเพื่อกั้นคลื่นตามแนวตลิ่ง และเวลาจะดูดเลนเราก็ตัดทางจากข้างคันดินเพื่อเวลาดูดเลนแล้วดินจะไม่ไหลลงไปเซาะในขาวัง นี่คือประโยชน์ของจาก และถ้าจากแก่จะทำให้เกิดหนอนแดง กลายเป็นอาหารได้อีก นั่นคือการใช้ธรรมชาติเพื่อพึ่งพากันเอง แต่ข้อเสียก็มีคือเป็นที่หลบซ่อนของนก ตัวเงินตัวทอง และขโมย ถ้าถามว่าแลกกัน ทำแบบนี้คุ้มกว่าแน่นอน และนอกจากอาหารจากธรรมชาติเราก็จะมีอาหารเสริมคือ ปลาเป็ดที่ได้จากเรือประมงในท้องถิ่น คือปลาที่เปิดอวนมาแล้วติดออกมา เอามาสับให้เป็นอาหารเสริม เพราะบ่อที่เราเลี้ยงเป็นบ่อผสมผสาน มีปูทะเล เมื่อให้ปูทะเลกิน ปูกินเหลือกุ้งกินต่อ ไม่ได้ให้ทุกวัน ให้ตอนช่วงน้ำเกิดเท่านั้น พูดง่ายๆ ว่าให้อาหารเดือนละ 2 ครั้ง แต่ครั้งละประมาณ 2-3 วัน บางทีก็ได้มาจากคนที่เขาเหลือเยอะเอามาขายให้ในราคาถูก แบ่งปันกัน แทบไม่มีค่าใช้จ่ายค่าอาหาร ถ้าคิดเป็นปีเสียค่าอาหารเสริมเพียง 12,000 บาท ต่อปี” คุณสุรกิจ บอก

 

ช่วงระยะเวลาเหมาะสมในการจับสัตว์น้ำ ให้ดูช่วงน้ำเกิด-น้ำตาย

ระบบการเลี้ยงคือ ระบบหมุนเวียนผสมผสาน ปล่อยกุ้งกุลาดำเสร็จ ถ่ายไปบ่อใหญ่ แล้วเอาอันใหม่มาลง แต่เวลาการจับกุ้งจะจับช่วงน้ำเกิด คือใน 1 เดือน จะมีน้ำเกิดน้ำตายเดือนละ 2 ครั้ง ทีนี้เราใช้วิธีธรรมชาติพึ่งพาดวงจันทร์ เปิดน้ำเกิด เมื่อน้ำเกิดน้ำทะเลจะขึ้นสูงสุด แล้วลงต่ำสุด ส่วนน้ำตายจะจับสัตว์น้ำไม่ได้เพราะน้ำจะขึ้นไม่สุด ลงไม่สุด สาเหตุต้องจับช่วงน้ำเกิดเพราะเวลาเราเปิดน้ำออก มีอวนที่ประตูน้ำ เปิดช่วงโพล้เพล้ แล้วเปิดให้น้ำจากบ่อกุ้งออกตามน้ำทะเลไป เปิดน้ำให้ยุบแค่ครึ่งบ่อแล้วปิดประตูน้ำ พอน้ำทะเลขึ้นเราก็เปิดน้ำทะเลเข้ามา 1 รอบน้ำเกิด เราจะเปิดประมาณ 3-4 วัน ต่อครั้ง และหยุดไปเปิดน้ำเกิดหน้า ถ้าพูดง่ายๆ คำว่า น้ำเกิดให้ดูปฏิทินไทย น้ำเกิดจริงๆ จะเริ่ม 14 ค่ำ ถึง 3 ค่ำ คนพื้นที่เขาเรียกว่า พระใหญ่ เท่ากับว่าเกษตรกรที่นี่เวลาจับสัตว์น้ำคืออาทิตย์เว้นอาทิตย์ แต่ละครั้งจับ 3-4 วัน แต่ถ้าวังใหญ่จับได้มากก็จับไปเรื่อยๆ นี่คือ รอบจับกุ้ง

 

กุ้งไซซ์ใหญ่ ขายได้ราคา

ข้อดีของกุ้งระบบธรรมชาติ ส่วนมากกุ้งใหญ่จะมีไซซ์ใหญ่ กุ้งกุลาดำชอบคลาน ไม่เหมือนกุ้งขาว กุ้งแชบ๊วยจะว่ายน้ำตลอด ทำให้เราต้องปล่อยกุ้งทุกเดือน มันก็จะเป็นระบบหมุนเวียน พอกุ้งตัวนี้ออกไป กุ้งตัวนี้ก็จะไล่ตามขึ้นมา ที่ฟาร์มจะใช้เวลาเลี้ยงกุ้งนานถึง 3 เดือน เพราะเราอยากได้กุ้งไซซ์ใหญ่ขายได้ราคา ไซซ์ที่จับขายมีตั้งแต่ 4-5 ตัว 1 ตัว ต่อกิโลกรัม ไซซ์ 2 ไม่เกิน 10 ตัว ต่อกิโลกรัม และไล่ลงมาไม่เกิน 15, 20, 25, 30 ตัว ต่อกิโลกรัม

ต้นทุนการผลิตต่ำถึงทำได้ผลผลิตที่ 3 ตัน ต่อปี

ต้นทุนการผลิตต่ำ รายได้สูง

ข้อดีของการเลี้ยงกุ้งอินทรีย์ ต้นทุนต่ำแต่ต้องใจเย็นๆ ได้เท่าไรเอาเท่านั้น แต่ได้เรื่อยๆ สำคัญคือ เลี้ยงระบบนี้จะได้กุ้งไซซ์ใหญ่หมด ปริมาณน้อยแต่ได้ราคา ถ้าเลี้ยงบ่อพัฒนาเลี้ยงปริมาณเยอะ ค่าใช้จ่ายสูง แต่ขายไม่ได้ราคา กุ้งอินทรีย์ที่ฟาร์ม ราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท ถ้าส่งนอกราคาก็สูงไปอีก ผลตอบแทนสูงใช้เงินลงทุนเพียงการขุดบ่อครั้งแรก ลูกพันธุ์กุ้ง ตัวละ 3 สตางค์ ตกเดือนละ 11,500 บาท ต่อเดือน ค่าอาหารแทบไม่ต้องเสียเพราะเราสร้างอาหารธรรมชาติ สร้างระบบนิเวศรอบบ่อไว้อยู่แล้ว รายได้ขั้นต่ำเดือนละ 100,000 บาท เพราะมีแค่ค่าพันธ์กุ้ง นอกเหนือจากนี้ยังสามารถจับปลา จับปู ที่เลี้ยงในบ่อเดียวกันได้อีก

 

ตลาดมีความต้องการสูง ผลิตไม่ทันขาย

เริ่มแรกคุณสุรกิจหาตลาดโดยการเข้าหาผู้ประกอบการเอง แต่ก่อนจะหาตลาดเองต้องมีใบรับรองการเลี้ยงกุ้งระบบอินทรีย์จากกรมประมง พูดด้วยปากเปล่าไม่ได้ หลังจากที่ได้ใบรับรองเราก็มีตลาดทั้งในท้องถิ่น และตามโรงแรม ภัตตาคาร ส่งบริษัทธรรมชาติซีฟู้ดในเครือเซ็นทรัล และส่งออกประเทศจีน และสวิตเซอร์แลนด์ จนผลผลิตไม่พอขาย ต้องสร้างกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งระบบอินทรีย์ขึ้นมาเพื่อผลิตสินค้าส่งตลาดที่นับวันยิ่งกว้างขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น

สอบถามรายละเอียด หรือสนใจหาความรู้ สามารถไปเยี่ยมชมฟาร์มของ คุณสุรกิจ ละเอียดดี ได้ที่ เลขที่ 200/1 หมู่ที่ 13 ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โทร. (094) 463-3526