ถังลงเกาะและอนุบาลลูกหอยนางรม จากโรงเพาะฟักแบบน้ำหมุนเวียนกึ่งปิด

ดร. สุวัจน์ ธัญรส คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ออกแบบถังลงเกาะและอนุบาลลูกหอยนางรมจากโรงเพาะฟักแบบน้ำหมุนเวียนกึ่งปิด สามารถผลิตลูกหอยนางรมในโรงเพาะฟักได้ในปริมาณสูงสุดถึง 2 ล้านตัว/ครั้ง ลูกหอยมีอัตราการลงเกาะมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มีอัตราการรอดสูงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ง่ายและสะดวกในการใช้งาน สามารถสร้างได้โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น

สำหรับหลักการออกแบบ ดร. สุวัจน์ ธัญรส อธิบายว่า ลูกหอยนางรมจะลงเกาะวัสดุก็เมื่อมีขนาดเหมาะสม (ประมาณ 320 µm) โดยไม่เกี่ยวกับอายุ ดังนั้น การเพาะพันธุ์ในแต่ละครั้งลูกหอยจะลงเกาะไม่พร้อมกัน จำเป็นต้องมีการคัดขนาดตลอดระยะเวลาการอนุบาล ลูกหอยที่พัฒนาเข้าสู่ระยะ pediveliger และพร้อมลงก่อน ก็สามารถนำไปลงเกาะในระบบที่ประดิษฐ์ขึ้นได้ทันที และพฤติกรรมของลูกหอยในช่วงลงเกาะจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงของระบบอวัยวะภายในเกิดขึ้น จึงเป็นช่วงที่ไม่มีการกินอาหาร เป็นช่วงที่วิกฤตและอ่อนแอ การใช้ระบบน้ำหมุนเวียนกึ่งปิด จะใช้น้ำที่ผ่านการกรองและฆ่าเชื้อโรค สามารถป้องกันความเสียหายจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคและโปรโตซัวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวสามารถควบคุมปริมาณและทิศทางการไหลของน้ำให้มีความเหมาะสมตามระยะของลูกหอยในช่วงก่อนและหลังการลงเกาะ 

1461249055วัสดุที่ใช้ลงเกาะ นำเปลือกหอยนางรมป่น ขนาด 250-500 µm เคลือบด้วยสาร pheromone (ฟีโรโมน) จากเนื้อเยื่อพ่อแม่พันธุ์สกัด สำหรับใช้ในระบบเพื่อล่อให้ลูกหอยลงเกาะ ลูกหอยสามารถเกาะได้ 1 ตัว/ชิ้น สามารถปรับใช้สำหรับการอนุบาลช่วงหลังการลงเกาะได้ จนลูกหอยมีขนาดโตพอที่จะนำไปอนุบาลในทะเล  

ลักษณะเด่นของถังลงเกาะและอนุบาลลูกหอยนางรมจากโรงเพาะฟักแบบน้ำหมุนเวียนกึ่งปิด สามารถผลิตลูกหอยนางรมแบบตัวเดี่ยวๆ ได้เป็นจำนวนมาก ลูกหอยมีอัตราลงเกาะและอัตราการรอดที่สูง สะดวกในการรวบรวมลูกหอย สามารถอนุบาลต่อเนื่องในระบบ จนมีขนาดโตพอที่จะนำมาอนุบาลในทะเลได้ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร. สุวัจน์ ธัญรส คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โทรศัพท์ (093) 714-8722