CP ปลื้มเพาะแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ ส่งจีน/เวียดนาม-เล็ง 5 ปีบูมเลี้ยงในไทย

ซีพีเอฟเผยปลื้ม “เพาะพ่อ-แม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ” ได้สำเร็จ 1 เดียวในไทย ส่งออกจีน-เวียดนาม ขายแข่งกับรายใหญ่จากฮาวาย สหรัฐ พร้อมวางเป้าอีก 5 ปี บูมเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้กลับมาอีกครั้ง

น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางกลุ่มธุรกิจสัตว์น้ำซีพีเอฟมีนโยบายจะผลักดันการเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้กลับมาอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันซีพีเอฟสามารถพัฒนาสายพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำได้สำเร็จ และจะพยายามส่งเสริมการเลี้ยงให้มากขึ้น และคาดว่าในอีก 5 ปีการเจริญเติบโตของกุ้งกุลาดำจะใกล้เคียงกับกุ้งขาว หากมีสายพันธุ์ที่โตได้เร็วขึ้น ต้นทุนการเลี้ยงการผลิตลดลง

“ที่ผ่านมากุ้งกุลาดำไม่สามารถเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ได้ ต้องจับจากธรรมชาติในทะเล แต่วันนี้คนที่เพาะพันธุ์กุ้งกุลาดำขึ้นมาได้เองมีซีพีเอฟเพียงรายเดียว ทำให้มีโอกาสปรับปรุงเรื่องพันธุกรรม (genetic) สูง ขณะที่ในต่างประเทศที่ผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งได้อีกรายอยู่ที่โมอาน่า (moana) รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีส่งเข้ามาขายในไทยเหมือนกัน แต่เนื่องจากไม่มีการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในตลาดเมืองไทยเท่าที่ควร ตลาดยังเล็กจึงเข้ามาได้ไม่มาก”

ปัจจุบันซีพีเอฟมีโรงเพาะฟักพ่อแม่พันธุ์กุ้งอยู่ที่ จ.สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรสาคร และส่งพ่อแม่พันธุ์ขายไปจีนและเวียดนาม แต่ในไทยมีการเพาะพ่อแม่พันธุ์แต่ยังไม่ได้ขาย

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ซีพีเอฟยังปรับปรุงสายพันธุ์กุ้งกุลาดำต่อเนื่อง ด้วยการผสมเทียมเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้โตเร็ว ต้านทานโรคขึ้น ยังต้องใช้เวลาพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันกุ้งกุลาดำขนาด 20-30 ตัวต่อกิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 120 วัน และตั้งเป้าให้สามารถเลี้ยงได้ขนาด 30 ตัวต่อกิโลกรัม ควรใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน ลดลงมาอีกสัก 1 เดือน ตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนาและทดลองเลี้ยงกุ้งกุลาดำในบ่อพีอี คาดว่าน่าจะใช้เวลาทดลองเลี้ยงอีกประมาณ 2 ปี หรือทดลองเลี้ยงอีก 4-5 ครอป เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ก่อนส่งเสริมการเลี้ยงในอนาคตต่อไป

“สมมุติอีก 5 ปี พันธุ์กุ้งขาวอาจจะพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง เดี๋ยวนี้กุ้งขาว 1 ตัวเลี้ยงได้ขนาด 80-90 กรัมต่อตัว สมัยก่อนเลี้ยงได้โตสุด 30 กรัมต่อตัวก็งามมากแล้ว จากปกติจะกินกุ้งตัวเล็ก ๆ เช่น ขนาด 30 ตัวต่อกิโลกรัม แต่ตอนนี้ตัวใหญ่มากเลย ถ้าในอนาคตกุ้งขาวมีการพัฒนาให้เติบโตได้ดีขึ้นไปอีก การพัฒนากุ้งกุลาดำต้องพัฒนาไล่ตามไป ทั้งนี้ กุ้งกุลาดำก็เลี้ยงได้ขนาด 50-80 กรัมต่อตัว แต่ต้องใช้เวลานาน พ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำเพิ่งคัดสายพันธุ์ผ่านมาไม่กี่รุ่น ทำให้การเจริญเติบโตสู้กุ้งขาวที่มีการคัดสายพันธุ์มาเป็นสิบรุ่น (generation) แล้ว ทำให้เลี้ยงง่ายโตไว”

ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มกลับมานิยมเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากพอสมควรประมาณระดับพันตันแต่ยังไม่ถึง 2-3% ของการเลี้ยงกุ้งขาวในปัจจุบัน หากเทียบภาพรวมในอดีตไทยเคยมีปริมาณผลผลิตกุ้งกุลาดำสูงสุดประมาณ 2-3 แสนตัน โดยส่วนใหญ่กุ้งกุลาดำจะออกไปตลาดจีน สำหรับภาพรวมคนจีนกินกุ้งปีละ 1.7 ล้านตัน ในจำนวนนี้ไม่ได้แยกว่าเป็นกุ้งขาวหรือกุ้งกุลาดำ โดยจีนมีความต้องการนำเข้ากุ้งปีละ 1 ล้านกว่าตัน สำหรับตลาดกุ้งกุลาดำในจีนจะเป็นตลาดนิชมาร์เก็ต ต้มแล้วผิวสวยขายได้ราคาดี เพราะคนยังหันกลับมาเลี้ยงกันน้อย

สำหรับภาพรวมยอดขายธุรกิจสัตว์น้ำของซีพีเอฟทั่วโลกใน 6 ประเทศ รวม 80,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นยอดขายของประเทศไทยประมาณ 30,000-35,000 ล้านบาท

เล็งขาย “ปลากะพง” แข่งออสซี่

อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกำลังอยู่ในทิศทางที่เติบโตมากขึ้นเรื่อย เนื่องจากทรัพยากรในธรรมชาติมีจำกัด และกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน

ซีพีเอฟถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำการวิจัยและเพาะเลี้ยงสายพันธุ์ปลาเชิงพาณิชย์ เช่น ปลาทับทิม และล่าสุดได้ทำการวิจัยและพัฒนาเพาะพันธุ์ปลากะพงขาว โดยไปเช่าโรงเพาะฟักที่เคยเลี้ยงกุ้งของชาวบ้านใน จ.สตูลมาดัดแปลงและทดลองเพาะพันธุ์

ถึงวันนี้ทดลองทำมาประมาณ 3 ปีแล้ว และทำตลาดดูว่าสามารถขายเชิงพาณิชย์ได้มากน้อยเพียงใด วันนี้ส่งออกลูกปลากะพงขนาด 3-5 เซนติเมตร ประมาณ 35,000-50,000 ตัวต่อเดือน ไปประเทศมาเลเซียประมาณ 70-80% ของการเพาะเลี้ยงทั้งหมด เพราะขายได้ราคาดี คือด้านปริมาณยังถือว่าน้อยมาก โดยคนมาเลเซียที่มาซื้อเป็นฟาร์มเลี้ยงปลาที่เป็นลูกค้าซื้ออาหารสัตว์น้ำของ ซี.พี.อยู่แล้ว

ปัจจุบันซีพีเอฟเพาะพันธุ์ขายอย่างเดียว ยังไม่ได้เลี้ยง หรือส่งเสริมการเลี้ยง เพราะมีปัญหาตลาด คือ ปลากะพงไม่ได้ผลิตยากมาก แต่เวลาเลี้ยงออกมามาก ปริมาณล้นตลาด คนภายในประเทศไทยกินไม่ไหว ขณะเดียวกันยังมีปลากะพงที่จับจากทะเล ถ้าราคาขายปากบ่อต่ำกว่า 120 บาทต่อ กก.อยู่ลำบาก อยู่ยาก แต่หากในอนาคตถ้าสามารถหาตลาดส่งออกปลากะพงขนาดใหญ่ได้ ซีพีเอฟอาจจะส่งเสริมการเลี้ยงภายในประเทศเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันนี้ประเทศที่ส่งออกปลากะพงจำนวนมากคือ ออสเตรเลีย ส่วนใหญ่ส่งออกไปตลาดยุโรป โดยความต้องการปลากะพงในตลาดโลกอยู่ระดับพันตัน ถ้าเทียบกับกุ้งยังน้อยมาก แต่คิดว่าแนวโน้มความนิยมในการบริโภคจะค่อย ๆ มากขึ้น

“ตอนนี้ผมยังไม่ได้สรุปทิศทางการทำตลาดปลากะพง เพราะอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล กำลังดูว่า ที่มาเลเซียซื้อไปเลี้ยง สามารถควบคุมต้นทุนการเลี้ยงได้มากน้อยอย่างไร ก็เก็บข้อมูลจากตรงนี้มาเป็นดัชนี หากควบคุมต้นทุนได้ดี ราคาดี เราค่อยมาส่งเสริม คือ วันนี้หากเราดันทุรังไปแล้วขายไม่ออกคงไม่ดี” น.สพ.สุจินต์กล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์