พลิกข้อจำกัดไม่มีกระชัง! เลี้ยง “ปลานิลในบ่อดิน” มา 20 ปี ไม่มีกลิ่นโคลน ขายได้ราคา

คุณไว สายกระสุน

คุณไว สายกระสุน อยู่บ้านเลขที่ 28 หมู่ที่ 3 ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เกษตรกรที่เลี้ยงปลานิลมามากกว่า 20 ปี โดยเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ พร้อมทั้งลองผิดลองถูกด้วยตนเอง จนทำให้เขาประสบผลสำเร็จ ยึดการเลี้ยงปลานิลเป็นอาชีพหลัก เพราะสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

 

ทดลองทำเกษตรหลายอย่าง
สุดท้าย จบลงที่เลี้ยงปลานิล

คุณไว เล่าให้ฟังว่า ชีวิตก่อนที่จะประสบผลสำเร็จเหมือนทุกวันนี้ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายหลายอย่าง ซึ่งปัญหาเหล่านั้นเป็นดังบททดสอบที่ทำให้เขาได้รับประสบการณ์

“สมัยก่อนนี้ผมทำมาหลายอย่าง ไร่นาสวนผสมบ้าง เลี้ยงปลาเล็กๆ น้อยๆ บางทีก็ปลูกผักตามหัวคันนา รายได้นี่ถือว่าได้ไหม ก็พอได้ แต่มันน้อยมาก ต่อมาเลี้ยงเป็ดเลี้ยงหมูคือทุกอย่างล้มเหลวหมด เลยคิดว่าถ้าเราจะอยากมีเงินเก็บเยอะๆ ก็คงยาก เลยตัดสินใจกับภรรยาว่าจะหาอย่างอื่นทำใหม่ ผมจึงตัดสินใจมาขุดบ่อเลี้ยงปลาเลยที่นี้” คุณไว เล่าถึงอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต

ประมาณปี 2526 คุณไว เล่าว่า เริ่มเลี้ยงปลาอย่างจริงจัง ซึ่งในช่วงนั้นมีบ้างที่ล้มลุกคลุกคลาน ช่วงแรกทดลองเลี้ยงปลาดุกเป็นอย่างแรก พอปี 2537 คนหันมากินปลานิลจึงเปลี่ยนมาเลี้ยงปลานิลอย่างเต็มตัว ด้วยความมุ่งมานะและความขยันของคุณไว ปลานิลที่เลี้ยงจึงสร้างรายได้ให้กับเขามากมายในช่วงปี 2540 แบบทวนกระแสเศรษฐกิจอย่างสุดๆ

1462642886

Advertisement

“ช่วงที่เลี้ยงใหม่ๆ ผมชอบอ่านหนังสือ ก็จะหาหนังสือมาอ่านเพื่อศึกษาลองทำเองบ้าง ถือว่าประสบความสำเร็จดีมาก ช่วงนั้นประมาณปี 40 คือเศรษฐกิจไม่ดี แต่ปลานิลที่ผมเลี้ยงจำหน่ายได้แบบสวนทางเศรษฐกิจเลย ตอนนี้เพื่อนบ้านทั้งหมดก็เลยมาเลี้ยงเหมือนกันหมด เปลี่ยนจากทำนามาเลี้ยงปลาก็มี เพราะรายได้พอมาเปรียบเทียบกันมันต่างกันมาก” คุณไว กล่าว

 

Advertisement

ปลานิลเลี้ยงในบ่อดิน
ไม่มีกลิ่นดินโคลนอย่างที่คิด

คุณไว เล่าว่า ในช่วงแรกที่เลี้ยงปลานิลในบ่อดินพอขนาดใหญ่เริ่มจำหน่ายได้ แม่ค้าที่มารับซื้อถึงบ่อเลี้ยงไม่กล้าจับเพื่อไปจำหน่าย เพราะกลัวเหม็นกลิ่นโคลน หากรับซื้อไปไม่น่าจะมีคนซื้อ

“ที่เราต้องเลี้ยงในบ่อดิน เพราะเราไม่มีแหล่งน้ำที่จะเลี้ยงในกระชัง เพราะว่าเรื่องน้ำเรามีอย่างจำกัด ช่วงแรกนี่แม่ค้ามารับซื้อไม่อยากได้ ทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ลองกินเนื้อปลาเลย ผมก็เอ้า! ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไรก็เอาไปจำหน่ายเอง ในตอนนี้คนในสุรินทร์ก็กินปลาในบ่อดินกันหมด เพราะมันไม่ได้มีกลิ่นอย่างที่เข้าใจ” คุณไว กล่าวอธิบาย

บ่อที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงปลานิล ขนาดประมาณ 1-2 ไร่ ความลึกประมาณ 1.20-2 เมตร เตรียมบ่อโดยโรยปูนขาว และที่สำคัญต้องกำจัดปลาที่เหลือออกให้หมด มิเช่นนั้นจะมากินลูกปลาเล็กจนหมดบ่อ

1462643028

จากนั้นปล่อยลูกปลานิลไซซ์ใบมะขาม ประมาณ 3,200 ตัว ในระยะนี้ให้กินอาหารลูกอ๊อดที่มีโปรตีน 32 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 1 เดือน จึงเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ให้กิน 2 เวลา คือ เช้าและเย็น จนกว่าจะจับจำหน่ายได้

ด้านการป้องกันโรค คุณไว บอกว่า ปลานิลที่เลี้ยงในบ่อดินไม่ค่อยเกิดปัญหามากนัก ซึ่งการเลี้ยงภายในบ่อไม่ค่อยมีโรคที่มากับน้ำเหมือนปลากระชังที่เลี้ยงในแม่น้ำ หากเจอโรคก็มีบางครั้งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“เราเลี้ยงนี่เราจะรู้ว่าช่วงไหนที่ปลามีอาการแบบไหนบ้าง อย่างอากาศเปลี่ยนนี่ก็จะมีปลาตายบ้าง จะเตรียมพร้อมรับมือเพื่อป้องกัน เพราะเจออาการแบบนี้ต้องทำยังไง ประสบการณ์จะสอนเราเอง” คุณไว กล่าว

 

ปลานิล
ยังเป็นที่ต้องการของตลาด

คุณไว บอกว่า ตั้งแต่เลี้ยงมาจนถึงปัจจุบัน ปลานิลก็ถือว่ายังเป็นที่ต้องการของตลาด มีการรวมตัวของเพื่อนบ้านรอบๆ เลี้ยงส่งจำหน่ายหมุนเวียนกันไปประมาณ 90 คน เพื่อให้มีปลานิลจำหน่ายได้ตลอดไม่ขาดช่วง

ปลานิลที่จำหน่ายใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 5-7 เดือน จะได้ไซซ์ขนาด 0.7-1.2 กิโลกรัม จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท

“ราคาก็จะยืนพื้นอยู่ประมาณนี้ ถ้าไซซ์เล็กลงมาหน่อยก็อยู่ที่ 60 บาท ตั้งแต่จำหน่ายมาก็ยังไม่มีเรื่องล้นตลาดจำหน่ายไม่ได้นะ เดี๋ยวนี้ก็จะมีแต่คนกินปลาฟาร์มตาไว เพราะรถที่ลูกฟาร์มจะติดสติ๊กเกอร์ชื่อเราไปเลย คนเห็นก็จะเชื่อมั่นในปลา บางคนก็รับซื้อไปจำหน่ายหลายแบบ ตามตลาดนัดบ้าง ย่างเป็นปลาเผาบ้าง ทำให้รู้ว่าคนยังนิยมกินปลานิลอยู่” คุณไว เล่าถึงสถานการณ์ทางด้านการตลาด

 

ความขยัน นำมาซึ่งความสำเร็จ

คุณไว บอกว่า จากความสำเร็จที่มีในวันนี้ต้องขอบคุณตัวเองที่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา ศึกษาหาความรู้ ลองผิดลองถูกจนเกิดความชำนาญในสัมมาอาชีพของตนเอง

“ตอนนี้เรามีทุกอย่างก็เพราะเรามาเลี้ยงปลานี่แหละ คนเราต้องมีความขยัน สู้ชีวิต อย่างผมนี่ก็คนไม่มีอะไรมากนัก ผู้ชายบ้านๆ ภรรยาเป็นครู สมัยก่อนเราอายเขานะ เพราะว่าอาชีพเราเหมือนมันไม่มั่นคง ทั้งโดนดูถูกสารพัด เราก็เอาสิ่งนั้นแหละมาสร้างกำลังใจ จนเรามีทุกอย่างที่เราต้องการ เท่านี้ก็ถือว่าเรามาไกล ความสำเร็จที่เกิดจากเรามานะมาตลอดในชีวิต” คุณไว กล่าว

สำหรับใครที่กำลังมองหาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ หรือสนใจอยากเลี้ยงปลา คุณไว แนะนำว่า

“ปลานิลถ้าคิดจะเลี้ยง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ แหล่งน้ำ ตรงที่ผมเลี้ยงนี่ถึงจะเป็นแหล่งน้ำที่ไม่ใหญ่แต่ก็พอมีเลี้ยงได้ อย่างบางคนมีเงินทุนพอ อยากเลี้ยงมากแต่พื้นที่ไม่เหมาะสม ไม่มีน้ำเขาก็เลี้ยงไม่ได้ อาชีพเกษตรถ้ามีแหล่งน้ำ อย่างการเลี้ยงปลานี่สำหรับผมว่าดีนะ เพราะผมเองทำเกษตรด้านอื่นๆ มาก็เยอะ แต่เห็นว่าเลี้ยงปลานิลนี่แหละผลตอบแทนใช้ได้เลย ใช้เวลาแค่ 5-7 เดือน เท่านั้น อีกอย่างคนจะทำเกษตรนี่อยากให้อดทน มันต้องทนรอได้ เดี๋ยวทุกอย่างมันก็ประสบผลสำเร็จเอง ผมเขียนไว้ให้คนที่มาบ้านอ่านด้วยว่า “ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะคน” ชีวิตคนเรานี่ไม่มีใครมาลิขิตหรอก ตัวเราเองนี่แหละที่ลิขิตชีวิตเราเอง”

(ท่านที่ 2 จากขวาไปซ้าย) คุณโชควัตร ภูรินทร์ณัฐภูมิ คุณชนาทิป บุญสิทธิ์
(ท่านที่ 2 จากขวาไปซ้าย) คุณโชควัตร ภูรินทร์ณัฐภูมิ คุณชนาทิป บุญสิทธิ์

พร้อมกันนี้ คุณโชควัตร ภูรินทร์ณัฐภูมิ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดสุรินทร์ ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงมีการสนับสนุนให้สินค้าประมงมีความปลอดภัยด้านอาหารมากยิ่งขึ้น

“กรมประมง และสำนักงานประมงจังหวัดสุรินทร์ มีการสนับสนุนให้คือ พัฒนาคุณภาพสินค้าประมง ให้มีความปลอดภัยทางด้านอาหารมากขึ้น ซึ่งอย่างฟาร์มพี่ไวนี่ก็ผ่านเรื่องอาหารปลอดภัยมาตรฐาน จีเอพี (GAP) เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจยิ่งขึ้น เพราะว่าอาหารปลอดภัยทำให้การส่งออกของเราก็จะดี มีการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น เป็นการนำรายได้เข้าประเทศ ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ของพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อไปครับ” คุณโชควัตร กล่าว

จากความสำเร็จในการประกอบสัมมาอาชีพของคุณไว ทำให้เกิดแนวคิดและมองเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจนว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ถึงแม้มีความล้มเหลวเกิดขึ้น หากใจยังคิดสู้ ไม่ย่อท้อยอมแพ้ต่ออุปสรรค คำว่าความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกลเกินสองมือมนุษย์อย่างเราๆ แน่นอน

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณไว สายกระสุน หมายเลขโทรศัพท์ 081-977-2459

ขอบพระคุณ คุณโชควัตร ภูรินทร์ณัฐภูมิ และ คุณชนาทิป บุญสิทธิ์ เจ้าพนักงานประมงชำนาญงาน      ที่พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2561