ผู้เขียน | ทวีลาภ การะเกด... รายงาน |
---|---|
เผยแพร่ |
คิดว่าหลายคนที่ขับรถคงเคยเห็นบรรดาศาลพระภูมิเก่าหลากหลายรูปทรงที่ชำรุด แตกหัก เสียหาย ถูกผู้คนนำมาวางทิ้งไว้ตามข้างถนนหรือตามสถานที่รกร้างเป็นจำนวนมาก ถือเป็นภาพที่ไม่น่าดู และมีส่วนทำลายทัศนียภาพของถนนหรือสถานที่รกร้างนั้นๆ เป็นอย่างมาก จนบางคนอาจเรียกว่าเป็นทัศนอุจาดเลยทีเดียว
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ที่บริเวณหน้าวนอุทยานน้ำตกกะเปาะ หมู่ที่ 2 ตำบลหงษ์เจริญ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร นายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอท่าแซะ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 44 (ม.ทบ. 44) เจ้าหน้าที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หน่วยงานสังกัดกรมป่าไม้ เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน นักเรียน นักศึกษาในอำเภอท่าแซะ และอำเภอปะทิว ได้ร่วมกันเก็บศาลพระภูมิเก่าที่ถูกนำมาทิ้งตามข้างถนนหรือตามสถานที่รกร้างต่างๆ บรรทุกใส่รถกระบะ 4 ล้อ และรถบรรทุก 6 ล้อ นับ 100 คัน เดินทางในลักษณะคาราวาน ไปยังท่าเทียบเรือ “บ้านท่าเสม็ด” หมู่ที่ 5 ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร โดยมี นายธนนท์ พรรพีภาส นายอำเภอปะทิว นางวิริยา แก่นแก้ว ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานชุมพร นายพิศิษฐ์ ลี้พิริยะไพฑูรย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลสะพลี และกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านกว่า 200 คน ร่วมให้การต้อนรับเพื่อร่วมกันจัดกิจกรรม “ชุมพรเก๋ไก๋ สร้างบ้านทรงไทยให้ปลา”
นายนักรบ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันเก็บศาลพระภูมิชำรุด ศาลพระภูมิเก่า ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างข้างถนน หรือตามสถานที่รกร้างต่างๆ เพื่อนำไปทิ้งลงสู่ท้องทะเล บริเวณกองหินลิปู ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว ห่างชายฝั่งประมาณ 3,000 เมตร เพื่อเป็นการสร้างระบบนิเวศให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ ด้วยการเป็นปะการังเทียมหรือบ้านปลา ให้เป็นที่อยู่อาศัยรวมทั้งเป็นที่หลบภัยของบรรดาฝูงปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ซึ่งเมื่อสัตว์น้ำเหล่านี้เจริญเติบโตขึ้นมาจะกลายเป็นอาหารกลับมาให้พวกเรา
กิจกรรมการนำศาลพระภูมิเก่าที่ชำรุด แตกหัก เสียหาย ไม่ใช้แล้ว ที่เคยถูกวางอยู่ข้างถนน หรือตามสถานที่รกร้างต่างๆ ไปปล่อยลงสู่ท้องทะเลเพื่อให้เป็นปะการังเทียม เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นสมัยที่ นายนักรบ เป็นนายอำเภอปะทิวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยนายนักรบได้รับการร้องเรียนว่า มีเรือประมงอวนลากจากต่างถิ่นเข้ามาลักลอบทำการประมงในเขตหวงห้ามในอำเภอปะทิว แต่เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่ที่ยังมีน้อยจึงดูแลไม่ทั่วถึง ขณะเดียวกันก็มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาแจ้งว่ามีชาวบ้านนำศาลพระภูมิที่แตกหัก ชำรุด เสียหาย มาทิ้งตามข้างถนนและสถานที่รกร้างต่างๆ เป็นจำนวนมาก
นายนักรบ จึงนำปัญหาทั้งสองเรื่องมาผนวกเข้าด้วยกัน แล้วเกิดแนวคิดในการรวบรวมศาลพระภูมิที่ถูกนำมาทิ้งตามข้างถนนหรือตามสถานที่รกร้างลงเรือไปปล่อยลงสู่ท้องทะเล เพื่อให้กลายเป็นปะการังเทียม เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลาและสัตว์น้ำ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เรือประมงอวนลากเข้ามาทำประมงได้อีก เพราะเมื่อเรือประมงลากติดเอาศาลพระภูมิขึ้นมาก็จะเกิดความเสียหายกับอวนของเรือประมงลำนั้น
นอกจากนั้น ยังถือเป็นการจัดระเบียบศาลพระภูมิเก่าที่ชำรุด แตกหัก เสียหาย ซึ่งถูกนำมาทิ้งอยู่ตามข้างถนนและตามสถานที่รกร้างต่างๆ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสวยงาม และศาลพระภูมิเก่าเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีรูปทรงเป็นเรือนไทย ททท. สำนักงานชุมพร ที่เข้ามาร่วมให้การสนับสนุนจัดกิจกรรมด้วย จึงกำหนดชื่อกิจกรรมว่า “ชุมพรเก๋ไก๋ สร้างบ้านทรงไทยให้ปลา”
“ตลอดเวลา 2 ปี ที่เริ่มต้นโครงการนี้ มีการนำศาลพระภูมิเก่า ทั้งในอำเภอท่าแซะ และอำเภอปะทิว ลงไปวางเป็นปะการังเทียมใต้ท้องทะเลแล้ว ประมาณ 30 ตัน หรือไม่ต่ำกว่า 3,000 ชิ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกๆ หน่วยงานได้ให้ความเห็นชอบแล้ว” นายนักรบ กล่าว
นางวิริยา กล่าวว่า ททท. สำนักงานชุมพร ขอปวารณาเป็นพันธมิตรในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับชุมชนชาวประมงในการสร้างบ้านทรงไทยให้ฝูงปลา โดยได้จัดงบประมาณในการทำแท่งยึดศาลพระภูมิที่ปล่อยลงไปวางใต้ท้องทะเล เพราะเล็งเห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและมีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล
โครงการนำศาลพระภูมิเก่าที่แตกหัก ชำรุด เสียหาย และเคยถูกมองว่าเป็นของไร้ค่า หาประโยชน์ไม่ได้ จนถูกนำไปวางทิ้งข้างถนนและตามสถานที่รกร้างต่างๆ ทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าดู กลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการทำเป็นปะการังเทียมให้ฝูงปลาและสัตว์น้ำ ถือเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่จังหวัดชุมพร แต่หากท้องถิ่นใดสนใจจะนำไปดำเนินการบ้าง เชื่อแน่ว่าผู้ริเริ่มโครงการคือ นายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอท่าแซะ และชาวประมงพื้นบ้านในตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร คงไม่สงวนสิทธิ์อย่างแน่นอน