ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ เพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล เพื่อเกษตรกรมีรายได้ตามแนวพระราชดำริ

ปลานวลจันทร์ทะเล (Milkfish) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Chanos chanos (Forsskal,1775) บางพื้นที่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป คือ ปลาดอกไม้ ปลาทูน้ำจืด หรือปลาชะลิน ปลาชนิดนี้มีรูปร่างยาวเพรียว ลำตัวค่อนข้างกลมแบนข้างเล็กน้อย ตามีเยื่อไขมันคลุมตลอด เกล็ดมีขนาดเล็กถี่ เป็นเกล็ดประเภทขอบกลม (Cycloid Scale) ครีบหลังและครีบก้นมีเกล็ดติดตามก้านครีบ มีเส้นข้างลำตัว (Lateral line) เห็นชัดเจน ครีบหางเว้าลึกแบบส้อม (Forked type) ตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัวยาวกว่า 1.5 เมตร หนักประมาณ 10.6 กิโลกรัม ตามปกติอาศัยอยู่ในทะเล เป็นปลาที่ว่ายน้ำเร็ว อยู่บนผิวน้ำ (Pelagic fish)

ปลานวลจันทร์ทะเล เพศผู้และเพศเมียมีรูปร่าง สีสัน และลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกันมาก ยกเว้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ปลาเพศเมียจะมีท้องที่อูมกว่าเพศผู้เท่านั้น ลักษณะภายนอกที่ใช้บอกเพศคือ ปลาเพศผู้จะมีติ่งบอกเพศและช่องเปิด 2 รู ช่องแรกเปิดเป็นช่องขับถ่ายของเสีย ส่วนช่องที่สองซึ่งอยู่ที่ด้านท้ายเป็นช่องปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ ส่วนในปลาเพศเมียมีช่องเปิด 3 ช่อง

ในประเทศไทยมีการพบลูกปลานวลจันทร์ทะเลเป็นครั้งแรกที่บริเวณชายฝั่งทะเลบริเวณบ้านคลองวาฬ ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2493 พบในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมและระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน หลังจากนั้นได้มีการสำรวจพบบางส่วนในเขตจังหวัดชุมพร เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระยอง และจันทบุรี ลูกปลาที่พบมีรูปร่างเรียวยาวขนาดเล็ก ความยาว 1.5-2 เซนติเมตร ตัวใส ตากลมโตสีดำ กินตะไคร่น้ำ ไรน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร (เอกสารอ้างอิง หนังสือ “นวลจันทร์ทะเล ปลาไทยในพระราชดำริ” กรมประมง)

 

ปลานวลจันทร์ทะเล ปลาไทยในพระราชดำริ

คุณธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ให้ข้อมูลว่า ประมาณ ปี 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระทัยติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับปลานวลจันทร์ทะเลเรื่อยมา และมีพระราชดำริให้กรมประมงหาลู่ทางการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งกรมประมงได้รับสนองพระราชดำริ และทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อให้การเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลให้เกิดผลสำเร็จ โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2508 เรื่อยมา จึงประสบผลสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลด้วยการฉีดฮอร์โมนเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2540

คุณธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์

“พอการเพาะพันธุ์ประสบผลสำเร็จ ปลานวลจันทร์ทะเลก็เป็นที่รู้จักและมีคนสนใจมากขึ้น ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาในเรื่องของการถอดก้าง เพราะปลานวลจันทร์ทะเลเป็นปลาที่มีก้างเยอะ ทางกรมประมงจึงได้ส่งคนไปศึกษาวิธีการถอดก้างที่ประเทศฟิลิปปินส์ ต่อมาจึงได้นำเนื้อปลามาทำเป็นอาหารเมนูต่างๆ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันนี้การเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้เราก็ได้ศึกษาและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ปลาสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี จึงนับว่าการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลเป็นความสำเร็จที่กรมประมงทุกคนมีความตั้งใจเพื่อเป็นการถวายงานและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความเป็นพระอัจฉริยะ และมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ที่มองว่าอนาคตต้องมีการพัฒนาอาหารทดแทนมากขึ้น จึงทำให้เวลานี้ ปลานวลจันทร์ทะเลเป็นปลาที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยง และนำไปแปรรูปเป็นสินค้าที่หลากหลาย ทำให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ประชาชนมีรายได้แบบครบวงจร” คุณธเนศ กล่าว

ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทำให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลที่สำคัญ โดยให้เกษตรกรผู้สนใจได้ลูกปลาที่ดีมีคุณภาพไปเลี้ยงให้เจริญเติบโตและจำหน่ายสร้างรายได้

 

พ่อ-แม่พันธุ์ มีอายุได้ถึง 20 ปี

คุณศุภกานต์ ชัยโชติรานันท์ นักวิชาการประมงปฏิบัติการ ได้พาชมฟาร์มที่เพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งภายในฟาร์มมีการแบ่งโซนการเลี้ยงอย่างชัดเจน

(ซ้าย) คุณศุภกานต์ ชัยโชติรานันท์ นักวิชาการประมงปฏิบัติการ

โดย คุณศุภกานต์ ให้ข้อมูลว่า ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2497 เพื่อทำการศึกษาและวิจัยการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่ยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลได้ ทางศูนย์วิจัยฯ จะเก็บรวบรวมลูกปลาจากในทะเลมาลงภายในบ่อดิน เมื่อปลามีการเจริญเติบโตมากขึ้น ก็ได้เพาะเลี้ยง พ่อ-แม่พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลขึ้นมา โดยเลี้ยงให้มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.5 กิโลกรัม ซึ่งภายในศูนย์วิจัยฯ ก็มี พ่อ-แม่พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลที่มีอายุเกือบ 10 ปี อยู่ด้วยในเวลานี้

“ปลานวลจันทร์ทะเล จะมีเกล็ดเป็นสีเงิน เวลาที่ว่ายน้ำในทะเล ช่วงที่ตัวกระทบกับแสงจันทร์ ก็จะทำให้ตัวปลามีลักษณะที่นวล จึงเป็นที่มาของชื่อปลานวลจันทร์ทะเล ซึ่งประมาณปี พ.ศ. 2508 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านได้ทรงศึกษาข้อมูลมาว่า หลายๆ ประเทศมีการเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ไว้เพื่อบริโภค พระองค์ทรงทราบว่าที่ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้มีการศึกษา การเพาะเลี้ยง พระองค์ท่านจึงได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตร และมีรับสั่งกับกรมประมงในสมัยนั้นว่า ให้เพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ให้สำเร็จ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชาวบ้านได้เลี้ยงเป็นอาชีพต่อไป” คุณศุภกานต์ เล่าถึงความเป็นมา

การเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลนั้น คุณศุภกานต์ บอกว่า จะนำ พ่อ-แม่พันธุ์มาเลี้ยงรวมกันอยู่ภายในบ่อขุนเลี้ยง โดยอาหารที่ใช้เลี้ยงจะเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีสูตรเฉพาะสำหรับเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล

พ่อ-แม่พันธุ์ ภายในบ่อเลี้ยง

โดย พ่อ-แม่พันธุ์ที่ใช้สำหรับเพาะพันธุ์จะเลือกที่มีอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป โดยน้ำหนักต่อตัวจะอยู่ที่ 1.5 กิโลกรัมขึ้นไป มาผสมพันธุ์ ช่วงที่ปลานวลจันทร์จะผสมพันธุ์อยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ในช่วงนั้นพ่อแม่พันธุ์จะมีความสมบูรณ์เพศ จากนั้นก็ปล่อยให้ผสมพันธุ์เองตามธรรมชาติและวางไข่อยู่ภายในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ที่จัดไว้

“เมื่อผสมพันธุ์ตามธรรมชาติเรียบร้อยแล้ว แม่พันธุ์พร้อมวางไข่ ช่วงที่ปลาชนิดนี้จะวางไข่จะเป็นช่วงกลางดึกจนถึงเช้ามืด พอรุ่งเช้าเจ้าหน้าที่ก็จะมาเก็บรวบรวมไข่ทั้งหมดออกจากบ่อเพาะเลี้ยง เพื่อนำไปฟักและอนุบาลตัวอ่อนในโรงเพาะฟัก ส่วน พ่อ-แม่พันธุ์เราก็เลี้ยงและให้อาหารปกติ โดยอายุของ พ่อ-แม่พันธุ์ถ้ามีการเลี้ยงเป็นอย่างดี อายุสืบพันธุ์สามารถให้ไข่ได้ 10-20 ปี” คุณศุภกานต์ อธิบายการผสมพันธุ์

เมื่อนำไข่ปลานวลจันทร์ทะเลไปฟักในถังจนได้ตัวอ่อนออกมาแล้ว บ่อที่ใช้สำหรับอนุบาลตัวอ่อนนั้น คุณศุภกานต์ บอกว่า จะเตรียมภายในบ่ออนุบาลให้มีอาหารสำหรับตัวอ่อนเสียก่อน คือการเตรียมโรติเฟอร์ (แมลงน้ำ) ที่มีขนาดตัวเล็กกว่าไรแดง พร้อมทั้งเตรียมแพลงตอนพืชจำพวกสาหร่ายเซลล์เดียวไว้ให้โรติเฟอร์กินเป็นอาหารด้วย

บ่ออนุบาลลูกปลา

จากนั้นอนุบาลลูกปลานวลจันทร์ทะเลให้มีอายุไปอีกประมาณ 40-45 วัน ก็จะได้ลูกปลาที่มีไซซ์ขนาดเตรียมจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้

 

ราคาจำหน่ายปลา เป็นไปตามมาตรฐานกรมประมง

เนื่องจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ เป็นสถานที่ที่วิจัยและพัฒนาในเรื่องของปลานวลจันทร์ทะเลมาอย่างยาวนาน ทำให้เกษตรกรที่สนใจอยากเลี้ยงปลาชนิดนี้เป็นอาชีพ จึงมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในลูกปลาจากศูนย์วิจัยฯ จึงทำให้มีการสั่งจองเพื่อติดต่อขอซื้อกันอย่างต่อเนื่อง เรียกง่ายๆ ว่า ต่อคิวกันเลยทีเดียว

ลูกปลานวลจันทร์ทะเล

“พอลูกปลาที่เราอนุบาลมีอายุ และขนาดไซซ์ที่กำหนด ก็จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 เซนติเมตร เราก็จะติดต่อให้เกษตรกรที่แจ้งความจำนงจะซื้อ เข้ามารับในวันเวลาที่กำหนด โดยราคาจะอยู่ที่ 1.20 บาท ส่วนลูกปลาที่มีขนาดไซซ์ใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร ราคาก็จะขยับขึ้นไปตามลำดับ จากนั้นเกษตรกรก็จะนำลูกปลาไปเลี้ยงในบ่อดินที่เตรียมไว้ ก็ใช้เวลาประมาณ 10-12 เดือน ก็จะได้ปลานวลจันทร์ทะเลที่มีขนาดตามที่ตลาดต้องการ จะอยู่ที่ไซซ์ประมาณ 7 ขีด จนถึง 1 กิโลกรัมโดยประมาณ” คุณศุภกานต์ บอก

บ่อซีเมนต์ใช้เลี้ยง พ่อ-แม่พันธุ์

สำหรับผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของปลานวลจันทร์ทะเล คุณศุภกานต์ บอกว่า ที่ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แล้ว ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับประชาชนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปลานวลจันทร์ทะเล ไม่ว่าจะอยู่ที่จังหวัดไหนของประเทศสามารถติดต่อเข้ามาศึกษาดูงานได้ ในช่วงวันและเวลาทำการของราชการ

อาหารสำหรับเลี้ยง พ่อ-แม่พันธุ์

จึงนับได้ว่า ปลานวลจันทร์ทะเล เป็นเสมือนปลาเศรษฐกิจของชุมชน จนเกษตรกรทุกคนที่ได้เลี้ยง ตลอดไปจนถึงการแปรรูป ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพที่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทาน จึงทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเป็นอาชีพที่มั่นคงส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานต่อไป

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ (032) 661-398 ในวันและเวลาราชการ

พื้นที่ภายในศูนย์วิจัยฯ