ปลาเบญจพรรณ อาชีพอิสระ ลงทุนน้อย ผลตอบแทนสูง

จ่าสิบเอกไพทูล พันธาตุ อดีตข้าราชการทหารเป็นบุคคลหนึ่งที่หันมาจับอาชีพเพาะเลี้ยงปลาเบญจพรรณควบคู่กับทำการเกษตรแบบผสมผสานในช่วงบั้นปลายของชีวิต อยู่ที่ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว

จ่าสิบเอกไพทูล เล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่รับราชการอยู่มีโอกาสทำงานพัฒนาส่งเสริมด้านการเกษตรกับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ทำให้ได้สัมผัสและได้เรียนรู้การทำการเกษตรทุกรูปแบบ จนมีความชำนาญ พอเกษียณราชการจึงออกมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ภายใต้จิตสำนึกรักในอาชีพเกษตรกรรมที่ติดตัวมา

จ่าสิบเอกไพทูล พันธาตุ

“อายุก็มาก จะไปปลูกมัน ทำไร่ ทำนา เหมือนกับคนอื่นๆ ก็ทำไม่ไหว  จึงปรับแนวคิดมาทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผัก ไม้ผล เลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ต้องใช้แรงเยอะ ใช้ความรู้ที่ติดตัวจากการทำงานในหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ เป็นระยะเวลากว่า 8 ปี มาปรับใช้ในพื้นที่ก็เพียงพอ”

จ่าสิบเอกไพทูล เริ่มทำการเกษตรผสมผสาน ช่วงประมาณ ปี 45-46 โดยเริ่มจากพื้นที่ทั้งหมด 28 ไร่ จัดสรรแบ่งทำนาปลูกข้าว 7 ไร่ ขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้และเลี้ยงปลาเบญจพรรณ 6 ไร่ และส่วนที่เหลือปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น เก็บผลผลิตจำหน่ายรายวัน เช่น หวานกินยอด

“ทำนาปลูกข้าวปีละ 1 ครั้ง คือ นาปี เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีน้ำน้อยซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำนา 2 รอบ โดยพันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อเก็บไว้บริโภคในครอบครัวเป็นหลัก ส่วนช่วงฤดูแล้งจะปลูกพืชผักที่ใช้น้ำน้อย เช่น แตงไทย บวบ ถั่วฝักยาว ฯลฯ เป็นพืชเสริมที่สามารถเก็บผลผลิตขายสลับหมุนเวียนกันทุกๆ ปี”

นอกจากพืชผักและนาข้าว จ่าสิบเอกไพทูล ยังเลี้ยงปลาเบญพรรณ ปลานิล ปลาไน และปลาดุกในกระชัง ในบ่อดินขนาดใหญ่ ที่ขุดกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง จำนวน 3 บ่อ กินพื้นที่ราว 6 ไร่ ควบคู่กับเพาะเลี้ยงปลาในบ่อดินและในกระชังภายในบ่อตามโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของสำนักงานประมงจังหวัด

“ปลูกพืชผัก ผลไม้ และทำนา สักระยะหนึ่ง ทางประมงจังหวัดก็มีโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้กับเกษตรกรที่มีพื้นที่และความพร้อม โดยการคัดเลือกและส่งไปอบรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงเข้าสมัครและได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรตัวอย่างการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่”

Advertisement

ปลาชนิดแรกที่ จ่าสิบเอกไพทูล เริ่มเลี้ยงเป็นปลานิล เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย สามารถเลี้ยงในบ่อดิน ได้ เลี้ยงมาได้สักระยะจึงเริ่มพัฒนานำปลาอื่นๆ เข้ามาเลี้ยงรวมกันภายในบ่อหลากหลายชนิด กลายเป็นการเลี้ยงปลาเบญจพรรณ โดยความกว้างและความยาวของบ่อเพาะเลี้ยงขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ ความลึกของบ่อประมาณ 1.5 เมตร ภายในบ่อเพาะเลี้ยงสร้างที่อยู่อาศัยให้เลียนแบบธรรมชาติมากที่สุด ปลูกผักบุ้ง ผักกระเฉด ไว้รอบๆ บ่อเลี้ยงเพื่อใช้ป้องกันแดด และให้ปลาใช้เป็นที่หลบศัตรูที่จะมาทำร้าย

กระชังอนุบาลปลาเล็ก

“ผมแบ่งแผนการเลี้ยงตามฤดูกาล ในช่วงฤดูร้อนจะปล่อยปลาปริมาณน้อยกว่าช่วงฤดูฝนและหนาว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูที่เหมาะกับการเลี้ยงปลา มีปริมาณน้ำที่เพียงพอมากกว่า โดยพันธุ์ปลาจะรับชื้อมาจากฟาร์มที่มีคุณภาพ ในราคาตัวละ 50 สตางค์ จากนั้นนำมาอนุบาลในกระชังจนแข็งแรง ก่อนนำไปปล่อยในบ่อเพาะเลี้ยง ซึ่งอัตราการปล่อย ประมาณ 50,000 ตัว/ไร่

Advertisement

สำหรับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันสำหรับการเลี้ยงปลา คือ ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปวัน 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) ช่วงไหน ผัก ผลไม้ ที่ปลูกในสวนเหลือจะเก็บมาโยนเป็นอาหารให้ปลา นอกจาก ผัก ผลไม้ ที่ให้เสริมจากอาหารเม็ด ภายในบ่อเพาะเลี้ยงจะติดไฟล่อแมลงไว้ตามขอบบ่อ ประมาณ 3 จุด/บ่อ เพื่อให้แมลงที่เป็นศัตรูพืชมาเล่นและตกลงไปเป็นอาหารให้ปลา สามารถช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงได้อีกทางหนึ่ง

และนอกจากอาหารเม็ดสำเร็จรูป ผัก ผลไม้ แล้ว ยังมีอาหารจากธรรมชาติที่สามารถสร้างขึ้นเองได้ โดยการทำปุ๋ยหมักไว้ตามมุมบ่อเพาะเลี้ยง โดยมีวิธีการทำและขั้นตอนง่ายๆ เพียงนำไม้มาปักตามมุมบ่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม จากนั้นนำฟางใส่ลงไปและอัดให้แน่น ปล่อยทิ้งไว้ระยะหนึ่งฟางที่อัดลงไปจะเริ่มย่อยเป็นปุ๋ย กลายเป็นตะไคร่น้ำ สาหร่าย ทำให้เกิดลูกไร และกลายเป็นอาหารของปลาเล็กและปลาใหญ่”

ภายในบ่อปลูกพืชผัก ป้องกันแสงแดด

แต่ละปี ช่วงฤดูแล้ง จ่าสิบเอกไพทูล จะทำความสะอาดบ่อเพาะเลี้ยงเพื่อป้องกันโรค โดยการลอกทำความสะอาด ตากบ่อไว้ประมาณ 7 วัน โรยด้วยปูนขาวปรับสภาพดินก่อนจะเลี้ยงในรอบใหม่ทุกครั้ง

ส่วนตลาดที่มารองรับผลผลิตของ จ่าสิบเอกไพทูล หลักๆ จะเป็นพ่อค้า แม่ค้า ตามตลาดนัด ชาวบ้าน ซึ่งราคาจำหน่ายอยู่ประมาณ 50 บาท/กิโลกรัม แต่หากช่วงไหนที่ปลาราคาถูก จะปรับวิธีการขายใหม่ โดยการเปิดให้เป็นสถานที่ตกปลา บริการให้กับเหล่านักล่าทั้งหลายได้ใช้เวลาว่างในช่วงวันหยุดมาประลองฝีมือ ในราคา กิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งจากที่ทำมาการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ และมีแนวโน้มว่าจะมีความต้องการลักษณะนี้เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

ผลผลิตที่ได้

จากความสนใจทางด้านการเกษตร ใช้เวลาศึกษา ลองผิดลองถูก การทำนา การปลูกผัก เลี้ยงปลา จนมีความชำนาญและประสบความสำเร็จ จ่าสิบเอกไพทูล จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ทางด้านการเกษตรให้กับคนที่สนใจ โดยมีเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนในจังหวัดสระแก้วเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง และติดตามผลการดำเนินงานในแต่ละเดือนอย่างต่อเนื่อง

“การเกษตรเชิงพาณิชย์ ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เราต้องลงทุนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเรามาทำแบบพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ในพื้นที่ของเราแล้ว เราก็จะไม่มีรายจ่าย มีแต่รายได้เข้ามาทุกๆ วัน จากการขายพืชผัก ผลไม้ ไม่ต้องกังวลว่าวันนี้จะเอาอะไรกิน ปลามี ผักมี ข้าวมี แค่นี้ก็มีความสุข”